曼谷中国风画展
|
กรุงเทพฯ –หลังจากจัดการแสดงผลงานครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556 สถาบันจิตรกรรมแห่งชาติจีน, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปร่วมมือกันจัดนิทรรศการภาพวาด"สไตล์จีน"ขึ้นอีกครั้ง จุดประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรมและฉลองช่วงโอกาสปีใหม่ของจีน งานนี้ทำพิธีเปิดฯและการบรรยายเกี่ยวกับศิลปะจีนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557เวลา 15.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปถนนเจ้าฟ้า และมีระยะเวลาจัดแสดงผลงาน ตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2557
นายเฉินเจียง ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยกล่าวว่า ผลงานที่นำมาแสดงครั้งนี้นำมาจากสถาบันจิตรกรรมแห่งชาติจีนซึ่งถือเป็นสถาบันสูงสุดด้านการค้นคว้า,วิจัยศึกษาและปฏิบัติด้านงานวาดเขียน เพราะฉะนั้นผลงานถือได้ว่าเป็นสุดยอดผลงาน จากอดีตจนถึงปัจจุบันภาพวาดของจีนมีการเปลี่ยนแปลง ภาพวาดร่วมสมัยจะมีความหลากหลายมากขึ้นแต่จะมากน้อยอย่างไรบ้างอยากเชิญทุกท่านมาชมด้วยตนเอง
ศาสตราจารย์จาง เจียงโจว รองผู้อำนวยการใหญ่สถาบันจิตรกรรมแห่งชาติจีน ผู้เป็นตัวแทนมาร่วมในพิธีเปิดฯพร้อมทั้งเป็นผู้บรรยายเรื่องการวิเคราะห์และการแบ่งกลุ่มลักษณะภาพจีนร่วมสมัยในงานนี้ เปิดเผยว่า ในการจัดงานนิทรรศการรอบแรกที่จัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนกรุงเทพฯประสบผลสำเร็จดี ครั้งนี้ได้นำผลงานมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปซึ่งถือเป็นสถาบันระดับสูงด้านศิลปะของไทยและได้เพิ่มระยะเวลาแสดงผลงานเป็นหนึ่งเดือน หวังว่าผลงานเหล่านี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินทั้งสองประเทศที่กำลังพัฒนาฝีมือและแนวคิดต่างๆ และช่วยส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจในวัฒนธรรมจีนมากขึ้น
ด้านนายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงศิลปะของไทยและจีนว่าถึงแม้จะต่างกันที่รูปแบบแต่ผลงานจากสองประเทศนี้คล้ายคลึงกันในด้านแนวคิดและมุมมองแบบตะวันออก การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้นำผลงานภาพวาดจีนร่วมสมัยมาแสดง และยังเป็นการสนับสนุนด้านการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมอย่างหนึ่งด้วย
นอกจากพิธีเปิดงานนิทรรศการภาพวาด"สไตล์จีน"แล้ว ยังมีการบรรยายแบบสั้นโดยศาสตราจารย์จางเจียงโจวรองผู้อำนวยการใหญ่สถาบันจิตรกรรมแห่งชาติจีนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน, ผู้สนใจรวมถึงนักศึกษาได้มีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพวาดจีนร่วมสมัย ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาจีนได้มีการพัฒนา, สร้างสรรค์และวิจัยเกี่ยวกับภาพวาดและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จุดเด่นของภาพวาดหมึกจีนคือมีความเป็นนามธรรมสูง, ไม่จำเป็นต้องเหมือนแบบ 100% และใส่ใจความที่ผู้วาดอยากสื่อความหมายลงไป จิตรกรจีนนิยมภาพวาดหมึกจีนแนวคลาสสิคใหม่มากที่สุดด้วยเหตุผลหนึ่งคือมีพื้นฐานที่ดี ภาพแนวคลาสสิคใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากจะเป็นพวกแนวภูเขา, สายน้ำ,ดอกไม้และนก เคยมีคำกล่าวว่าสูงสุดของงานภาพวาดคือดูแล้วเหมือน ดูอีกทีไม่เหมือน และได้มีการนำตัวอย่างของภาพวาดจีนร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายภาพมาใช้อธิบายประกอบคำบรรยาย ซึ่งได้รับการสนใจเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์อรุณเอก林敏儿