มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย
ใครก็ตามที่มากรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน คงจะงง ว่าที่นี่ ทำไมมีพิพิธภัณฑ์ เยอะแยะมากมาย ทั้ง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่อยู่ต้องใช้เวลาในการเดินชมกันเป็นวัน เพราะพื้นที่กว้างใหญ่มาก พิพิธภัณฑ์เฉพาะของพระราชวังต้องห้าม พิพิธภัณฑ์ทางการทหาร และอีกหลายๆแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ หรือแม้แต่ประชากรในกรุงปักกิ่ง รวมถึงประชาชนที่มาจากต่างจังหวัดให้ความสนใจเข้าชมอย่างแน่นขนัด โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ผู้เขียนถามเพื่อนที่ทำงาน ที่ ซี อาร์ ไอ เขาบอกว่า การที่ได้เรียนรู้เรื่องในอดีตในหลายๆแง่มุม เป็นประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เพราะคนจีนส่วนใหญ่ ยังคงถวิลหา ความยิ่งใหญ่ เหมือนที่ผ่านมาในอดีตจึงไม่แปลกใจที่ ปัจจุบัน จีนใกล้ที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่คราวนี้ เปลี่ยนไปจากความยิ่งใหญ่ในเรื่องทางทหาร แต่เป็นความยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจ
CAPITAL MUSUEM เป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง ที่แม้ขนาดจะเล็กกว่าอีกหลายที่ แต่รูปแบบการจัดแสดงค่อนข้างทันสมัย มีการใช้ระบบ แสง สี เสียง มาประกอบ การจัดแสดง ในหลายๆพื้นที่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้รับการขยายให้มีความอลังการมากขึ้นในสมัย ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิน หรือ ประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ ผ่านมา โดยมีเหตุผลว่า ในเมืองสำคัญๆของจีน ทั่วประเทศ มีพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองอยู่แล้ว แต่สำหรับที่ กรุงปักกิ่ง ยังไม่ได้มีการปรับปรุง อาจจะเป็นเพราะมี พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถลงรายละเอียด ของกรุงปักกิ่ง ทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพัฒนาการในด้านต่างๆได้อย่างครบถ้วน
ในส่วนแรก เป็นการจัดแสดง ศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุ ของราชวงศ์ต่างๆ ที่เลือก มหานครปักกิ่ง เป็นเมืองหลวง ไล่มาตั้งแต่ เมื่อประมาณ ๑๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีราชวงศ์ใดบ้าง โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ของแต่ละราชวงศ์ มีลักษณะสำคัญอย่างไร และสะท้อนให้เห็นถึง สังคมยุคสมัยนั้น อย่างไรบ้าง โดยเป็นการจัดแสดง ตามปี คศ ของแต่ละราชวงศ์ และที่สำคัญ มาเห็นแล้วเป็นปลื้มมากๆ ก็คือ การจัดแสดง เรื่องราวของเส้นทางสายไหม ทั้งทางบก และทางทะเล ผ่าน ศิลปะวัตถุ ที่มีการนำเข้ามาสู่จีน โดยมี กรุงปักกิ่ง เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะเส้นทาง สายไหม ทางทะเล ของ เจิ้ง เหอ เสนาบดี ผู้มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ ที่มีประวัติว่า ไปทำมาค้าขายไกลถึงทวีป ยุโรป และในแผนที่ไม่ละเลย อาณาจักรสยามของเราด้วย และการไปทำการค้ากับภูมิภาคต่างๆ นี่เอง ที่เป็นสิ่งคนจีนยึดเป็นหลักชัยของชีวิต มาตั้งแต่บรรพบุรุษเลยว่า การทำมาค้าขาย จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องแปลกใจนะครับว่า ทำไม คนจีนถึงเก่งในเรื่องการค้า ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ต้องบอกล่ะครับว่า มันอยู่ในสายเลือด น้อยไปไหมครับ เอาเป็นว่า ฝังอยู่ใน ดี เอ็น เอ มาแต่อดีตก็คงไม่ผิด
และนอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการค้าแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับพันปี ในระหว่างที่กรุง ปักกิ่ง เป็นนครหลวง ยังได้เผยแพร่ เรื่องราวทางด้านศิลปะด้านต่างๆไปสู่ ประเทศใกล้เคียงและประเทศที่ทำการค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอด เทคนิคและวิธีการทำ เครื่องปั้นดินเผา อย่างที่เราทราบๆกัน และเทคนิคเหล่านี้ในบางประเทศ ยังคงอยู่ และได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสม อย่างเช่นถ้วยใส่ข้าวของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน ที่ยังคงเอกลักษณ์ลวดลาย รูปทรง ที่รับการถ่ายทอดมาจากจีน เมื่อกว่า ๑๐๐๐ ปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญโบราณวัตถุบางชิ้น ยังบอกถึงประวัติและที่มาด้วยนะครับว่า ถ้าไม่เคยมา ไม่เคยเห็นของจริง คงไม่สามารถที่จะประดิษฐ์หรือปั้นออกมาได้เหมือนมาก อย่างเช่น แรด ที่มีลักษณะและสัดส่วนใกล้ความจริงมาก ซึ่งแรดเคยเป็นสัตว์ป่าที่เคยพบในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในไทย กัมพูชา และเวียตนาม แต่ปัจจุบัน แรด ไม่มีอยู่ในป่าแถบนี้แล้วแต่......( อันนี้เอาฮา อย่างเดียวนะครับ) ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้างก็ใน อินโดนีเซีย และเป็นผลงานที่มีมาตั้งแต่ก่อน คริสต์ศตวรรษ รวมไปถึงรูปช้างเอเชีย ที่รังสรรค์ขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน
เห็นแบบนี้ คิดถึงเมืองไทยของเราจัง อยากจะให้ทุกจังหวัดมีพิพิธ๓ณฑ์ ของเมือง เพื่อให้ประชาชน และเยาวชนได้เรียนรู้กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องของ ต่างคนต่างทำ ใครมีกำลังหรืออยากเผยแพร่ก็ดำเนินการ กันไป ยังไม่มีการรวบรวมให้เป็นเรื่องเป็นราว หรือ ยังไม่มีการจัดแสดงในลักษณะที่ เป็นสิ่งบ่งบอกความเป็นมา อย่างชัดเจน ของแต่ละยุค แต่ละสมัย น่าคิด และน่าเสียดายนะครับ เพราะพิพิธภัณฑ์ ที่มีอยู่ตามหัวเมืองต่างๆของไทย มวลหมู่ มิตรสหาย เพื่อนพ้อง น้องพี่ คิดว่า มันน่าสนใจ พอที่จะเข้าไปเดิน ไปศึกษากันไหมล่ะครับ ( อันนี้ ไม่ฮา นะครับ เอาจริง)
สมภพ จันทร์ฟัก