เหตุแห่งการเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลถึงปัจจุบัน เทียนจินเมืองใหญ่ ทางตอนเหนือ เมืองหน้าด่านของ ปักกิ่งมากว่า ๑๐๐๐ ปี
  2014-06-02 15:05:39  cri

มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย

เอ่ยชื่อว่า เทียนจิน ตามที่คนจีนเขาเรียกกัน เราอาจจะงงว่า อยู่ที่ไหน แต่ถ้าบอกว่า เมือง เทียนสิน เมืองท่าสำคัญทางตอนเหนือ และเป็นประตูหน้าด่านสำคัญทางทะเล ของ กรุง ปักกิ่งนั่นไง หลายท่านคงร้อง อ๋อ บางคนมีความจำกับเมืองนี้ ตั้งแต่สมัยโบราณที่เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ในการติดต่อกับประเทศเกาหลี และเคยมีสงครามทางเรือกับญี่ปุ่นก็หลายครั้ง บางคนจำได้ถึงช่วงยุคสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในยุคที่มีการล่าอาณานิคม เทียนสินแห่งนี้ เป็นที่พำนักของนักล่าเหล่านั้นถึง ๘ ชาติ หรือบางคนอาจมองเมืองนี้ เป็นเมืองที่เคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพ้น และไร้ที่อยู่อาศัยนับแสน และหลายคน ที่เป็นคนในยุคดิจิตอล ก็คงทราบว่า รถไฟ ความเร็วสูง สายแรกของจีน ก็ที่นี่ ปักกิ่ง-เทียนสิน เมื่อประมาณ ๖ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับ การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ เมื่อปี ๒๐๐๘

วันนี้ ขอเป็นเรื่องเล่าสบายๆนะครับ เมื่อประมาณ ๑๓ ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมา ปักกิ่งครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก น้องที่เป็นล่ามประจำทีมไทย ก็ต้องใช้สามภาษาครับ จากจีน เป็นอังกฤษ และจากอังกฤษ เป็นไทย เป็นคน เทียนจิน แต่มาเรียนที่ ปักกิ่ง ผมถามว่า บ้านเดิมที่ เมือง เทียนจิน ไกลไหม เขาบอกว่า ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร ก็เลยหาวันว่างว่าจะไปกัน เพราะคิดว่าแค่นี้เอง แต่คำตอบที่ได้รับ ๔ ชั่วโมงครับผม และสะดวกที่สุดก็ต้องรถไฟ สรุปไปกลับ ๘ ชั่วโมง และทำให้นึกถึง รถไฟในประเทศไทย ไม่มีผิดเพี้ยน หวานเย็นเรียกพี่อย่างไร อย่างนั้น และทุกอย่างเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ขนส่งทางทะเล มาลงที่เทียนสิน แล้ว รถไปเกือบทั้งหมดนะครับ ที่ส่งเข้ามายังกรุงปักกิ่ง

แต่ในปี คศ ๒๐๐๘ ที่ ปักกิ่ง เป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันโอลิมปิก และเป็นปีที่ ปฏิวัติวงการรถไฟของประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะมีรถไฟความเร็วสูงสายแรก จาก ปักกิ่งไปเทียนจิน ซึ่งเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก แต่ความเร็วสูงในสมัยนั้น เต็มที่ไม่ถึง ๑๕๐ กิโลเมตร ต่อชั่วโมงนะครับ ทำให้ย่นระยะเวลา จาก ๔ ชั่วโมง เหลือ ๑ ชั่วโมงเศษๆเท่านั้น ซึ่งใน พศ นี้ ประทานโทษครับ รถไฟความเร็วสูงของจีน วิ่งเต็มที่ ๓๕๐กิโลเมตร ต่อชั่วโมง แต่วิ่งจริงๆ ไม่เกิน ๓๐๐ กิโลเมตร ทำให้เวลาเดินทางจาก ปักกิ่ง ไป เทียนจิน เหลือแค่ ไม่เกิน ๔๐ นาที เท่านั้น โอ พระเจ้า มันยอดมากเลย

อย่านึกนะครับว่า รถไฟความเร็วสูงของจีน จะมีบริการและสภาพแบบจีนๆ อย่างที่เราคิด คิดผิดคิดใหม่นะครับ บริการที่มีอยู่ เทียบได้มาตรฐานยุโรป ซึ่งผู้เขียน การันตี ด้วยตัวเอง เนื่องจากเมื่อ ๘ ปีที่ผ่านมา ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่ประเทศ เยอรมันนี ใช้ชีวิต อยู่บนรถไฟ ที่เดินทางไปสนามแข่งขันในเมืองต่างๆ ทั่วเยอรมัน ด้วยรถไปฟความเร็วสูง DB มานานนับเดือน จะขาดอย่างนึงก็คือ ยังไม่มี ไวไฟ ที่เร็วมากระดับ ไฮ สปีด บรอดแบรนด์ เท่านั้น และขณะนี้ รถไฟสายที่ยาวที่สุดก็คือ จาก ปักกิ่ง ไป กวางโจว เมืองเอกของมณฑล กวางตุ้ง ใช้เวลา ประมาณไม่เกิน ๑๐ ชั่วโมง ในระยะทางมากกว่า ๒๐๐๐ กิโลเมตร อุ๊ แม่เจ้า

ถึงตอนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธละกระมังครับ ว่ารถไฟความเร็วสูง มีความสำคัญ มีความจำเป็นในการขนส่งมวลชนระบบราง มากน้อยแค่ไหน แต่คงไม่ใช้ เอาไปขนผักนะครับ เพียงแต่เงื่อนไขเท่านั้น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มี มูลค่าสูง เป็นหมื่นล้านบาท ทำอย่างไร เท่านั้นแหละครับ ที่จะทำให้ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้ายึดคติแบบนี้ ไม่กี่ปี ก็ได้เห็นแน่ๆครับ เพราะ๖ ปีที่แล้ว เริ่มสายแรก แต่ตอนนี้ มีไปเกือบทั้งประเทศแล้วกระมังครับ

แม้ว่า ที่จีนจะมีรถไฟความเร็วสูง แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ รถไฟพื้นฐานที่มีมา แต่เดิมนะครับ แถมมีการปรับปรุงเป็นระบบ รางคู่ และ เพิ่มการขนส่งสินค้า จากเทียนจิน มากรุงปักกิ่ง เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวน โบกี้ โดยสารก็เหมาะ สำหรับ คนท้องถิ่น ที่ต้องลงตาม ตำบลต่างๆ ทำให้ในสถานีรถไฟที่เทียนจิน เราจะเห็นผู้มาใช้บริการ หลายรูปแบบมาก คนที่มาทำงานและจะเดินทางกลับบ้าน พร้อมสัมภาระ ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย นั่งคอย นอนคอย เหมือนหัวลำโพง บ้านเราก็เยอะ พวกที่มาเพื่อเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ก็ไม่น้อย แต่เขาแบ่งพื้นที่กันชัดเจนนะครับ ไม่สับสน ปนเปกัน ชานชาลาแรกๆ ก็เป็นรถไฟธรรมดา และชานชาลาท้ายๆ ก็เป็น รถไฟความเร็วสูง

และที่สุดยอดไปกว่านั้นก็คือ การที่ จีน ลงทุน สร้างสถานีรถไฟใหม่ ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะใน กรุงปักกิ่ง เรียกว่า สถานีรถไฟ ความยิ่งใหญ่ อลังการ และสถานที่ การให้บริการแก่ผู้โดยสาร ไม่แพ้สนามบินแล้วกัน ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ แต่ต้องมาลองกันให้เห็นไปข้างหนึ่ง

ถึงเวลาที่ ประเทศไทยของเราจะมี รถไฟความเร็วสูง ก็ยังไม่รู้ครับกี่ปี จะเป็นแบบไหนก้ได้ แบบ เยอรมัน ญี่ปุ่น หรือว่า จีน ได้ทั้งนั้นแหละครับ เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาระบบคมนาคมในภาพรวม หรือจะเลือกเอาเทคนิคผสม ตัวรถและระบบราง เป็นของประเทศหนึ่ง ระบบการควบคุมตัวอาคารอีกประเทสหนึ่ง ก็เลือกเอา เถอะครับ อย่าให้มันเป็น หัวมังกุด ท้ายมังกร แล้วประชาชน ผู้ใช้บริการ ไม่ได้มีทางเลือก ที่ดีกว่า เหมือนเช่นที่เป็นมา แค่นี้ก็พอใจแล้วครับ

สมภพ จันทร์ฟัก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040