มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย
อย่างที่ผู้เขียนเคยเล่าไปแล้ว สองสามตอน เรื่องของเมือง เทียนสิน เมืองท่าหน้าด่าน ของกรุง ปักกิ่ง ซึ่งเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา เขตเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ต่างตกอยู่ใต้อิทธิพลของชาติตะวันตก ซึ่งอยู่ในยุคแห่งการล่าอาณานิคม และเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็น สาธารณรัฐ และ ปูยี เป็นจักรพรรดิ องค์สุดท้าย ของราชวงศ์ชิงและของประเทศ จีน โดย ปู ยี ได้ถูกบังคับให้ สละราชสมบัติในปี คศ ๑๙๒๔ และจากนั้นก็ต้องระหกระเหิน พร้อมด้วย ฮองเฮาและนางสนม พร้อมข้าราชบริพาร ที่ยังจงรักภักดี เพียงไม่กี่คน และในช่วงเวลาหนึ่งก็ได้มาพำนัก ที่เมือง เทียนสิน ในเขตที่เรียกว่า สวนจิงหยวน ซึ่งสร้างในปี คศ ๑๙๓๑ และ ปูยี ได้มาใช้บ้านหลังนี้ เป็นพระตำหนักที่ประทับในปี ๑๙๒๗
ด้วยความช่วยเหลือจาก กองกำลังของญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากในจีนสมัยนั้น ในบ้านหลังเล็กๆหลังนี้ มีเรื่องราวมากมาย แต่น่าเสียดายที่ เขากำหนดว่าห้ามถ่ายรูป ทั้งห้องทรงงาน ห้องบรรทม ห้องของฮองเฮา นางสนม และห้องอื่นๆ อาทิ ห้องรับประทานอาหาร ห้องประชุม ซึ่งในบรรดาห้องต่างๆเหล่านี้ ห้องประชุมดูจะมีประวัติและความหมายมาก เพราะเป็นห้องที่ปู ยี ได้ใช้เวลาในการ ทำความตกลงกับ นายทหาร ชาวญี่ปุ่น เพื่อขอความช่วยเหลือในการกอบกู้ราชบัลลังก์ จากฝ่ายคณะปฏิวัติ โดยบรรลุข้อตกลงในบางเรื่อง แต่มีบางเรื่องที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิท มิตรสหายไปหาอ่านกันเองนะครับ มีผู้เขียนได้แปลเป็นภาษาไทย ในหลายเวอร์ชั่น
และความที่เป็นข้อตกลงลับ เราจึงไม่รู้ว่า ญี่ปุ่นเอง ต้องการอะไรบ้าง ในการให้ความช่วยเหลือ แต่ที่แน่ๆและมีการบันทึกไว้คือ ญี่ปุ่นได้เสนอให้ ปู ยี มีสนมเป็นชาวญี่ปุ่น แต่ไม่ทรงโปรด กองกำลังญี่ปุ่น จึงจัดสาวจีน ที่ไปเติบโต อยู่ใน ญึ่ปุ่น มาเป็นสนม และ ปู ยี ก็ไม่อาจขัดความประสงค์นั้นได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ข้อตกลงต่างๆก็ถูกยกเลิกไป เพราะ ปู ยี รู้ว่า ญี่ปุ่น เล่นเกมสองหน้า โดยหาก ปู ยี ไม่ยินยอมแล้ว ญี่ปุ่นก็จะตั้ง ปู เจี๋ย น้องชาย ต่างมารดา ที่ไปรับการศึกษา อยู่ในญี่ปุ่น และ แต่งงานกับสาวญี่ปุ่น กลับมา ครองราชบัลลังก์ และเรื่องราวของ ภริยา ปู เจี๋ย ที่ เป็นชาว ญี่ปุ่น มีส่วนเกี่ยวข้อง กับประเทศไทย อย่างเหลือเชื่อ เมื่อ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว เป็นบ้านเดิมของ ภริยา ปู เจี๋ย ครับ โดยไทย ได้ซื้อไว้ เป็นเงิน ๑ ล้านเยน ในสมัยที่ นายดิเรก ชัยนาม เป็นเอกอัครราชทูต เมื่อปี คศ ๑๙๔๓ และมีหลักฐานว่า ปู เจี๋ย พร้อม ภรรยา เดินทางมาเยี่ยมบ้านเกิดนี้หลายครั้ง น่าทึ่งไหมล่ะครับ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์
ปู ยี อาศัย อยู่ในบ้านหลังนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในปี คศ ๑๙๓๗ จีน กับญี่ปุ่น ทำสงครามกันครั้งใหญ่ ซึ่งต่อมา ลุกลามเป็นสงครามโลก ครั้งที่ ๒ นั่นแหละครับ ทำให้ ปู ยี ต้อง อพยพอีกครั้ง และท้ายที่สุด ก็ถูกกองกำลัง รัสเซีย จับตัว ขณะกำลังพยายามหาทางหนีไป ญี่ปุ่น และถูกควบคุมตัวอยู่ในรัสเซีย จนถึงปี คศ ๑๙๕๐ ก่อนที่จะถูกส่งตัว กลับมายัง กรุงปักกิ่ง แต่ต้องถูก กักบริเวณเป็นเวลาถึง ๙ ปี เพื่อเข้ารับการอบรม เป็นพลเมืองใหม่ ของลัทธิคอมมูนิสต์
พระตำหนักแห่งนี้ ถูกทิ้งร้างมานานนับสิบปี และเพิ่งได้รับการบูรณะ ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ ในยุคต้นที่ พรรค คอมมูนิสต์ปกครอง บ้านถูกยึดไปเป็นของทางราชการ และจัดสรรให้ ประชาชนหลายครอบครัวได้เข้ามาพักอาศัย จึงชำรุดทรุดโทรมค่อนข้างมาก เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา โยเป็นการ บูรณะ ให้เหมือนเดิมเกือบทุกประการ โดยอาศัยหลักฐานจาก ภาพถ่ายในสมัยนั้น
อย่างที่เกริ่นนำไปวันนี้ครับ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เป็นถึงองค์จักรพรรดิ แต่ถูกถอดถอน ซ้ำในระหว่างที่ต้องการกู้และฟื้นฟู ราชบัลลังก์ ก็ถูกหลอก แถมตอนบั้นปลายของชีวิตก็ยังถูก กักบริเวณ สรุปชัดๆก็คือ สัจจธรรมครับ เป็นเรื่องของ อนิจจัง ความไม่เที่ยง
สมภพ จันทร์ฟัก