ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ:ทราบว่าท่านได้เดินทางมาจีนบ่อย ได้ไปหลายๆ มณฑลของจีน ในมุมมองของท่าน การพัฒนาของจีนเป็นอย่างไร มีด้านใดของการพัฒนาที่โดดเด่น และประทับใจมากเป็นพิเศษ
รศ.ดร.โภคิน พลกุล:ผมเข้าใจว่าจีนยุคใหม่ตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิงมีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้าคือ จีนจะต้องอาศัยเทคโนโลยี อาศัยการพัฒนาแบบโลกตะวันตกในการพัฒนาประเทศ ไม่งั้นจีนไม่สามารถเลี้ยงคนเป็นพันล้านได้ สิ่งนี้จีนประสบความสำเร็จ จีนใช้ระบบการบริหารแบบคอมมิวนิสต์ แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ข้อได้เปรียบคือ จีนสามารถที่จะรวมศูนย์กลาง การตัดสินใจต่างๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีความต่อเนื่องระยะยาว อย่างประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็คือความต่อเนื่องที่จะนำความคิดไปสู่การปฏิบัติผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ดีพอ รัฐบาลมาแป๊บเดียวแล้วก็ไป มีการปฏิวัติรัฐประหารอยู่เป็นระยะๆ ความต่อเนื่องทั้งหลายไม่มี ทุกอย่างก็ต้องหยุดกับที่เป็นส่วนใหญ่ ที่เดินไปได้ก็เดินไปตามธรรมชาติเอง แต่ผมว่าจีน 20-30 ปีที่แล้ว ถ้ามองในเชิงของวัตถุ อันนี้เปลี่ยนแปลงฟ้ากับดินไปเลย เรื่องวัตถุวันนี้จีนมีมากมาย เพียงแต่ว่าที่จีนต้องระวังคือ เวลานี้จีนเป็นผู้ผลิตรายสำคัญที่สุดของโลก ผลิตสินค้าราคาถูกบนพื้นฐานของการสูญเสียทรัพยากร การสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้คนจีนซึ่งเป็นแรงงานราคาถูกถูกเอาเปรียบพอสมควรโดยบริษัททุนนิยมทั้งหลายในโลกตะวันตก ผมเข้าใจว่าผู้นำจีนก็มองว่าจำเป็นต้องยอมเจ็บปวดในช่วงระยะนี้ เพื่อสร้างจีนให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ และจีนก็ใช้การก่อสร้างทั้งหลายเป็นตัวนำการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้จีนมีอัตราการเติบโตที่สูง วันนี้ท่านสี จิ้นผิงก็บอกว่า แม้คนจีนประมาณ 3-4 ร้อยล้านจะดีขึ้นเยอะแล้ว แต่คนอีกร่วมพันล้านที่ยังลำบาก และอีกหลายร้อยล้านยังอยู่ในภาวะยากจนอย่างมาก ดังนั้นผมว่าถ้าจีนสามารถยึดแนวทางนี้ และความฉลาดของจีน จีนต้องมองว่า การผลิตสินค้าของจีนในวันนี้เกินความต้องการของโลกแล้ว จะเอาสินค้าไปที่ไหน เหล็กในจีนก็บริโภคมากที่สุด เข้าใจว่า 7-8 ร้อยล้านตันต่อปี สิ่งเหล่านี้จะไปที่ไหน การเสนอเรื่องเส้นทางสายไหมทั้งทางบก ทางทะเลก็เป็นทางออกทางหนึ่ง ถ้าสินค้า และบริการเหล่านี้ ซึ่งของจีนราคาถูกเมื่อเทียบกับโลก สามารถเดินทางไปถึงแหล่งที่จะซื้อได้โดยสะดวกง่าย ค่าขนส่งถูก ผู้คนก็จะได้เข้าถึงสินค้าและบริการได้ดียิ่งขึ้น ด้านนี้ผมคิดว่าจีนมีความชาญฉลาด จีนใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือแบบอ่อนที่จะนำสิ่งนี้ออกไป ไม่ใช่ใช้กำลังทางทหาร ผมรู้สึกว่าตรงนี้เป็นความชาญฉลาด ยิ่งถ้าจีนทำได้อย่างที่จีนพูดก็คือว่า ไม่ว่าประเทศเล็กประเทศใหญ่ถือว่าเราเท่ากัน เราฟังซึ่งกันและกัน อันไหนทำแล้วได้ประโยชน์ร่วมกันเราทำ ถ้าไม่ได้ร่วมกัน เราพิจารณากันใหม่ ผมว่าถ้าเราเดินบนพื้นฐานนี้ โลกจะมีสันติภาพได้ แต่ปัญหาขณะนี้คือว่า คนเข้าใจอย่างนี้มีแค่ไหน นี่คือปัญหาใหญ่
ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ:ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งเป็นแนวคิดที่ท่านสี จิ้นผิงนำเสนอขึ้นมาเพื่อให้จีนและประเทศต่างๆ พัฒนาไปพร้อมๆ กัน ได้รับผลประโยชน์ และชัยชนะร่วมกัน ท่านมองยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างไร และยุทธศาสตร์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างไรบ้างคะ
รศ.ดร.โภคิน พลกุล:เนื่องจากว่าแนวคิดของจีนมีการเชื่อมต่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะทางบททางทะเลด้วยถนนหนทางทั้งหลายแหละ โดยเส้นทางเรือการค้า หัวใจสำคัญก็คือว่าบนพื้นฐานวิน-วิน บนพื้นฐานความจริงใจ และไม่เอาแปรียบกัน นี่คือหัวใจใหญ่ แต่ปัญหาก็คือว่า พอเราพูดถึงเริ่มต้นก็ใช้คำว่าเส้นทางสายไหม ส่วนทางทะเลจริงๆ ไม่ใช่เส้นทางสายไหม เส้นทางสายไหมทางบกจีนทิศทางตะวันตกยุคโบราณตั้งแต่ยุคโรมัน จีนก็ผลิตไหมได้ โรมันก็ไปขายไหมที่โรมัน เส้นทางถึงอาณาจักรโรมันก็เป็นที่ชื่นชมและเป็นสินค้าที่หายาก ราคาแพงมาก จนโรมันต้องส่งสายลับมาว่า จีนทำไหมอย่างไร เวลานั้นจักรพรรดิก็สั่งให้ปิดเป็นความลับ เลี้ยงตั้งแต่ตัวหม่อน เอาตัวหม่อนมาทำ จับได้ว่าพวกนี้เป็นสายลับ จึงลงโทษไป ถูกประหารชีวิตเลย คำว่าเส้นทางสายไหมเพื่อชาวจีนก็อธิบายให้ผมฟังว่า เดิมทีเดียวไม่ได้เรียกอย่างนี้ แต่เป็นนักวิชาการเยอรมันเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วเห็นว่าเป็นเส้นทางค้าผ้าไหมก็เลยเรียกว่าเป็น silk road ส่วนทางทะเลที่ท่านจื้อเหอ สิ้นค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องดินเผาทั้งหลาย อันนี้มีมากที่สุด ไหมก็อาจมีบ้างก็ไม่ได้เป็น silk road เหมือนทางบกทีเดียว แต่ท่านสี จิ้นผิงต้องการให้พูดง่ายๆ ก้คือพอพูดถึง silk road ก็เข้าใจว่ามาจากจีน ก็เลยใช้คำนี้ ต่อไปต่อมาก็มาเรียกเป็น one belt one road ผมว่าตรงนี้จีนต้องทำความเข้าใจผ่านสื่อต่างๆ ให้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเรียกอะไร ต้องการสร้างความเชื่อมโยงถึงกัน บนพื้นฐานที่ผมได้กล่าวมาแล้ว อันนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพ การพัฒนาร่วมกัน การพัฒนาแบบยั่งยืน ไม่เอาเปรียบกัน วิน-วินทั้งคู่ เวลาเรียกหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต้องมีคำอธิบายที่ผมเรียนมาเมื่อสักครู่ สิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่ เพิ่งเสนอเมื่อปีสองปีนี้เอง ผมเข้าใจว่า คนไทยคนอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่า จีนจะทำอะไร คนที่ยังมีแนวคิดแบบกังวลเรื่องสงครามเย็นยังกังวลว่านี่จะเป็นการแผ่อิทธิพลของจีนโดยอาศัยรูปแบบนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งตรงนี้จีนต้องอธิบาย ขณะเดียวกันมิตรประเทศที่เข้าใจก็ต้องช่วยกันอธิบายว่ามันไม่ใช่ แต่เป็นข้อเสนอที่เหมือน 600 ปีที่แล้วก็คือ เราเป็นเพื่อนกัน เรามาสร้างทุกอย่างร่วมกัน ความจริงโลกทุกวันนี้ globalization connect อยู่แล้ว มัน connet wireless ไม่มีใครห้ามใครต่อไปอีกแล้ว เพียงแต่ว่าตัวคนตัวสินค้าจะเดินทางจริงๆ ต้องอาศัยเรือ อาศัยอากาศ อาศัยทางน้ำ อาศัยทางบก ตรงนี้ต่างหากที่การ connect ไม่ดีพอ เราจึงอยากให้ connect มากขึ้น ทั้งหมดจะไปสู่การเดินทางของผู้คนเป็นหลัก เหมือนจีนสร้างความเร็วสูงก็เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของคนในขณะที่รถไฟรางคู่อาจเป็นเรื่องของการส่งสินค้าเป็นหลัก แต่เมืองไทยไม่มีความเร็วสูงก็ต้องอาศัยรถไฟทั้งรางเดียว และนี่จะสร้างรางคู่เพิ่มขึ้นอย่างนี้เป็นต้น ถ้าช่วยกันอธิบายตรงนี้ คนก็จะเข้าใจกัน
(In/cici)