"ทานข้าวที่ไหน?" แม้คำตอบแรกสุดในใจใครหลายคนจะตอบโดยอัตโนมัติได้ทันทีว่า "บ้าน" แต่จากข้อมูลสถิติครั้งก่อนที่เอ่ยถึงไปว่า ปัจจุบัน คนจีนในเมืองใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจวและเซินเจิ้น มีไม่ถึงครึ่งกลับไปกินข้าวที่บ้านหลังเลิกงาน โดยเฉพาะในปักกิ่งมีอัตราส่วนต่ำสุดเพียงแค่ร้อยละ 38 จะว่าไปแล้วการกลับไปกินข้าวบ้านหลายคนต่างรู้ว่าประหยัดเงินกว่า โดยร้อยละ 49.7 ว่า 20 หยวนก็อิ่มท้อง แต่เพราะเหตุใด ปัจจุบันการกลับไปทานข้าวที่บ้าน จึงเหมือนกับกลายเป็นเรื่องเกินเอื้อมไปได้?
ต้นเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ได้แก่ หนึ่ง)เพราะระยะทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานไกลเกินไป กว่าจะกลับถึงก็มืดแล้ว ชาวเน็ตจีนคนหนึ่งเล่าว่า ตนเองเลิกงานตอนห้าโมงครึ่ง เดินไปถึงสถานีรถใต้ดินก็เกือบหกโมง พอออกจากใต้ดินมาก็เกือบหนึ่งทุ่มแล้ว แต่ยังต้องเดินกลับบ้านอีก 20 นาที พอถึงบ้านก็ยังต้องเริ่มทำอาหารทานอีก กว่าจะเสร็จก็คงปาเข้าไปสองทุ่ม นี่ขนาดไม่รวมเวลาจ่ายตลาดซื้อของ คนในบ้านคงรอทานไม่ไหวแน่
สอง)เพราะการทำงานมาตลอดทั้งวันก็รู้สึกเหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว ให้ต้องมาทำอาหารทานเองทุกวันอีกไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกทานอาหารนอกบ้านแล้วกลับไปบ้านพักผ่อนให้เร็วหน่อยจึงน่าจะดีกว่า สาม)เพราะมีนัดเลี้ยงลูกค้าติดต่องาน เป็นต้น
และนอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะปัจจัยภายในอย่างไม่มีใจอยากกลับบ้านไปทานด้วย โดยเมื่อ ๆ เร็วนี้ กระทรวงพลเรือนจีนประกาศตัวเลขสถิติว่า ในปีที่ผ่านมา มีชาวจีนจดทะเบียนสมรส 13,067,000 คู่ จดทะเบียนหย่า 3,637,000 คู่ อัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ซึ่งเพิ่มต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 แล้ว ดังนั้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะชีวิตคู่บางครอบครัวเกิดปัญหาขึ้นทำให้ไม่อยากทานข้าวบ้าน หรือเพราะปัจจัยภายนอกไม่กลับไปทานจนส่งผลต่อชีวิตครอบครัวก็เป็นได้
แม้ว่าการไม่ได้กลับไปทานข้าวที่บ้านจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตน่าวิตกกังวลนัก เพราะอาจมีความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น แต่หากทิ้งร้างนานวันเข้าอาจกลายเป็นการสะท้อนสภาพปกติของสังคมปัจจุบันที่น่าจะไม่ปกติก็เป็นไป
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ลิงค์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา: พลเมืองปักกิ่งกว่าครึ่งอยู่นอกวงแหวน 5
https://thai.cri.cn/247/2015/05/26/102s232783.htm