ระหว่างการพบปะ นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวสุนทรพจน์ว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมา จีนกับ 5 ประเทศกลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงได้ผ่านเอกสารสำคัญเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือดังกล่าว ทั้งการกำหนดกรอบความร่วมมือที่สอดคล้องกับ 3 เสาหลักอาเซียน ได้แก่ หนึ่ง การเมืองและความมั่นคง สอง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสาม สังคมและวัฒนธรรม การเสนอให้ดำเนินความร่วมมือด้านที่มีความสำคัญครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง ศักยภาพด้านการผลิต เศรษฐกิจข้ามแดน ทรัพยากรน้ำ การเกษตร และการลดความยากจน อีกทั้งการเสนอโครงการความร่วมมือที่จะเห็นผลในระยะเริ่มแรก ซึ่งกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงก็ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นในที่สุด ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การที่ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจกัน กระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยน ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาบนพื้นฐานที่มีอยู่นั้นสอดคล้องกับยุคกระแสปัจจุบัน สอดคล้องกับความปรารถนาของประชาชน และก่อให้เกิดศักยภาพความร่วมมือมหาศาล
นายหลี่ เค่อเฉียง ยังกล่าวว่า กรอบความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศดังกล่าวเป็นผลดีต่อการพิทักษ์สันติภาพ เสถียรภาพของภูมิภาคนี้ เป็นผลดีต่อการใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และการมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันสร้างประโยชน์ร่วมกันให้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้มีส่วนเกื้อกูลกันมากขึ้นในด้านทรัพยากร อุตสาหกรรมสาขาต่างๆ และการตลาด ซึ่งจะเป็นการสร้างพลังขับเคลื่อนสำคัญ สร้างโอกาสมากขึ้นแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเป็นส่วนเพิ่มเติมเสริมประโยชน์การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน จีนปรารถนาที่จะร่วมปรึกษาหารือแนวทางความร่วมมือ และกำหนดแผนการพัฒนากับผู้นำทั้ง 5 ประเทศภายใต้หัวข้อหลักว่า " ดื่มน้ำสายเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขอย่างแนบแน่น " เพื่อร่วมกันก้าวสู่กรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-โขงที่จะมีอนาคตกว้างไกล
การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-โขงครั้งแรกเริ่มขึ้นที่เมืองซานย่า มณฑลไหหลำของจีนวันที่ 23 มีนาคมนี้ ด้วยการริเริ่มของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในที่ประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ 17 เดือนพฤศจิกายนปี 2014 โดยระบุว่า ให้จัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงภายใต้กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน หรือ กรอบความร่วมมือ 10+ 1
(TOON/cai)