สำนักข่าวซินหวารายงานว่า วันที่ 23 มกราคมนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯลงนามคำสั่งให้สหรัฐฯถอนตัวออกจากความเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยหุ้นส่วนเศรษฐกิจข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ ทีพีพี จากมาตราที่เกี่ยวข้องของสนธิสัญญานี้ ข้อตกลงทีพีพีจะไม่มีผลบังคับใช้หลังสหรัฐฯถอนตัว ข้อตกลงดังกล่าวมีภาคีสมาชิกทั้งสิ้น 12 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐ
หลังสหรัฐฯประกาศถอนตัวออกจากทีพีพี ผู้นำ หรือ รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของประเทศภาคีทีพีพีต่างออกมาแถลงว่า จะใช้มาตรการรับมือ
โดยนายมัลคอล์ม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 มกราคมนี้ว่า สำหรับออสเตรเลีย การค้าเสรีมีความสำคัญยิ่ง ก่อนหน้านี้ เขาหารือกับนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึงกรณีสหรัฐฯถอนตัวออกจากทีพีพี โดยผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า ข้อตกลงทีพีพีสอดคล้องกับประโยชน์ทั้งของออสเตรเลียและญี่ปุ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศจะเดินหน้าข้อตกลงนี้ต่อไป แม้สหรัฐฯจะถอนตัวออกก็ตาม
วันเดียวกัน นายบิล อิงลิช นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงทีพีพีนั้นทำให้เขารู้สึกผิดหวัง แม้ไม่ได้นอกเหนือการคาดหมายก็ตาม ประเทศภาคีข้อตกลงทีพีพีจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อหารือมาตรการรับมือ สำหรับข้อเสนอของนายทรัมป์ที่ให้ประเทศภาคีข้อตกลงทีพีพีทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีนั้น นายบิล อิงลิช กล่าวว่า รัฐมนตรีการค้านิวซีแลนด์จะเดินทางเยือนสหรัฐฯในเร็วๆ นี้ สถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ยังต้องดูกันต่อ
นายบิล อิงลิช ยังกล่าวอีกว่า ข้อตกลงทีพีพีไม่ใช่เกมส์การค้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นิวซีแลนด์จะหาทางอื่นขับเคลื่อนการค้าเสรี ขณะนี้ นิวซีแลนด์กำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และมีส่วนร่วมในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รวมทั้งประเทศอาเซียนและจีนด้วยกำลังเร่งผลักดัน
ด้านกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคมนี้ว่า สิงคโปร์จะเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอื่นๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP และเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ FTAAP อีกทั้งจะใช้ความพยายามขับเคลื่อนความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคด้วย โฆษกกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐฯถอนตัว ข้อตกลงทีพีพีจะไม่มีผลบังคับใช้ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สิงคโปร์กับประเทศภาคีข้อตกลงทีพีพีอื่นจะหารือกันเพื่อเดินหน้าข้อตกลงทีพีพีต่อไป
ด้านนายมุสตาฟา โมฮัมเหม็ด (Mustafa Mohamed) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมมาเลเซียกล่าวระหว่างร่วมการประชุมดาวอสปี 2017 ว่า ภายใต้สถานการณ์ข้อตกลงทีพีพีล้มเหลว มาเลเซียจะถือการผลักดันความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นภารกิจเร่งด่วนอันดับแรก สนับสนุนให้บรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคโดยเร็ว อีกทั้งจะหารือกับประเทศภาคีข้อตกลงทีพีพีอื่น เพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับประเทศเหล่านี้
(YIM/cai)