ค.ศ.704 อู่เจ๋อเทียน หรือ บูเช็คเทียนประชวรหนัก แต่ไม่มีใครได้มีโอกาสเข้าเฝ้า ทั้งอัครมหาเสนาบดี และองคมนตรี มีแต่สองพี่น้องแซ่จาง ซึ่งเป็นคนโปรดของพระมเหสีพันปีอู่เท่านั้นที่เข้าเฝ้าถึงห้องบรรทมได้ คราวนี้ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญก็พากันวิตกกังวล เกรงว่าอู่เจ๋อเทียน ซึ่งมีพระชนมายุ 83 พรรษา และกำลังประชวรหนักอาจถูกสองพี่น้องแซ่จางปลอมหนังสือราชการ แล้วหลอกลวงให้ อู่เจ๋อเทียน ตั้งใครต่อใครเป็นอะไรก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายที่รับใช้อู่เจ๋อเทียนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้บัญชาการทหารรักษาวังหลวงจึงได้ไปทูลเชิญอดีตจักรพรรดิจงจง ให้เป็นผู้นำพวกเขาเข้าเฝ้าพระมเหสีพันปีอู่ ขณะเดียวกัน ก็จับกุมและประหารชีวิตสองพี่น้องแซ่จางเสีย เมื่อเข้าไปเฝ้า ก็ทูลให้อู่เจ๋อเทียนสละราชสมบัติ และแต่งตั้งให้อดีตจักรพรรดิจงจงเป็นผู้สำเร็จราชการ อู่เจ๋อเทียน ซึ่งชราถึง 83 พรรษาแล้วไม่มีทางเลือกอื่น บวกกับขุนนางที่ทำการยึดอำนาจครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ที่พระนางเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริต และเห็นแก่ชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น จึงยินยอมแต่งตั้งให้อดีตจักรพรรดิจงจงเป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมา ก็สละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ และย้ายออกไปประทับในวังนอกเมืองหลวง
ค.ศ.705 อู่เจ๋อเทียน หรือ บูเช็คเทียน สิ้นพระชนม์ลง หลังจากกุมอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองอาณาจักรมาด้วยพระองค์เองหลายสิบปี และก็ได้สร้างอาณาจักรให้ใหญ่ยิ่ง สังคมมีเสถียรภาพ และความสงบสุขสืบต่อพระราชปณิธานของจักรพรรดิถังไท่จง จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง
จักรพรรดิจงจงครองบัลลังก์ต่อจากอู่เจ๋อเทียนใน ค.ศ.705 แต่อยู่ในราชสมบัติได้เพียง 5 ปี สาเหตุสำคัญมาจากความทะเยอทะยานของพระมเหสีเว่ยที่ต้องการจะเป็นให้ได้อย่างอู่เจ๋อเทียน ยังผลให้เกิดรัฐประหารในพระราชวังอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ หลี่หรงจี โอรสของอดีตจักรพรรดิรุ่ยจงที่ถูกอู่เจ๋อเทียนคุมขังอยู่แต่ในพระราชวัง ทำการยึดอำนาจสำเร็จ แล้วยกรุ่ยจงขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นเพียงสองปี จักรพรรดิรุ่ยจงประกาศสละราชสมบัติตามความประสงค์ของโอรส แล้วหลีหรงจีก็ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า จักรพรรดิเสียนจง
ช่วงประมาณ 30 ปีแรกที่จักรพรรดิเสียนจงครองราชย์ติดต่อกันมานั้น ราชวงศ์ถังมีความสงบเรียบร้อย และเจริญรุ่งเรืองในทางศิลปะและวัฒนธรรมยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ของราชวงศ์ถัง จนเป็นที่ยกย่องกันว่า เป็นยุคทองของราชวงศ์ถัง แต่หลังจากจักรพรรดิเสียนจงได้สนมคนใหม่ชื่อ หยางอี้ว์หวน หรือหยางกุ้ยเฟย ก็ไม่สนพระทัยในกิจการบ้านเมือง เอาแต่หลงใหลในสนมเอกคนนี้ ความรักตลอดจนความหลงใหลที่จักรพรรดิเสียนจงมีต่อหยางกุ้ยเฟยนี้ขึ้นชื่อลือชา ไม่เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น หากเลื่องลือไปทั่วราชอาณาจักร จนเป็นที่ทราบกันดีว่า จักรพรรดิเสียนจงไม่เคยห่างจาก หยางกุ้ยเฟย เลย เพราะทั้งสองมีรสนิยมที่สอดคล้องต้องกันไปเสียหมดแทบทุกทาง จึงครองรักกันเหมือนคนรักที่ยังหนุ่มยังสาว ทั้ง ๆ ที่จักรพรรดิเสียนจงมีพระชนมายุถึง 60 พรรษาแล้ว
เมื่อ หยางกุ้ยเฟย กลายมาเป็นสนมเอกที่เป็นคนโปรดอันดับหนึ่งของจักรพรรดิ พี่น้องทั้งหลายของ หยางกุ้ยเฟย ก็ย่อมจะต้องได้ดิบได้ดีทั่วหน้ากัน ในบรรดาพี่น้องของ หยางกุ้ยเฟย ผู้ที่มีความสำคัญที่สุดในวงราชการคือ หยางกว๋อจง ที่เป็นถึงอัครมหาเสนาบดี เขามีพฤติการณ์เล่นพรรคเล่นพวก และใช้วิธีสกปรกกำจัดขุนนางที่ไม่ใช่พวกของตน ด้วยเหตุนี้ ความทุจริตและความเหลวแหลกเละเทะในวงราชการจึงมีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ต่อมา หยางกว๋อจง ได้ขัดแย้งกับแม่ทัพอันลู่ซันอย่างรุนแรง จนไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ ถึงขนาด อันลู่ซัน ก่อการกบฏขึ้น ยังผลให้ราชวงศ์ถังที่รุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยเสียนจงต้องตกต่ำจนถึงที่สุดในรัชสมัยเดียวกัน
เมื่อ ค.ศ.755 แม่ทัพ อันลู่ซัน ก่อการกบฏ โดยอ้างว่า เพื่อทำโทษ หยางกว๋อจง อัครมหาเสนาบดี ผู้ไม่จงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิ กองทัพกบฏพิชิตมณฑลเหอเป่ย ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้น ก็พิชิต เมืองลั่วหยาง กำลังทหารตามท้องที่ต่าง ๆ ที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ถังพยายามต่อต้านกองทัพกบฏ แต่ไร้ผล จักรพรรดิเสียนจง กับ หยางกุ้ยเฟย และขุนนางข้าราชบริพารจึงต้องอพยพหนีจากเมือง ฉางอัน มุ่งหน้าไปยัง มณฑลเสฉวนโดยมีกองทหารรักษาพระองค์คุ้มครองความปลอดภัยด้วย
ครั้นไปถึง ด่านหม่าเว่ย ในมณฑลส่านซี กองทหารรักษาพระองค์ก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พร้อมใจกันจับตัวหยาง กว๋อจง ฆ่าเสีย แล้วยื่นคำขาดต่อจักรพรรดิเสียนจงให้ประหารหยางกุ้ยเฟย ตัวการที่ทำให้ราชบัลลังก์ล่มสลายลงครั้งนี้ จักรพรรดิเสียนจงลังเลพระทัยอยู่เป็นเวลานาน แต่ขุนนางที่รับใช้ใกล้ชิดทุกคนล้วนสนับสนุนให้พระองค์ยอมตามที่ทหารรักษาพระองค์เรียกร้อง ในที่สุด จักรพรรดิเสียนจงต้องยินยอม และ หยางกุ้ยเฟยถูกบังคับให้ผูกคอตาย จักรพรรดิเสียนจงเศร้าโศกพระทัยมาก ที่ต้องสูญเสียสนมเอกที่ทรงถือว่า เป็นความรักอมตะของพระองค์ ในที่สุด เสียนจง สละราชสมบัติและให้ราชโอรส หลี่เฮิง ครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า ซู่จง หลังจากนั้นหกปี เสียนจงสิ้นพระชนม์
กลุ่มกบฏอันลู่ซันได้ทำลายความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรราชวงศ์ถังลง แต่ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาทดแทน ตัวอันลู่ซันเองสำเริงสำราญอยู่กับความเป็นหัวหน้ากลุ่มกบฏ และได้สังหารผู้คนจำนวนมากเพื่อล้างแค้น จนนายทหารภายใต้การบังคับบัญชาของเขาทนไม่ไหว ถึงกับหลบหนีไปตาม ๆ กัน ถัดมาไม่นาน อันลู่ซัน ถูกบุตรชายของตนฆ่าตาย
ขณะเดียวกัน จักรพรรดิซู่จงยกทัพไปปราบกลุ่มกบฏจนยึดเมืองลั่วหยาง และฉางอัน กลับคืนมาได้ตามลำดับ
ถึงแม้ว่ากลุ่มกบฏของอันลู่ซานถูกปราบลงในที่สุด แต่หลังจากนั้น ราชวงศ์ถังเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ เนื่องจากจักรพรรดิซู่จงไม่ไว้พระทัยบรรดาแม่ทัพในท้องที่ต่าง ๆ ขันทีจึงมีความสำคัญเด่นขึ้นมา เพราะได้รับแต่งตั้งจากจักรพรรดิให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลความประพฤติของแม่ทัพ อีกทั้งยังมีอำนาจโยกย้ายแม่ทัพนายกองตามท้องที่ต่าง ๆ และที่ประจำการอยู่ในเมืองหลวง
นับตั้งแต่ ค.ศ.820 ราชวงศ์ถังมีจักรพรรดิสืบต่อมาอีก 9 พระองค์ ตลอด 87 ปีอันเป็นช่วงสุดท้ายของราชวงศ์ถัง ขันทีมีอำนาจใหญ่กว่าจักรพรรดิเสียอีก พร้อมเสมอที่จะแต่งตั้งจักรพรรดิให้ขึ้นครองราชย์ หรือถอดจักรพรรดิออกจากราชบัลลังก์
ค.ศ.874 หวาง เซียนจือ พ่อค้าเกลือก่อการกบฏที่อำเภอฉางหยวน มณฑลเหอหนาน ในปีต่อมา หวงเฉา ลูกพ่อค้าเกลือที่อำเภอเฉาเซี่ยน มณฑลซานตงได้เข้าร่วมด้วย โดยมีชาวนาหลายพันคนเป็นกำลัง ผู้นำกบฏออกคำประกาศประณามราชสำนักถังขูดรีดภาษีและค่าเช่าที่ดินจากชาวนาอย่างหนัก เมื่อชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีเงินเสียภาษี ติดค้างค่าเช่าที่ดินก็ต้องถูกลงโทษถึงโบยตี ยิ่งกว่านี้ ราชสำนักถังยังปล่อยให้ขุนนางที่ชั่วช้ากดขี่ข่มเหงราษฎร
กลุ่มกบฏได้สู้รบกับกองทัพรัฐบาลได้ชัยชนะหลายครั้ง และยึดหลายพื้นที่ในมณฑลเหอหนานได้ เนื่องจากหัวหน้ากลุ่มกบฏครั้งนี้มีความสามารถในการจัดตั้ง จึงทำให้มีกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ราชสำนักถังตกใจเป็นอย่างยิ่ง จึงออกคำสั่งให้ประชาชนในดินแดนส่วนอื่น ๆ ติดอาวุธ เพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏ แต่การติดอาวุธประชาชน โดยเฉพาะชาวนานั้น เป็นผลดีต่อฝ่ายกบฏยิ่งกว่ารัฐบาลเป็นไหน ๆ เพราะชาวนาที่ได้อาวุธส่วนใหญ่หันไปเข้าร่วมกลุ่มกบฏ