การดูแลกันในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต(1)
  2016-10-25 09:55:02  cri

ในทางพุทธศาสนา การช่วยเหลือผู้ที่ใกล้จะสิ้นลมหายใจนั้น หมายถึง การทำให้ผู้นั้นมีจิตใจที่สงบ ไม่รู้สึกหวั่นไหว ปั่นป่วน ไม่ใช่การส่งไปรักษาด่วนที่โรงพยาบาล

นาย หลี่ ซิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนโบราณจีน ของโรงพยาบาลการแพทย์แผนโบราณจีนเจิ้งอันเห็นว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีเงื่อนไขบังคับก่อนคือ ต้องวินิจฉัยอย่างชัดเจนแล้วว่า อาการของผู้ป่วยนั้นหมดทางเยียวยา อับจนหนทางรักษาที่จะช่วยรั้งชีวิตผู้ป่วยไว้ได้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องส่งไปรักษาด่วนที่ห้อง ICU หรือไม่ คำตอบของเขาคือ ไม่จำเป็น

ก่อนอื่น ต้องเคารพและปฏิบัติตามความปรารถนาของผู้ป่วยด้วย มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจำนวนมากอยากใช้เวลาช่วงสุดท้ายอย่างสงบ ไม่อยากถูกรักษาแบบทรมาน ต้องถูกแทงเข็ม สอดสายยางหรือเชื่อมกับเครื่องช่วยหายใจ แต่สมาชิกครอบครัวมักละทิ้งความหวังที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ได้ จึงพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อขยายเวลายืดชีวิตของญาติมิตร ซึ่งการรักษาเช่นนี้อาจเป็นการบีบบังคับหรือยัดเยียดให้กับผู้ที่จะเสียชีวิตก็เป็นได้

ในประเทศตะวันตก จะพิจารณาเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม รวมทั้งผลการรักษาด้วยว่าจะได้ผลจริงไหม จะเป็นคุณหรือโทษมากน้อย... คือจะพิจารณาอย่างรอบด้านกว่า ไม่ใช่ส่งไปถึงโรงพยาบาลเพียงทางเดียว

แพทย์แผนปัจจุบันบางคนบอกความคิดเห็นส่วนตัวตามตรงว่า ถ้าญาติมิตรของตนเจ็บป่วยถึงขั้นสุดท้ายของชีวิตแล้ว จะไม่เสนอให้ไปรักษาอีก และถึงแม้ยังไม่ถึงขั้นสุดท้ายของชีวิต ก็เสนอว่าให้ไปสอบถามแพทย์ที่รู้จักก่อนว่า การตรวจและการรักษารายการต่างๆ ที่จะตามมานั้น มีความจำเป็นหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือเลือดออกในสมอง ก็ต้องรีบส่งไปรักษาฉุกเฉิน จะช่วยชีวิตได้ การนี้จะเรียกว่าการรักษาอย่างมีผลหรือคุ้มค่า แต่ถ้าถึงขั้นสุดท้ายแล้ว การรักษาฉุกเฉินส่วนใหญ่จะไม่มีผล เพราะต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ช่วยยืดชีวิตให้ยืนยาวต่อไป อาจจะได้เพียงอีกไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือน ถ้าจะรักษาด้วยวิธีการต่างๆ อาจทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น เสียค่ารักษาและปัจจัยทางการรักษาพยาบาลทางสังคมอื่นๆ ที่อาจมองว่าเป็นการรักษาที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่คุ้มแล้ว

บางคนคิดว่า ส่งเข้ารักษาที่ห้อง ICU ก็วางใจได้แล้ว แต่การแพทย์แผนโบราณจีนเห็นว่า ความเป็นคน ต้องประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ คือจิตใจ เลือดลมหรือพลัง และร่างกาย เมื่อร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ต้องรักษาจิตใจและเลือดลม ไม่ให้ถูกรบกวนมาก ส่วนการรบกวน จะรวมถึงหลายอย่าง เช่น การเยี่ยมเยือนบ่อยเกินไป ทำเสียงรบกวน หนาวหรือร้อนเกินไป การเคลื่อนย้ายมากเกินไป โดยเฉพาะการตรวจและรักษามากเกินไป

ในช่วงสุดท้ายนั้น ไม่ว่าจิตใจหรือเลือดลมจะอ่อนแอมาก และไวต่อความรู้สึกมากเช่นกัน ไม่ว่าปัจจัยใดก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานเพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าหากว่าผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ ดื่มน้ำได้ ไม่มีปัญหาสำลักและไอ ก็ไม่ต้องสอดสายให้อาหารเข้าทางจมูก และไม่ต้องรีบสอดสายสวนปัสสาวะ เพราะจะรบกวนภาวะปกติของร่างกาย ทำให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะติดเชื้อได้

เมื่อปี 2003 ในมณฑลเจียงซี ทางภาคใต้ของจีน มีแพทย์แผนจีนรุ่นอาวุโสระดับชาติคนหนึ่ง อายุ 90 กว่าปีแล้ว ร่างกายอ่อนแอมาก ลูกหลานส่งให้เข้ารักษาในห้อง ICU เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่ไม่ได้ดีขึ้น ทางบ้านจึงต้มโสมให้ทานกับน้ำข้าววันละ 3 ครั้ง ร่วมกับยารักษาอื่นๆ จนในที่สุดก็หายดีกลับบ้านได้ แสดงว่า การเจ็บป่วยบางครั้งไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรงก็สามารถรักษาโรคให้หายได้ด้วย

ชาวตะวันตกเห็นว่า สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น การดูแลที่ดีที่สุดคือให้ความรักและอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย ในโรงพยาบาลของประเทศตะวันตก มีห้องผู้ป่วยพิเศษสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะ ซึ่งมีบรรยากาศไม่เหมือนห้องอื่น เหมือนบ้านมากกว่า และสนับสนุนให้ผู้ป่วยเอาสิ่งของที่ตนเองชอบตั้งไว้ในห้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก โคมไฟตั้งโต๊ะ ภาพถ่าย ตลอดจนงานศิลปหัตถกรรมเล็กๆน้อยๆ ที่มีความผูกพัน ญาติมิตรก็สามารถอยู่เป็นเพื่อนในห้องเดียวกันได้ แต่ในจีน ยังไม่ค่อยมีห้องพิเศษแบบนี้

ทุกคนจะต้องพบวาระสุดท้ายแห่งชีวิตเช่นเดียวกัน การดูแลนี้อาจคำนวณเป็นวันหรือเดือน ในช่วงนี้ หากมีญาติมิตรเป็นเพื่อนอยู่ใกล้ๆ คอยป้อนอาหาร น้ำ นวด พูดคุยกัน ช่วยเช็ดหน้าเช็ดตา สวดมนต์อธิษฐานขอพรให้ จะเป็นประโยชน์และมีบทบาทสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างมาก ต่างฝ่ายต่างได้ความสงบสุขทางจิตใจ และเมื่อผู้ป่วยจากไปแล้ว คนที่ยังอยู่ก็จะไม่รู้สึกเศร้าเสียใจมากเกินไป

Power by YOZOSOFT

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040