การดูแลกันในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต(2)
  2016-10-25 10:01:26  cri

คนในสังคมปัจจุบัน มักมีปัญหาติดขัดหลายประการ เช่น ไม่มีเวลา ไม่กล้ารับผิดชอบ จึงมีคนจำนวนมากยินยอมส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ ตนเองไม่ต้องรับผิดชอบอีก แม้จะเสียเงินก้อนใหญ่ แต่ก็ยอม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีพี่น้องหลายคน เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน มักจะคิดป้องกันตนเอง ไม่อยากเป็นผู้รับภาระ ลืมคิดถึงจิตใจความต้องการของผู้ป่วยที่แท้จริง สุดท้ายแพทย์มาประกาศว่า "ผู้ป่วยเสียแล้ว"

เมื่อหัวใจไม่เต้นและไม่มีลมหายใจแล้ว การแพทย์แผนตะวันตกก็จะวินิจฉัยว่า เสียชีวิต แต่ทฤษฏีของการแพทย์แผนโบราณจีนและลัทธิเต๋าไม่เหมือนการแพทย์แผนตะวันตก โดยเห็นว่า ขณะนั้น วิญญาณจะค่อยๆ ออกจากร่างกาย ซึ่งจะไวต่อความรู้สึกอย่างมาก ดังนั้น การกระตุ้นร่างกายทุกอย่าง เช่น เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า และนำศพไปไว้ในห้องดับจิตที่เย็นยะเยือก จะทำให้ผู้ที่เสียชีวิตมีความทุกข์มากกว่าปกติ แต่ถ้าญาติมิตรให้กำลังใจแก่ผู้เสียชีวิต เขาก็รู้สึกและรับได้ จะมีบทบาทในการปลอบขวัญผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมาก

ถ้าผู้ป่วยระยะสุดท้ายนับถือศาสนา เมื่อญาติมิตรสวดมนต์หรือนั่งสมาธิ จะช่วยให้ตนเองและผู้ป่วยมีจิตใจสงบด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตนี้ ในห้องผู้ป่วยไม่ควรมีโทรทัศน์ วิทยุหรือสิ่งที่จะรบกวนความสงบ และควรพักอยู่ห้องเดี่ยวไม่รวมกับผู้ป่วยอื่นดีกว่า เพื่อให้ญาติมิตรผู้ป่วยมาเยี่ยมได้โดยสะดวก

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก ในช่วงสุดท้ายอาจจะทุกข์ทรมานมาก นอกจากวิธีช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของการแพทย์แผนตะวันตกแล้ว ยังมีวิธีการโบราณบางอย่างเช่น ช่วยนวดท้องผู้ป่วยเบาๆ จะช่วยคลายความเจ็บปวดให้ได้

ผู้ป่วยบางคนอยากอยู่ที่บ้าน ตายที่บ้าน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย และมีญาติมิตรเป็นเพื่อน รับประทานอาหารที่ตนเองชอบ มีความเงียบสงบ ไม่มีคนอื่นมารบกวน ไปจากโลกอย่างเงียบๆ ตามธรรมชาติ ไม่อยากไปรักษาและตายที่โรงพยาบาล เราควรพยายามทำตามความหวังของผู้ป่วย และไม่ให้เขาหงุดหงิด ไม่สบายใจ

สำหรับช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต จะเป็นช่วงเวลายาวนานกี่สัปดาห์ กี่วันหรือกี่ชั่วโมง? ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะอย่างไร? คิดอย่างไร ต้องการอะไร และเราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไรบ้าง?

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า โดยปกติ ช่วงสุดท้ายที่ว่านี้จะเป็นระยะเวลาประมาณ 10-14 วัน บางคนอาจไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในช่วงนี้ หน้าที่ของแพทย์ไม่ใช่รักษาให้หาย กลับควรเป็น"บรรเทาความทุกข์ทรมาน"

ผู้ป่วยที่จะเสียชีวิต ร่างกายมักจะขาดน้ำ การเคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก ตัวเย็น แต่อย่าคิดว่าผู้ป่วยหนาว ต้องห่มผ้าห่มหนาๆ เพียงเอาผ้าหนาหน่อยห่มส่วนมือและเท้าก็พอ ไม่งั้นผู้ป่วยจะรู้สึกผ้าห่มหนักเกินไป อึดอัดหายใจลำบากได้ ขณะนี้วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่ให้อ๊อกซิเจน เพราะร่างกายไม่สามารถใช้อ๊อกซิเจนได้อย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้น ควรเปิดหน้าต่างและพัดลมเบาๆ ใช้ยามอร์ฟินหรือยาชาเพื่อช่วยแก้ปัญหาหายใจลำบาก อีกอาการหนึ่งคือกลืนอาหารลำบาก บางคนเสนอให้สอดสายให้อาหารเข้าทางจมูก แต่ความจริง ถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกหิว ถ้าบังคับให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร จะทำให้เขาอาเจียน และเศษอาหารอาจหลุดเข้าสู่หลอดลม เพิ่มความทุกทรมานให้กับผู้ป่วยอีกด้วย

ผลสำรวจผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 100 คนปรากฏว่า ก่อนเสียชีวิต 1 สัปดาห์ ผู้ป่วย 56% รู้สึกตัว 44% เอาแต่หลับ แต่ไม่มีคนที่อยู่ในภาวะเป็นลมหมดสติจนคุยกันไม่ได้ ดังนั้น ญาติมิตรควรถือโอกาสนี้คุยกับผู้ป่วย อย่ารอถึงช่วงสุดท้ายที่จะพูดจาทำอะไรก็ไม่ทันแล้ว

อีกประการคือ ในช่วงระยะสุดท้ายนี้ กล้ามเนื้อในช่องปากของผู้ป่วยจะหมดความยืดหยุ่น เวลาหายใจ มักจะมีเสมหะติดในลำคอ ถ้าใช้เครื่องดูดเสมหะ จะทำให้ผู้ป่วยทรมาน ควรใช้หมอนที่สูงกว่าหนุนให้ และให้นอนตะแคงข้าง หรือใช้ยาลดเสมหะ

สุดท้ายแพทย์แนะนำว่า การได้ยินเป็นความรู้สึกที่ผู้ป่วยจะสูญเสียไปช้าที่สุด ดังนั้น ญาติมิตรรอบกายต้องระวังคำพูด เรื่องไหนที่ไม่อยากให้ผู้ป่วยฟัง แม้จะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อาการหนักหรือเหมือนไม่รู้สึกตัว ก็ไม่ควรพูดออกมาตามใจ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040