เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทางผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงจัดขึ้นในเมืองเชียงรุ่ง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนเผ่าไท สิบสองปันนา แม่น้ำสายนี้เปรียบเสมือนสายน้ำแห่งชีวิตของผู้คนกว่าสามร้อยล้านคนที่อาศัยบนลุ่มแม่น้ำ และมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลชิงไห่แถบบริเวณที่ราบสูงธิเบตของจีน ผ่านลาว เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา และไหลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม มีระยะความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ช่วงแม่น้ำไหลผ่านจีนเรียกว่า แม่น้ำหลานชางเจียง หรือ แม่น้ำล้านช้าง มีระยะความยาว 2,130 กิโลเมตร และเมื่อไหลผ่านเข้าเขตเมียนมาร์และลาวเรียกว่า แม่น้ำของ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง ยังเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาวด้วย
รูปที่ 1
ลักษณะกายภาพที่สำคัญของแม่น้ำโขงคือ มีตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ จากลักษณะที่โดดเด่นนี้เอง ทำให้เกิดการตั้งชุมชนน้อยใหญ่เรียงรายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาเป็นเวลานานนับร้อยๆ ปี ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำนอกจากได้รับประโยชน์จากแม่น้ำแล้ว พวกเขายังให้ความเคารพและรักษ์ในแม่น้ำสายนี้อีกด้วย จะเห็นได้จากเทศกาลวัฒนธรรมต่างๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับสายน้ำตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสาดน้ำสงกรานต์ปีใหม่ในเดือนเมษายน เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาเดือนมิถุนายน เทศกาลแข่งเรือยาว-เรือมังกรออกพรรษาเดือนตุลาคม เทศกาลลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายน เป็นต้น
รูปที่ 2
เนื่องจากสิบสองปันนามีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งจนได้รับขนานนามว่า "อู่ข้าวอู่น้ำของยูนนาน" แล้ว ยังมีผลิตผลทางการเกษตรมากมายที่กำลังพัฒนาและเร่งการผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดอาเซียน เช่น ข้าว ยางพารา ผัก ผลไม้และชาผูเอ่อคุณภาพสูงถือเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดจีนและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์รวมทั้งสัตว์ป่าชนิดหายากเช่น ช้างป่า นกยูง เสือโคร่ง ฯลฯ โดยเฉพาะนกยูงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของสิบสองปันนาก็ได้รับการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ไว้ในสวนป่าดึกดำบรรพ์ของสิบสองปันนา และอุทยานวนศาสตร์อีกหลายแห่ง
รูปที่ 3
ในปีนี้ทางรัฐบาลจีนได้ริเริ่มและเป็นเจ้าภาพเทศกาลศิลปวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองชนเผ่าไท สิบสองปันนา จัดขึ้นตั้งแต่ 26-30 ธันวาคม 2554 เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาและองค์ประกอบของศิลปวัฒนธรรมของทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยนำด้านวัฒนธรรมเป็นสายสัมพันธ์ในการพัฒนาและร่วมมือกันภายใต้กรอบข้อตกลงของรัฐบาลกลางทั้ง 6 ประเทศ ถึงแม้แต่ละประเทศจะมีลักษณะที่แตกต่างแต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนบนลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ไม่ได้แตกต่างแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาษาชนเผ่าไทลื้อสามารถสื่อสารกันได้ระหว่างชาวไทลื้อทางฝั่งเมียนมาร์ ไทยและลาว อีกทั้งชนเผ่ากลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาข่า ละหู่ ม้งยังคงลักษณะการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและวัฒนธรรมประเพณีที่เหมือนกัน อีกทั้งอาหารยังมีรสชาติใกล้เคียงกันและชื่ออาหารบางชนิดก็เหมือนกันอีกด้วย แม้สายน้ำจะแบ่งแยกเขตแดนประเทศ แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่รู้สึกว่าต่างกัน ยังมีความเชื่อว่ามาจากแหล่งกำเนิดมาตุภูมิและครอบครัวเดียวกัน
รูปที่ 4
ทางเยาวชนตัวแทนประเทศไทยที่เข้ามาร่วมการแสดงในพิธีเปิดได้เผยความรู้สึกกับสื่อมวลชนว่า พวกเขาเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยลัยราชภัฏจ.เชียงราย และนับเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางออกนอกประเทศมาเข้าร่วมเทศกาลอันยิ่งใหญ่ สร้างความภูมิใจให้กับพวกเขาและครอบครัวที่ได้เกิดมาบนลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงสายนี้ นอกจากเรื่องเวลาที่ต่างกันแค่หนึ่งชั่วโมงระหว่างประเทศจีนกับไทย และความไม่คุ้นชินกับภาษาจีนถือว่าเป็นแค่ปัจจัยภายนอกที่ต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ความรู้สึกมากกว่านั้นคือ ความเหมือนกันของผู้คนบนลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตและรากภาษาไทลื้อเดียวกัน ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้มาเยี่ยมเยือนญาติมิตรสหายในครอบครัวที่ห่างกันแค่ฝั่งแม่น้ำ และแทบจะไม่รู้สึกถึงความเป็นคนแปลกหน้าในเมืองเชียงรุ้งนี้เลย
รูปที่ 5