เขากล่าวว่า "นักเขียนควรเขียนเพื่อมโนธรรม เพื่อผู้อ่านอันแท้จริงของตนเอง และเขียนเพื่อจิตวิญญาณ"
เมื่อพูดถึงชีวิตการเขียนของโม่ เหยียน เขากล่าวว่า "นักเขียนควรเขียนเพื่อมโนธรรมและเพิ่มพูนสติปัญญาของตนเอง เขียนเพื่อผู้อ่านอันแท้จริงของตนเอง และเขียนเพื่อจิตวิญญาณ" เกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง "ข้าวฟ่างสีเพลิง" หรือ "Red Sorghum" ซึ่งเป็นนวนิยายที่รู้จักกันมากที่สุดในโลก โม่ เหยียนกล่าวว่า "ถ้าให้ผมพิจารณาในปัจจุบัน ข้อแรกก็คือ กล้าเขียนจริงๆ (เพราะเรื่องนี้เขียนในปี 1986 หรือ 26 ปีที่แล้ว) จากแง่มุมทางเทคนิคการเขียนใน วันนี้ผมไม่มีความกล้าหาญเช่นนั้นแน่นอนที่กล้าใช้ศัพท์อย่างอาจหาญและป่าเถื่อนถึงขนาดนั้น ปัจจุบัน ผมเขียนได้ถูกมาตรฐานและไวยากรณ์มาก ไม่มีการท้าทายต่อภาษาเหมือนสมัยนั้น และก็ไม่มีความคิดสร้างสรรค์เหมือนเดิมอีกแล้ว สมัยก่อนผมคิดแต่เพียงว่า เขียนออกมาอย่างนั้นแล้วรู้สึกสะใจ และสามารถแสดงถึงอารมณ์อันรุนแรงในใจได้ ถ้าให้ผมเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง ผมไม่มีทางเขียนได้อีกแล้ว และถึงแม้เขียนออกได้ แต่ก็เป็น ข้าวฟ่างสีเพลิง อีกหนึ่งเรื่อง"ที่คงไม่สดและทรงพลังเท่าเดิม
เบื่องหลังการถึงกำเนิดขึ้นของ "ข้าวฟ่างสีเพลิง" คือ โม่ เหยียนได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวรรณกรรมทางการทหารที่จัดขึ้นโดยกองการเมืองของทหารปลดแอกประชาชนจีน ภายในงานมีนักเขียนอาวุโสและผู้นำเสนอว่า อดีตสหภาพโซเวียตทำสงครามป้องกันประเทศ 4 ปี เกิดนักเขียนวรรณกรรมทางการทหารขึ้นถึง 5 รุ่น แต่จีนมีประวัติศาสตร์สงครามนานถึง 28 ปี ทำไม่ไม่มีผลงานวรรณกรรมทางการทหารดีเด่นเกิดขึ้นเลย เมื่อได้ยินดังนี้ โม่ เหยียนจึงกล่าวว่า "เราไม่เคยเข้ารวมสงครามโดยตรง แต่ก็สามารถสัมผัสสงครามโดยทางอ้อม เราสามารถอ่านหนังสือ ดูภาพ และยืมความรู้สึกจากที่อื่น อย่างเช่นผมไม่เคยฆ่าคนในสนามรบ แต่ผมเคยฆ่าไก่ ก็สามารถโอนความรู้สึกของการฆ่าไก่มาใส่ในวรรณกรรมสงครามได้" แต่คำพูดดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากนักเขียนอาวุโส
เวลานั้น โม่ เหยียนยังศึกษาอยู่ในสถาบันศิลปศาสตร์ทหารปลดแอกประชาชน หลังการประชุมครั้งนี้ โม่ เหยียนก็เริ่มเขียน "ข้าวฟ่างสีเพลิง" ในห้องพักหลังเลิกเรียน เพียง 1 สัปดาห์ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนนวนิยายเรื่อง "กบ" หรือภาษาจีนเรียกว่า "วา" โม่ เหยียนได้เตรียมเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และเขียนอีก 4 ปี เป็นนวนิยายขนาดยาวเรื่องที่ 11 ของเขา พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 2009 โม่ เหยียนบอกว่า "กบ" เป็นนวนิยายที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเอง เหตุผลก็คือ เมื่ออ่านหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ เขารู้สึกไม่พอใจต่อผลงานวรรณกรรมเกี่ยวกับสงครามและประวัติศาสตร์ เพราะในผลงานเหล่านั้น คนดีกับคนชั่วมีเส้นแบ่งแยกชัดเจนมาก คนดีก็ดีวิเศษวิโส ส่วนคนชั่วก็ไม่ดีเลยสักข้อเดียว