มณฑลกันซู่ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ล่าปาโจวของคนที่นี่คือการนำธัญพืชและผักมาต้มพร้อมกัน เพื่อทานในครอบครัว มอบให้เพื่อนบ้าน หากมีเหลือยังจะให้สัตว์ที่เลี้ยง อย่างที่เมืองหลันโจว เมืองเอกของมณฑล ยังเพิ่มความละเอียดโดยการใช้ข้าวสาร ถั่ว พุทราแดง ลูกแปะก๊วย ลูกบัว องุ่นแห้ง อัลมอนด์ วอลนัท เปลือกส้มเชื่อม น้ำตาลทรายขาว เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มาต้มรวมกัน แล้วนำไปเซ่นไหว้เทพเจ้าประตู เตา เจ้าที่ เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แล้วจึงนำไปแบ่งให้ญาติพี่น้อง และสมาชิกครอบครัว นอกจากนั้น ที่เมืองอู่เวย ยังนิยมทาน "ซู่ล่าปา" ซึ่งนำข้าวต้มข้นๆ และอาจผสมถั่วขาว แล้วทานพร้อมกับจ้าซ่านจื่อ และหมาฮัว ซึ่งเป็นแป้งบิดเป็นเกลียวแล้วทอดจนกรอบ
ส่วนผู้คนในมณฑลหนิงเซี่ย จะทำขนมล่าปา โดยจะใช้ถั่วขาว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ข้าวสาร มันฝรั่งมาต้มเป็นขนมเหนียวข้น แล้วเติมแป้งข้าวสาลีที่ปั้นเป็นรูปรีเหมือนใบต้นหลิ่ว หรือทรงกลมขนาดเล็ก เมื่อต้มสุกแล้วก็จะเติมน้ำมันต้นหอม ในวันล่าปาทั้งครอบครัวจะรับประทานขนมล่าปากันทั้งวันโดยไม่ทานอย่างอื่น
ที่มณฑลชิงไห่ก็มีความใกล้เคียงกับหนิงเซี่ย แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในเขตนี้เป็นชาวชนชาติฮั่น แต่ในเทศกาลล่าปานี้กลับไม่ทานโจ๊ก หันมาทานขนมล่าปาต่างหาก สิ่งที่แตกต่างกับของหนิงเซี่ยคือ ส่วนประกอบของขนม คนชิงไห่นิยมใช้ข้าวสาลี เนื้อวัวหรือเนื้อแพะ แล้วเติมเกลือ ขิง แอปเปิ้ล ฮัวเจียว หรือพริกไทยเสฉวน เป็นต้น หลังจากนั้นจึงนำไปเคี่ยวข้ามคืนจนทั้งเนื้อและข้าวเปื่อยได้ที่ แล้วรับประทานในตอนเช้า
ดังที่กล่าวมาเป็นความนิยมรับประทานอาหารของคนจีนภาคเหนือในเทศกาลล่าปา หันมามองภาคใต้ของจีน ด้านมณฑลเจียงซู โจ๊กล่าปาแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามรสชาติ คือโจ๊กหวานและโจ๊กเค็ม แต่มีส่วนประกอบคล้ายๆกัน คือธัญพืชหลายชนิด แต่ถ้าเป็นโจ๊กเค็มจะเติมผักและน้ำมันลงไปด้วย ที่เมืองซูโจว จะใส่เห็ดฉือกู แห้ว วอลนัท เมล็ดสน พุทราแดง เห็ดหูหนู เห็ดเข็มทอง ข้าวโพดลงไปด้วย
ของมณฑลเจ้อเจียงมีความใกล้เคียงกัน จะใส่วอลนัท เมล็ดสน ลูกบัว พุทราแดง เนื้อลำไย ลิ้นจี่ลงไปต้ม ซึ่งทำให้เกิดรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมของผลไม้ เล่ากันว่า การทำลักษณะนี้ได้รับสูตรมาจากเมืองหนันจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซูนั่นเอง
หากกล่าวถึงเขตที่มีลักษณะพิเศษที่สุดในการทำโจ๊กล่าปานั้น ย่อมจะเป็นมณฑลเสฉวน เป็นที่ทราบกันว่า คนเสฉวนนิยมทานอาหารรสชาติเผ็ดร้อนเป็นพิเศษ ล่าปาโจวของที่นี่ก็เช่นกัน นอกจากมีรสหวาน หรือเค็มแล้ว ความเผ็ดยอมจะเป็นรสที่ไม่อาจขาดได้ แต่ที่นิยมที่สุดยังเป็นรสเค็ม ซึ่งมีเครื่องปรุงสำคัญต่างกับที่อื่นนิดหนึ่ง คือ นอกจากใส่ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เนื้อสัตว์หั่นชิ้นเล็กๆแล้ว ยังจะเพิ่มหัวไชเท้า และแครอทไปด้วย
การที่ชาวจีนนิยมชมชอบการกินโจ๊กล่าปาในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 นอกจากโจ๊กนี้มีรสชาติอร่อยลูกปากแล้ว ยังเพราะว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย ' ตำราโจ๊ก' ของเฉาเยี่ยนซัน ผู้ศึกษาด้านการดูแลสุขภาพในสมัยราชวงศ์ชิง ก็ได้บันทึกข้อดีของล่าปาโจวไว้อย่างละเอียด โดยระบุว่า โจ๊กล่าปาเป็นอาหารบำรุงที่ดี ซึ่งมีลักษณะย่อยง่าย และอุดมด้วยสารอาหาร มีสรรพคุณบำรุงทั้งกระเพาะ ไต ปอด หัวใจ ตับ สายตา ช่วยขับถ่าย ทำให้นอนหลับง่าย โดยเฉพาะเป็นผลดีต่อผู้สูงอายุอย่างมาก