นักวิเคราะห์เห็นว่า การที่ฟิลิปปินส์เร่งขยายกำลังรบภายใต้การสนับสนุนของประเทศพันธมิตรหรือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อาทิ เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อสร้างแรงกดดันต่อจีนในปัญหาทะเลจีนใต้นั้นอาจจะกระตุ้นให้ข้อพิพาทรุนแรงยิ่งขึ้นแทนที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ และอาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคด้วย
วันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีของสหรัฐฯ รายงานว่า นายวอลแตร์ กาซมิน รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์กล่าวว่า กำลังวางแผนจะโยกย้ายหน่วยรบสำคัญของกองทัพอากาศและกองทัพเรือกลับไปประจำการที่อ่าวซูบิก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้เป็นฐานทัพทหารเรือสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าสู่บริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้ได้รวดเร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์เครือข่ายการสื่อมวลชนขนาดใหญ่ จีเอ็มเอ (GMA) ของฟิลิปปินส์รายงานว่า ฟิลิปปินส์จะจัดส่งทหารอากาศ 250 นายไปประจำการที่อ่าวซูบิกเร็วๆ นี้ และอนุญาตให้ทหารสหรัฐฯ จำนวนมากขึ้นเดินทางไปประจำการในฟิลิปปินส์เป็นระยะเวลาสั้นๆ
ด้านสื่อมวลชนสหรัฐฯ รายงานว่า สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์กำลังหารือเรื่องการขยายฐานทัพทหารเรือสหรัฐฯ ที่ประจำการในฟิลิปปินส์ให้ใหญ่ขึ้นด้วย และจะอนุญาตให้สหรัฐฯ จัดส่งเรือรบเข้าอ่าวซูบิกเพิ่มขึ้น
นายเมิ่ง เสียงชิง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยกลาโหมจีนกล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ส่งกองทัพกลับเข้าประจำการในอ่าวซูบิกอีกครั้ง และเพิ่มความร่วมมือทางการทหารกับฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยสหรัฐมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ขยายอัตรากำลังทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการบนเกาะโอกินาว่าของญี่ปุ่น ออสเตรเลียและหมู่เกาะฮาวายเพิ่มขึ้น
ประการที่สอง ขยายความร่วมมือกับประเทศขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในฐานทัพใหม่ที่สำคัญในต่างประเทศของสหรัฐฯ ประการสุดท้าย ฟิลิปปินส์กำลังมีข้อพิพาทกับจีนเกี่ยวกับปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และกำลังพยายามเสนอให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นปัญหาสากล ดังนั้นความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ จึงสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
(Nune/Lin)