ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก พวกบัณฑิตและขุนนางเป็นชนชั้นสำคัญในสังคม พวกเขามีความคิดเห็นว่า ต้องให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถรับตำแหน่งราชการสำคัญ แต่ในสมัยพวกขันทีกุมอำนาจ ตำแหน่งราชการสำคัญถูกพวกขันทีเอาไปขาย หรือจัดสรรแต่งตั้งกันตามอำเภอใจ พวกบัณฑิตและขุนนางไม่ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยกันทุกคน เมื่อไม่มีเงินทองติดสินบน ก็ต้องดักดานโดยปราศจากความก้าวหน้าใดๆ ไม่ว่าจะมีความสามารถและซื่อสัตย์สุจริตเพียงใดก็ตาม ด้วยสาเหตุเหล่านี้ พวกบัณฑิตและขุนนางที่เป็นข้าราชการพลเรือนจึงพากันออกมาต่อต้านขันทีกันอย่างแข็งขัน
ในค.ศ.165 บรรดาบัณฑิตและขุนนางที่ความคิดเห็นว่าพวกขันทีเป็นพิษเป็นภัยร้ายแรงต่อบ้านเมืองได้ทำการรณรงค์อย่างแข็งขัน เพื่อต่อต้านอิทธิพลของพวกขันที ในปีต่อมา พวกเขาได้จัดตั้งสมาคมเพื่อต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของพวกขันที ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อจักรพรรดิ
ในช่วงต้น กลวิธีของสมาคมในการต่อต้านขันทีประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยสามารถบีบบังคับให้ขันทีจำนวนหนึ่งต้องลาออกจากตำแหน่ง ขันทีบางรายถูกประหารชีวิตในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ต่อมา พวกขันทีได้วางแผนโจมตีตอบโต้ด้วยการใช้กำลังรุนแรง บรรดาบัณฑิตและขุนนางที่เป็นแกนนำในการต่อต้านพวกขันทีถูกปลดออกจากตำแหน่ง จับกุมคุมขัง จนกระทั่งประหารชีวิต พวกบัณฑิตและขุนนางที่มีบ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัด ถูกเนรเทศกลับบ้านเกิด ห้ามไม่ให้อยู่ในเมืองหลวงอีก และถูกตัดขาดออกจากชีวิตขุนนาง ปราศจากรายได้และเกียรติทั้งปวง
หลังจักรพรรดิหวนตี้สิ้นพระชนม์ เหล่าบัณฑิตและขุนนางก็ได้คบคิดกับพระมเหสีพันปีโต้วไท่โฮ่วที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ เพื่อร่วมมือกันในการกวาดล้างพวกขันที แต่แผนของเหล่าบัณฑิตเกิดการรั่วไหล ทำให้พวกขันทีล่วงรู้แผนกวาดล้างเข้า และชิงลงมือก่อน โดยอาศัยหลิงตี้ จักรพรรดิองค์ใหม่ที่ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากหวนตี้ ซึ่งมีพระชันษาเพียง 12 พรรษา ผลก็คือ พวกขันทีได้ทำการยึดอำนาจในพระราชวังโดยเด็ดขาด พระมเหสีพันปีโต้วไท่โฮ่วถูกควบคุมตัว จักรพรรดิหลิงตี้ถูกขันทีหลอกให้ลงพระปรมาภิไธยในราชโองการให้จับกุม ดำเนินคดี และประหารชีวิตขุนนางคนสำคัญ ตลอดจนแกนนำสมาคมต่อต้านขันทีในข้อหาวางแผนก่อกบฏ ปรากฏว่า มีข้าราชการหลายร้อยคน และบัณฑิตกว่าหนึ่งพันคนถูกจับเข้าคุก