ด้านหน้าทางเข้า
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคาม – 4 กันยายน ที่กรุงปักกิ่ง งานหนังสือขนาดใหญ่เสร็จสิ้นลงไป นั่นก็คืองานมหกรรมหนังสือนานาชาติ ปักกิ่ง 2011 ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่ย้ายจากสถานที่จัดงานเดิมในตัวเมือง ซึ่งคับแคบเกินไปสำหรับงานสำคัญสำหรับคอหนังสือจากทั่วโลก มาจัดยังศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติจีน (China International Exhibition Center) แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตซุนยี่ ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติโสว่ตู
แม้ออกจะไกลไปสักหน่อย แต่ก็สะดวกสบายกว่าที่เดิม เพราะนอกจากพื้นที่จัดงานจะมากขึ้นแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าตรงดิ่งไปจอดอยู่ด้านข้างเลยทีเดียว
รายงานล่าสุดจากผู้รับผิดชอบของงานมหกรรมหนังสือนานาชาติแจ้งว่ามีการซื้อขายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว และยังมีจำนวนประเทศเข้าร่วมแสดงหนังสือมากขึ้น ประมาณ 60 ประเทศ โดยทางผู้จัดงานได้สนับสนุนบูธเป็นกรณีพิเศษตามแต่ปริมาณการเข้าร่วมของสำนักพิมพ์ประเทศนั้นๆ
อย่างประเทศไทยได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า 1 บูธ แต่ทางกรมส่งเสริมการส่งออกแห่งประเทศไทยสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 2 บูธ รวมเป็น 3 บูธ เรื่องนี้ทำให้ผมตื่นเต้นมาก เพราะผมเองก็ไปร่วมงานนี้ทุกปี ซึ่งก็ไม่ปรากฎว่ามีบูธจากประเทศไทยมาเข้าร่วมสักครั้ง ทั้งที่เป็นงานใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกและอยู่ใกล้เพียงแค่ระยะห่าง 4 ชั่วโมงครึ่งของการบินเพียงเท่านั้น
สำนักพิมพ์จากเมืองไทยที่มาเข้าร่วมในครั้งนี้มีทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ สำนักพิมพ์บันลือสาส์นสำนักพิมพ์บงกช สำนักพิมพ์อีคิวพลัส สำนักพิมพ์บุ๊กไทม์ สำนักพิมพ์ลี่เจิน สำนักพิมพ์นานมีบุ๊ก สำนักพิมพ์เพรส เอ็ดดูเคชั่น สำนักพิมพ์แปลน ฟอร์ คิดส์ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์พูนิก้า โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช และสำนักพิมพ์ไวต์ โลตัส ซึ่งทุกสำนักพิมพ์มาเข้าร่วมในนามของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย นำโดยคุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร เจ้าของสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ก และกรรมการสมาคมหลายท่าน อาทิ คุณริสรวล อร่ามเจิญ จากแปลน ฟอร์ คิดส์ คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา จากนานมีบุ๊ก และคุณอาทร เตชะธาดา จากประพันธ์สาส์น
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ที่ร่วมคณะมาด้วยทราบว่า การเดินทางมาตะลุยเมืองจีนกันในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากการประสานงานกันระหว่างสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการส่งออกแห่งประเทศไทย โดยสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมต้องเสียค่าใช้จ่ายในการออกบูธร่วมกันสำนักพิมพ์ละ 10,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุมการเดินทางระหว่างประเทศและภายในกรุงปักกิ่ง โรงแรมที่พัก อาหาร และการท่องเที่ยวชมเมืองบ้างในบางจุดที่พอมีเวลา ซึ่งฟังดูแล้วก็คิดว่าคุ้มค่าคุ้มเงินลงทุนดี สำหรับสำนักพิมพ์ที่ต้องการเสนอผลงานของตนเองสู่ระดับนานาชาติ หรือไม่ก็เป็นการสร้างโอกาสของตนเองให้ได้ออกมาเห็นหนังสือจากทั่วโลก ได้เลือกเปิดเลือกอ่านและซื้อลิขสิทธิ์กลับไปแปลเป็นภาษาไทยได้
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คุณอาทร เตชะธาดา ทั้งในฐานะของกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและกรรมการของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้กรุณาตอบคำถามเกี่ยวกับการมาร่วมงานในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรกับผมในหลายคำถามดังนี้
อาทร เตชะธาดา
สมาคมผู้จัดพิมพ์ของไทยมาเข้าร่วมงานปักกิ่งบุ๊กแฟร์ครั้งนี้ครั้งแรกหรือเปล่าครับ
ครั้งแรก ภายใต้การสนับสนุนของกรมการส่งเสริมการส่งออก ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงานให้ประเทศไทยมา 1 บูธ แต่ทางกรมส่งเสริมเห็นว่าเป็นโอกาสดี เลยเข้ามาช่วยสนับสนุนอีก 2 บูธเป็น 3 บูธ ทั้งออกค่าเดินทางและค่าที่พักให้ฟรีด้วย ก็เลยสามารถทำให้มาเป็นทีมได้ เลยดูยิ่งใหญ่ขึ้น เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา
ทางสมาคมเข้าไปติดต่อกับกรมส่งเสริมฯหรือว่าทางกรมส่งเสริมฯ ติดต่อสมาคมฯ มาเองครับ หรือมาร่วมงานกันได้อย่างไรครับ