จีนปริทรรศน์:นักเขียนหนุ่มผู้อหังการ  ผู้สร้างปฏิกิริยาใหม่ในสังคมจีน
  2012-01-25 16:52:02  cri

เมื่อปี 2010 "หัน หัน" นักเขียนหนุ่มผู้มีชื่อเสียงและมีรายได้มากที่สุดคนหนึ่งของจีน ซึ่งตอนนั้นเขาอายุเพียง26ปี ได้ประกาศในบล็อกส่วนตัวว่าจะเปิดนิตยสารของตัวเอง โดยมีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดรับบทความ สมาชิก และมาตรฐานค่าลิขสิทธิ์บทความ ส่วนชื่อนิตยสารนั้น เขายังไม่เปิดเผย เพราะเกรงว่าจะถูกลอกเลียน

เฉพาะเรื่องมาตรฐานค่าลิขสิทธิ์บทความนั้น เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในแวดวงสิ่งพิมพ์จีน เพราะสูงกว่ามาตรฐานโดยทั่วไปที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ในจีนให้กันอยู่ เขาระบุว่า สำหรับนักเขียนที่มีผลงานรวมเล่มมาแล้ว และส่งบทความที่ยังไม่เคยผ่านการตีพิมพ์ที่ไหนมาให้ จะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 2,000 หยวน ต่องานเขียน 1.000 ตัวอักษร ซึ่งสูงกว่าปกติ 10-40 เท่า และสูงกว่านิตยสารชื่อดังที่สุดในจีนเคยจ่ายต่อบทความ 1 ชิ้น ถึง 2-4 เท่า ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีผลงานรวมเล่มมาก่อน ถ้าผลงานผ่านการพิจารณาจะได้รับ 1,000 หยวน ต่อ 1,000 ตัวอักษร นับว่าสูงกว่าค่าเรื่องโดยทั่วไป 10-20 เท่า ส่วนบทความที่ลงพิมพ์ซ้ำจะได้รับ 500 หยวน ต่อ 1,000 ตัวอักษร ซึ่งก็ยังสูงกว่ามาตรฐาน 15 เท่า ส่วนภาพถ่ายจะได้รับค่าตอบแทน 5,000 หยวนต่อ 1 ภาพ

นอกจากนี้ "หัน หัน" ยังยินดีที่จะพิจารณาพิมพ์เรื่องที่เข้าข่ายว่าเขียนได้ห่วยมาก และไม่คิดว่ามีคุณค่าพอต่อการอ่านลงในคอลัมน์ที่ชื่อว่า "ไร้สมอง" หรือ "เหน่าฉาน" เขาระบุว่า แต่ละฉบับจะลงบทความประเภทงี่เง่า ไร้มนุษยธรรม ทำร้ายความรู้สึก ต่อต้านความยุติธรรม หรือ ทำลายเสรีภาพ ประมาณ 2-3 ชิ้น ซึ่งบทความไร้ค่าเหล่านี้ก็ยังจะได้รับค่าตอบแทนถึง 250 หยวน ต่อ 1,000 ตัวอักษร

 

หลังจากข่าวนี้แพร่หลายออกไปเพียง 5 วัน เขาได้รับบทความมากถึง 10.000 ชิ้นจากทั่วประเทศ และแน่นอนว่าย่อมต้องรวมถึงบทความประเลวร้ายประเภทที่จริงแล้วเขาไม่ต้องการด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเห็นบทความเหล่านี้ถูกส่งเข้ามาจริงๆ "หัน หัน" ก็รู้สึกโกธรมาก เพราะไม่นึกว่าจะมีคนประเภทที่เห็นแก่เงินขนาดนี้จริงๆ และก็ประกาศว่าจะไม่พิมพ์บทความเหล่านี้เด็ดขาด

ข่าวการประกาศก่อตั้งนิตยสารของเขาครั้งนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากบรรณาธิการหลายคน และออกมาพูดกันว่า มาตรฐานค่าลิขสิทธิ์บทความที่ "หัน หัน" ตั้งขึ้นมานี้ จะช่วยให้นักเขียนจีนลืมตาอ้าปากได้ พร้อมทั้งกู้ศักดิ์ศรีความเป็นนักเขียนกลับมาด้วย นอกจากนี้คอลัมนิสต์ชื่อดังคนหนึ่งถึงกับเขียนบทความชมเชยว่า "หัน หัน" ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขาไม่ใช่นักเขียนหนุ่มหัวใจขบถธรรมดาๆ อีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นปัญญาชนที่เปี่ยมไปด้วยพลัง

"หัน หัน" สร้างชื่อด้านการเขียนตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยมต้น จากการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดบทความระดับชาติ พออายุได้ 17 ปี เขาก็หันหลังให้กับระบบการศึกษา และเลี้ยงชีพด้วยการเขียนบทความไปลงในนิตยสารต่างๆ ซึ่งหลายแห่งก็ตอบรับผลงานของเขาเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นพื้นฐานให้เด็กหนุ่มคนนี้มีความสามารถด้านการเขียนก็เพราะพ่อของเขาเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้

ไม่นานหลังจากนั้น รวมบทความชื่อ "หลิง เซี่ย อี่ ตู้" หรือ "ลบหนึ่งองศา" ก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2003 พร้อมทั้งรวมบทความอีก 3-4 เล่ม ภายในปีเดียวกัน สร้างชื่อให้เขาในฐานะนักเขียนที่อายุน้อยที่สุด หลังจากนั้นเขาก็คลอดนวนิยายเรื่องแรกชื่อว่า "ซาน ฉง เหมิน" หรือ "ประตูสามบาน" ซึ่งได้ทำลายประวัติศาสตร์การพิมพ์ของจีนลงอย่างสิ้นเชิง เพราะมีจำนวนพิมพ์ถึง 2 ล้านเล่ม นับเป็นวรรณกรรมที่ขายดีที่สุดในรอบ 20 ปีของจีน จนถึงปัจจุบันเขามีผลงานรวมเล่มแล้วทั้งสิ้น 14 เล่ม

 

แต่หลังจากงานเขียนช่วงแรกสร้างชื่อให้แล้ว เขาก็หันไปทำตามความฝันอีกด้านหนึ่งคือ การขับรถแข่ง เพราะเขาหลงใหลในการขับรถแข่งและทุ่มเทเวลาให้กับอาชีพนี้อย่างมาก จนงานเขียนค่อยๆ เบาบางลงไป แต่เขาก็เป็นคนฉลาดพอที่จะดึงแฟนนักอ่านไว้กับตัว โดยการเปิดบล็อกส่วนตัวลงบทความอย่างต่อเนื่อง และจุดประเด็นสำคัญๆ จนเป็นกระแสความสนใจจากสังคมได้เช่นเคย จนมีผู้เข้ามาอ่านบล็อกของเขามากถึง 200 ล้านครั้ง ทำให้เขากลายเป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนติดตามผลงานมากที่สุดบนโลกใบนี้เลยก็ว่าได้ แต่ใครที่ไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นเขาในชุดนักแข่งรถที่แสนเท่ห์ เดินออกมาจากสนาม แล้วค่อยถอดหมวกกันน็อกออก ปล่อยให้ปอยผมที่ตัดซอยเฉียงๆ เช่นเดียวกับดาราวัยรุ่นทั่วไป บวกกับหน้าตาที่จัดอยู่ในขั้นนายแบบ ก็คงไม่มีใครเชื่อว่า นี่คือ นักเขียนรุ่นใหม่ของจีนที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งกีฬาแข่งรถยังเสริมส่งให้เขาได้รับความนิยมจากหมู่วัยรุ่นมากยิ่งขึ้นด้วย เรียกได้ว่าทั้งหล่อ ทั้งมากความสามารถ ทั้งในสนามวรรณกรรมและสนามแข่งรถ กลายเป็นไอดอลคนสำคัญของวัยรุ่นจีนในปัจจุบัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขากลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น คือ การกล้าออกมาโต้เถียงกับนักวิจารณ์วรรณกรรมที่ชื่อว่า "ป๋าย เย่" ที่เขียนบทความในบล็อกของเขาโดยกล่าวว่า "งานของนักเขียนที่เกิดช่วงปี 1980-1989 เป็นผลพวงของช่วงทศวรรษแรกของการใช้นโยบายมีลูกคนเดียว นักเขียนส่วนใหญ่เหล่านี้ล้วนยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่สนใจการเมือง เติบขึ้นมาท่ามกลางการพะเน้าพะนอ ยังไงก็ยังเป็นเด็กไม่รู้จักโต"

"หัน หัน" ได้ลุกขึ้นมาตอบโต้บทความนี้ทันที ด้วยการเขียนบทความชื่อ "อย่าทำเป็นฉลาด พวกแวดวงวรรณกรรมเฮงซวย" หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้เขียนบทความโต้แย้งกันอีก จนกลายเป็นกรณีพิพาทที่ถูกทั้งสังคมจับตามอง โดยเกี่ยวพันในสาระด้านการแบ่งหววดหมู่วรรณกรรมหลังยุค 80 งานหลังยุค 80 มีคุณภาพเชิงวรรณกรรมจริงหรือ และนักเขียนหลังยุค 80 เป็นนักเขียนแท้จริงหรือไม่

วิวาทะครั้งนี้ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างมากจากคนร่วมเดียวกัน หรือแม้กระทั่งคนรุ่นก่อนหน้าจำนวนหนึ่ง ว่าเขาคือตัวแทนของยุคสมัย เป็นชาวจีนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดกล้าทำ และเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นิตยสารที่เขามีแผนจะวางแผงเมื่อเดือนตุลาคมปีเดียว ซึ่งเผยชื่อในภายหลังว่า "นิตยสารฟื้นฟูศิลปะและวรรณกรรม" ถูกชะลอการอนุมัติจากฝ่ายดูแลสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลอยู่หลายเดือน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมทางอินเตอร์เน็ตที่นับวันเข้มงวดขึ้นในจีน และด้วยพลังมวลชนที่ยืนอยู่เคียงข้างจำนวนมาก อาจเป็นเหตุผลที่นิตยสารของเขาคลอดช้ากว่ากำหนด

ซึ่งไม่นานเมื่อสะกัดถ่วงจนหมดทาง นิตยสารเล่มนี้ก็ออกมาอวดโฉมบนแผงหนังสือจีนได้อย่างภาคภูมิ

ชื่อเสียงของเขาไม่เคยเหือดหายไปจากวงการ บทความที่เฉียบคมยังคงออกมาเรื่อยๆ ทั้งกระตุ้นจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจต่อความเคลื่อนของสังคม กระตุ้นให้คนรุ่นหลังยุค 80 เช่นเดียวกับเขาให้ความสำคัญกับการเมืองมากขึ้น ทั้งเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในจีนเร็วขึ้น

การกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำา ซึ่งบางครั้งถึงขั้นก้าวร้าวของเขาถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์หรือยี่ห้อประจำตัวมาโดยตลอด

แต่ในช่วงตรุษจีนปีมะโรงนี้ เขาได้ลงบทความ 3 ชิ้นในบล็อกของตัวเองที่มีชื่อว่า การปฏิวัติ ประชาธิปไตย และอิสรภาพ ซึ่งหลายคนที่เข้ามาอ่านต่างแปลกใจในท่าทีที่เปลี่ยนไป เพราะมีเสียงเบาลง ไม่ได้ตะโกนสู่วงสังคมของประเทศสุดเสียงอย่างที่เคยมาก่อน ทำให้คนที่ติดตามอ่านผลงานของเขามาโดยตลอดเกิดข้อสงสัยไปต่างๆ นานา แล้วทุ่มเถียงกันเพื่อหาเหตุผลของพลังของบทความที่ลดน้อยลง บางคนก็สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการกดดันจากรัฐบาล บางก็ว่าความคิดที่เคยเชื่อมั่นในตัวเองเปลี่ยนไป

ด้วยความที่หลายต่อหลายคนคาดหวังในตัว "หัน หัน" อย่างสูง ถึงกับยกย่องเขาว่าเป็น "สุดยอดนักคิดของจีน" เมื่อบทความของเขาลดดีกรีความรุนแรงในการโจมตีรัฐบาลลง จึงทำให้ผู้อ่านหรือแฟนๆ ที่ติดตามผลงานรู้สึกเสียใจและเคว้งคว้าง เหมือนกัปตันเรือหลบหนีไปทั้งที่แล่นออกมากลางมหาสมุทรแล้วนั่นเลย

ดังนั้นจึงเกิดกระแสที่หลากหลายต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ หนึ่งในนั้นมีบล็อกเกอร์รายหนึ่ง เขียนบทความว่า หันหันต้องจ้างคนมาเขียนบทความแทนแน่นอน ไม่เช่นนั้นคุณภาพคงไม่ออกมาแบบนี้

ทำให้หันหันออกมาระบุสวนทันที "ถ้าใครจับได้ว่ามีคนเขียนบทความแทนเขา ยินดีจะจ่ายทันที 20 ล้านหยวน"

เหตุวุ่นวายทั้งหมดนี้มาจากทุกคนคิดว่า "หัน หัน" คือนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้ แต่ตัวเขาเองไม่ได้ยอมรับกับตำแหน่งอันสูงสุดนี้ เขาบอกว่า "ไม่มีนักคิดคนไหนเข้ามาใช้เวยโบ๋สักคน" ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเองก็เคยใช้มาก่อนเช่นกัน

"ทำไมคุณเลิกใช้เวยโบ๋" เป็นคำถามของสื่อรายหนึ่งที่มีโอกาสได้นั่งสัมภาษณ์เขา

"หัน หัน" ตอบว่า "เขาไม่เหมาะกับการมานั่งคิดเขียนข้อความที่จำกัดเพียง 140 ตัวอักษร เขาถนัดเขียนบทความมากว่า และการเข้ามาเขียนทวิตฯ ทุกวันเช่นนี้เป็นเรื่องที่เปลืองสมองมาก และมันเป็นการดึงทั้งข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ไปจากตัวผม"

"หัน หัน" ยังระบุอีกว่า เวยโบ๋ก็มีข้อดี เพราะทำให้สังคมจีนเกิดความโปร่งใสมากขึ้น แต่การส่งข้อความซ้ำ การแชร์หรือแบ่งปันกันไปเรื่อย รังแต่จะสร้างปัญหาให้เกิดเป็นวงขยายมากขึ้น

ส่วนเรื่องบทความ 3 ชิ้นล่าสุดของเขานี้ เขาก็ระบุว่าพอใจเป็นอย่างยิ่งและใช้เวลานานในการเขียน บางครั้งความสนใจของที่ตามอ่านเรื่องของเขาคงจะเน้นไปทางการเมืองมากเป็นพิเศษ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เด็กหนุ่มหลังยุค 80 สนใจเรื่องการเมืองอย่างมากเพียงเท่านั้น โดยไม่ได้กว่าถึงความคาดหวังของนักอ่านที่มีต่อตัวเขาแต่อย่างใด แต่หันประเด็นไปยังเรื่องการซื้อตั๋วรถไฟกลับบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีน

"หัน หัน" กล่าวว่า "ตอนแรกที่รู้เรื่องนี้ ผมให้เพื่อนรีบเข้าไปเช็กดูทันที แต่ปรากฎว่าเข้าได้เพียง 2 ชั่วโมง เว็บก็หลุดไป ตอนที่เห็นหน้าตาเว็บครั้งแรก ผมคิดว่าเป็นเว็บปลอม จึงบอกให้เพื่อนไปเข้าจากของกระทรวงการเลย เพราะนั่นต้องเป็นเว็บทางการแน่นอน แต่พอเพื่อนลองเข้าใหม่ก็ปรากฎว่ายังเป็นเว็บเดิม ซึ่งก็แสดงว่าเว็บของทางการทำออกมาได้เหมือนของปลอมมาก ไม่แปลกใจที่ระบบล่มตลอดเวลา และเมื่อถึงช่วงซื้อตั๋วจริงก็เป็นอย่างที่คาดไว้ ประชาชนต้องเสียเวลามานั่งกดๆ อยู่หน้าคอมพ์ตั้งนาน เสร็จแล้วก็ยังต้องไปต่อคิวรอรับบัตรที่สถานีอีก ไม่รวมถึงเหล่ากรรมกรที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ไม่มีความรู้ ซึ่งไม่มีทางซื้อตั๋วโดยสารได้แน่นอน"

เขาบอกว่าปัญหาวิธีคิดและบริหารของรัฐเช่นนี้เป็นประเด็นที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เป็นเรื่องที่เขาเองก็สนใจที่จะศึกษาอย่างละเอียดและเขียนถึง

นี่คือกระแสร้อนแรงทางความคิดที่มีต่อสังคมจีนที่เดินรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ได้ทิ้งประเด็นปัญหามากมายไว้ด้านหลัง "หัน หัน" ในฐานะนักคิดที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าเขาปฏิเสธที่จะยอมรับ แต่มวลชนก็เชื่อและยกย่องให้เขาเป็น

หนุ่มวัยเพียง 28 รายนี้ยังคงเป็นที่จับตามองและติดตาม ไม่ว่าผลงานที่ผลิตออกมาจะเป็นที่พอใจ ไม่สมใจ และสะใจอย่างไร การได้อ่านความคิดของเขา ก็เปรียบเสมือนได้เข้าใจกระแสของสังคมจีนยุคใหม่ได้อย่างถ่องแท้

พัลลภ สามสี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040