จีนปริทรรศน์:ไปดูงานศิลปะที่ไหนในเมืองไทย
  2012-03-28 16:59:04  cri

เมื่อครั้งกลับไปเมืองไทยเพื่อพักผ่อนประจำปีมีโอกาสไปงานเปิดตัวศิลปะในแกลเลอรี่ที่กรุงเทพฯ ตั้ง 4 งานในเดือนเดียวกัน และเพิ่งรู้ว่ายังมีสถานที่ดีๆ เหล่านี้อีกมากที่อาจจะไม่คุ้นเคยนัก

หลายคนจะเกิดคำถามว่า เหตุใดเราต้องไปดูงานศิลปะกันด้วย ไม่เห็นว่ามันจะสำคัญอย่างไรกับชีวิตของสักหน่อย แค่เรียนหนังสือ หรือทำมาหากินก็เหน็ดเหนื่อยเพียงพออยู่แล้ว และดูไปก็ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา แถมตัวเองก็ยังวาดรูปเองก็ไม่เป็น หรือไปดูก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าต้องตีความหมายที่ศิลปินต้องการสื่อได้อย่างไร

ซึ่งจริงๆ แล้วการดูงานศิลปะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานอะไรเลย แค่ใช้สายตา และความรู้สึกของเราเองว่าชอบหรือไม่ชอบผลงานนั้นๆ ก็พอแล้ว และไม่จำเป็นต้องไปทำความเข้าใจกับความหมายใดๆ หรือพะวงถึงเบื้องหลังว่าศิลปินคิดอะไรอยู่ขณะสร้างสรรค์งานขึ้นมา

สำคัญที่สุดคือ เรารู้สึกกับงานชิ้นนั้นอย่างไรก็พอ

หรือหลายคนมักรู้สึกว่า "งานศิลปะ" เป็นของสูงส่ง ต้องเป็นพวกติสต์ๆ เท่านั้นจึงจะดูรู้เรื่อง ด้วย

แต่ก่อนนั้นทั้งศิลปินและคนดูงานศิลปะต่างพาให้คนทั่วไปคิดเช่นนั้นจริงๆ เพราะชอบวางท่าโอ่อ่า และงานก็เป็นภาพที่ตั้งแสดงอยู่ในหอศิลป์อันเริดหรู ราคาแต่ละภาพก็ตั้งไว้ซะสุดโต่งเกินที่คนทั่วไปจะเอื้อมมือถึง

แต่จริงๆ แล้วผลงานที่แขวนอยู่บนผนังนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปซื้อหา ปล่อยให้คนที่เขามีสตางค์ทำหน้าที่ไป แต่ในช่วงเวลาจัดแสดงงานนั้น ซึ่งอาจะ 1 – 3 เดือน เราสามารถเดินเข้าไปดูในแกลเลอรี่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผลงานที่เราไปดูนั้นก็รอเราอยู่ไม่ได้ไปไหน

นอกจากนี้ในปัจจุบันมีงานศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "งานศิลปะร่วมสมัย" หรือ Contemporary Art ซึ่งเป็นศิลปะแนวใหม่ โดยเฉพาะงานแนวเชิงความคิดที่ได้ปลดเอางานศิลปะที่ใส่กรอบทองและแขวนอยู่ในแกลเลอรี่ชั้นสูงมาไว้ตามท้องถนน โรงงาน บ้านเรือน หรือแม้กระทั่งตามนาข้าว ทำให้คนทั่วไป หรือคนที่เคยสนใจงานศิลปะเลยได้มีโอกาสได้สัมผัสความเป็นศิลปะ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ถูกทำออกมาในรูปแบบของภาพเขียน หากแต่เป็นกิจกรรมกลุ่ม หรือกิจจกรรมที่แฝงเร้นแนวความคิดเชิงศิลปะลงไป ศิลปินบางคนก็ถนัดที่จะทำออกมาในรูปแบบวิดีโออาร์ต บางคนก็ทำออกมาในรูปแบบของการแสดงที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "เพอร์ฟอร์มแมนซ์ อาร์ต"

งานศิลปะร่วมสมัยนี้เป็นที่ชื่นชอบของคนยุคใหม่ เพราะได้ทำให้เส้นที่เคยขีดแบ่งระหว่างคนดู (ไม่ขอใช้คำว่า "ผู้เสพผลงาน" เพราะความหมายคำดูสูงเกินไป ซึ่งพวกนักวิจารณ์และศิลปินเก่าๆ ชอบใช้กัน) ลบเลือนออก ทำให้เราสามารถเข้าใจและซึมซับความสุนทรีหรือความสุขจากผลงานที่ศิลปินนำเสนอได้

หากถามว่าคนดูอย่างเราจะได้อะไรจากการดูงานศิลปะ

คำตอบก็คือ "ความคิดและความรู้สึก"

อย่างน้อยที่สุดนั้น การชมผลงานศิลปะจะทำให้เราเกิดความผ่อนคลาย จิตใจก็จะละเอียดอ่อนขึ้น ไม่หยาบกระด้าง

รู้ไหมครับว่าประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายนั้น ล้วนใช้ศิลปะนำการเมืองทั้งสิ้น และยิ่งเมื่อพัฒนาแล้วก็ยิ่งต้องใช้ศิลปะเข้ามาเป็นเครื่องพัฒนาคุณภาพทางจิตใจ รวมถึงจิตสำนึกด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีในสังคมด้วย

ตัวอย่างประเทศเกาหลีที่ส่งผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมเข้ามารุกจอโทรทัศน์ทุกบ้านเรือน จนแทบจะกลายเป็นเมืองขึ้นแล้วนั้น เขามีการปลูกฝังกันในเรื่องศิลปะมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและทำมาอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญพอกับตัวเลขรายได้ประชาชาติ และเป็นแผนสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลทุกสมัย เช่น เมื่อสร้างตึกก็จะมีกฏหมายบอกไว้ชัดเจนเลยว่าจะต้องใช้พื้นที่กี่เปอร์เซนต์ของอาคารมาเป็นที่แสดงงานศิลปะ บริษัทที่มีรายได้สูงก็ต้องมีงบประมาณสำหรับจัดซื้อผลงานศิลปะเช่นกัน การทำอย่างนี้ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เคยสนใจศิลปะก็จะได้ซึมซับไปอย่างไม่รู้ตัว ฝ่ายที่เป็นศิลปินก็จะได้มีรายได้มาจุนเจือชีวิต เพื่อให้เกิดความมั่นคงในจิตใจและสามารถผลิตผลงานที่ดีๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปได้ ส่วนฝ่ายที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือประชาชนคนเดินดินทั่วไป ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะในทุกๆ ที่

แม้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายเช่นนี้ แต่วงการศิลปะก็รุ่งเรืองไม่ใช่น้อย แค่เราอาจไม่รู้เท่านั้นเอง เพราะอยู่นอกเหนือความสนใจ อย่าง 4 งานที่มีโอกาสไปดูนั้น ถ้าไม่ได้รับการเชิญชวนจากเพื่นอฝูงก็ไม่รู้มาก่อนเช่นกนัว่าตั้งอยู่หนแห่งใด

แห่งแรกเป็นแกลเลอรี่ที่น่าสนใจและไม่ไกลแหล่งท่องเที่ยวสำคัญกลางกรุงที่เพิ่งเปิดมาปีสองปีที่ชื่อว่า "ตูดยุง แกลเลอรี่" ซึ่งตั้งอยู่ที่ตีนสะพานวันชาติ ติดกับวัดตรีทศเทพ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการจัดแสดงของศิลปินทั้งไทยและเทศอย่างต่อเนื่อง และยังจัดกินกรรมเชิงศิลปะอื่นๆ เป็นประจำด้วย อีกทั้งยังมีส่วนที่เป็นบาร์และร้านหนังสือเล็กอยู่ภายใน ทำให้การมาดูงานศิลปะที่นี่มีทางเลือกสำรองอื่นๆ ที่พาให้รื่นเริงใจได้ด้วย

แห่งที่สอง คือ ที่แกลเลอรี่ชื่อ 101 ต้นสน อยู่ในซอยต้นสน ตรงข้ามกับห้างเซนทรัลชิดลม มีผลงานของศิลปินไทยชั้นนำแสดงไม่ขาดสาย บางคนที่ชื่อเสียงขจรขยายระดับโลกอย่าง "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช" ก็เคยมาเปิดการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยที่นี่ ปราบดา หยุ่น นักเขียนซีไรต์ก็เคยมาจัดงานศิลปะขึ้นที่นี่ มีอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา มาปฐกถาประกอบด้วย ศิลปินสาวสวยที่ขยันทำงานที่สุดอย่าง "ยุรี เก็น สาคู" ก็เรียกได้ว่าเป็นศิลปินสังกัดแกลเลอรี่นี้ เมื่อไรมีงานใหม่เธอก็จะเปิดแสดงที่นี่เสมอ

แห่งที่สามชื่อ Sol Gallery อยู่ย่านทางด่วนรามอินทรา-เอกมัย ในครั้งที่มีโอกาสไปดูนั้นมีการแสดงผลงานของ จักรวาล นิลธำรงค์ ศิลปินหนุ่มที่เรียนมาทางด้านการทำงานประเภทวิดีโออาร์ต มีผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศหลายเรื่อง ครั้งนั้นเขามาแสดงร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน วิดีโอผลงานของเขาชุดนี้เป็นเรื่องราวของหญิงที่มีอายุ 200 ปี และอยากจะตายแต่ตายไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นอมตะ ซึ่งเขาบอกว่าได้ไอเดียมาจาก กฎหมายการอนุญาตให้ตายได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศฮอลแลนด์ที่เขาไปเรียนการทำหนังสั้นอยู่ที่นั่นมาหลายปี

งานที่ 4 เป็นผลงานภาพถ่ายของศิลปินจีน ซึ่งแสดงอยู่ที่ "ถัง แกลเลอรี่" ในอาคารสีลมแกลเลอเรี่ย นำเสนอผลงานแบบเซ็ตภาพถ่าย และที่โดดเด่นที่สุดในงานที่เขานำมาแสดงคือ ภาพชุด "อาย" ที่รวมใบหน้าเอียงอายของนางแบบสาวจีนจำนวนมาก ทำให้เราเห็นว่าลักษณะท่าทางของคนเราแตกต่างกันอย่างยิ่ง ทั้งที่กำลังมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกัน

"ถัง แกลเลอรี่" นี่เป็นการลงทุนของนักลงทุนจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลงานของศิลปินไทยนั้นสามารถเชื่อมโยงแนวความคิดกับศิลปะโลกได้ "ถัง แกลเลอรี่" นั้นเปิดสาขาแรกขึ้นที่กรุงเทพฯ จากนั้นค่อยขยายไปที่ฮ่องกง และสุดท้ายที่ปักกิ่ง เมืองซึ่งกำลังจะกลายเป็นเมืองหลวงของศิลปะในเอเชีย และ "ถัง แกลเลอรี่" ก็มีบทบาทอย่างสูงในการนำเสนอผลงานของศิลปินร่วมสมัยของจีนสู่สายตาชาวโลก รวมถึงศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก หากต้องการมาทำการแสดงที่จีน ส่วนใหญ่ก็จัดขึ้นด้วยการสนับสนุนของแกลเลอรี่แห่งนี้ทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเราสามารถเดินเข้าไปดูในแกลเลอรี่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และถือว่าเป็นกิจกรรมวันหยุดที่ดี ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้วันว่างให้เป็นประโยชน์ และยังเกิดความสุขความสุนทรีไปในตัว อาจจะไปเดินเล่นที่สีลมแกลเลอเรี่ยก็ได้ เพราะที่เป็นศูนย์รวมของแกลเลอรี่ชื่อดังหลายแห่ง หรือที่เดอะพรอมเมอนาร์ด หน้าโรงแรมราฟเฟิล ตรงถนนวิทยุ ไม่ก็แกลลเอรี่ในเขตซอยทองหล่อและเอกมัยก็มีมาก หรือจะไปที่หอศิลป์เจ้าฟ้าที่อยู่ด้านทิศเหนือของสนามหลวง แล้วเดินต่อมายังหอศิลป์วังท่าพระของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีงานเปิดแสดงตลอด นอกจากนี้ถ้าใครอยู่แถวรัชดาก็สามารถไปที่หอศิลป์ตาดู ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของอาคารบีเอ็มดับบลิวตรงก่อนถึงแยกเหม่งจ๋าย หรือง่ายๆ ก็นั่งรถไฟฟ้ามาที่ตลาดนัดจตุจักร ที่โครงการ 7 มีร้านขายภาพเขียนจำนวนมาก แม้ช่างวาดเหล่านี้จะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก หรือระดับประเทศ แต่ผลงานของพวกเขาก็เข้มข้นและน่าชื่นชม

จริงๆ แล้วสถานที่แสดงงานศิลปะนั้นมีจำนวนมากเหลือเกิน เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็แจงไม่หมดแล้ว ส่วนตามต่างจังหวัดนั้น ก็แน่นอนว่าตามคณะที่สอนศิลปะในแต่มหาวิทยาลัยก็ย่อมต้องมีหอศิลป์ของตนเองให้เข้าไปดูงานศิลปะได้

และงานแสดงส่วนใหญ่จะจัดอยู่ระหว่าง 2-3 เดือน แค่วนๆ ไปตามสถานที่ที่แนะนำนี้ รับรองว่าได้มีโอกาสสัมผัสงานศิลปะชนิดไม่ซ้ำได้ตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน

"ถ้าการกินอาหารทำให้ร่างกายเราเจริญเติบโต การได้ดูงานศิลปะก็สามารถทำให้จิตใจของเราพัฒนาด้วยเช่นกัน"

พัลลภ สามสี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040