สมัยที่คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือ ทั้งในฐานะบรรณาธิการหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก นักข่าวสายวรรณกรรม คอลัมนิสต์ และผู้ผลิตนิตยสารให้สมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ นานาในวงการตลอดเวลา
ใครเป็นนักเขียนใหม่มาแรง ตอนนี้เทรนด์หนังสือฮิตอ่านสไตล์ไหนกัน หนังสือขาย หนังสือกล่องแยกบทบาทกันทำอย่างไร รูปแบบปกปีนี้ควรออกมาแนวไหน คนอ่านเป็นใคร ทำไมนักเขียนไทยชอบคร่ำครวญว่าหนังสือเขียนมาดีๆ แต่ทำไมมีคนอ่านเพียงหยิบมือ และเมื่อไรจะมียอดพิมพ์เกิน 2,500 เล่มเสียที รวมถึงว่าทำไมไม่ยกกการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติเสียที คำถามเหล่านี้มีคำตอบจากการประชุม คิดวิเคราะห์จากข้อมูล และเข้าใจได้เองเมื่อผ่านวันเวลา
และเมื่อการอ่านเป็นวาระแห่งชาติเข้าจริงๆ แล้ว ก็ไม่เห็นว่าวัฒนธรรมการอ่านและธุรกิจหนังสือในเมืองไทยจะขยับขยายใหญ่โตกว่าแต่ก่อนแต่กี้แต่ประการใด
จนเกิดคำถามย้อนกลับว่า สังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการอ่านได้จริงๆ หรือ
ผู้คร่ำวอดในวงการหนังสือบอกว่า การอ่านไม่ได้แปลว่าอ่านหนังสือที่เป็นเล่มเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการอ่านหนังสือพิมพ์ การอ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือ การอ่านผ่านเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอีบุ๊ก น่าจะกลายเป็นอนาคตอย่างหนึ่งของการสร้างสังคมการอ่านได้ ดังนั้นสำนักพิมพ์ในเมืองไทยควรจะก้าวสู่เทคโนโลยีนี้กัน
ฝ่ายที่เห็นด้วยก็เริ่มพัฒนากันมาเรื่อยๆ จนเกิดอีแม็กกาซีนดีๆ ขึ้นมาในหลายเว็บไซต์ เกิดสังคมแห่งการแชร์ไฟล์ในโลกอินเตอร์เน็ต นำเอาผลงานวิชาการ หนังสือโบราณที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ หรือหนังสือส่วนตัวที่ไม่ติดยึดกับลิขสิทธิ์ก็เอามาเผยแพร่กัน
ส่วนฝ่ายที่เชื่อว่าการอ่านที่ดี ต้องอ่านผ่านหน้ากระดาษของหนังเท่านั้น ก็มุ่งมั่นผลิตหนังสือกันไป แต่ก็ต้องคอยมองหลังอยู่หวาดๆ โดยหวังว่าเจ้าอีบุ๊กจะไม่บุกทะลวงฟันแบบไม่รู้ตัว
ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้คงไม่ต้องระมัดระวังกันมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นการอ่านแบบใด ผลสุดท้ายแล้วก็สนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าคำตอบคือต้องการสร้างสังคมการอ่านขึ้น เพราะความแตกต่างอยู่ที่เครื่องมือเท่านั้น แต่พฤติกรรมเป็นเรื่องเดียวกัน
เปาโล โคเอโย นักเขียนชื่อดังชาวบราซิล ที่มีผลงานขายดีระดับเกินล้านเล่มมาโดยตลอด เขาเป็นผู้หนึ่งในขบวนการโจรสลัดหนังสือ ที่เปิดคนใครก็ตามขโมยหนังสือไปอ่าน โดยเอาผลงานทั้งหมดของตัวเองไปลงในเว็บไซต์เพื่อให้คนเข้ามาโหลดอ่านฟรี เพราะเขาคิดว่าตามหลักเหตุผลเรื่องการอ่านไม่ว่ารูปแบบใดก็ล้วนเกื้อกูลซึ่งกันและกันนั่นเอง
ผลสุดท้าย หนังสือทุกเล่มของเขาขายดีไม่เคยขาด จนได้รับการแปลไปหลายภาษาทั่วโลก
ซึ่งคนอ่านที่โหลดผลงานของ "เปาโล โคเอโย" ไปอ่านฟรี สุดท้ายล้วนกลับมาซื้อหนังสือเล่มไปอ่านอีกครั้ง หรือเก็บเป็นที่ระลึกทั้งหนัง เพราะคุณค่าของหนังสือ นอกจากผลงานสร้างสรรค์จากตัวหนังสือ รูปเล่มที่จับต้องได้ก็เป็นแพ็กเกจที่มีคุณค่าทางความทรงจำ และจิตใจใฝ่ครอบครองของมนุษย์
และท้ายที่สุดจริงๆ ผลงานหนังสือไม่ว่าจะเป็นรูปเล่ม หรือที่อยู่บนหน้าจอก็มีส่วนอย่างเท่าเทียมกันในสังคมการอ่าน และส่งเสริมกระบวนการศึกษาตลอดชีวิต
ดังนั้นความเชื่อของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการหนังสือพูดนั้นก็นับเป็นเรื่องที่ควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
แต่ในกระบวนการส่งเสริมการอ่านนั้น ย่อมต้องการช่องทางการกระจายหนังสือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงร้านค้า และห้องสมุดต้องมีอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
แต่เดิมนั้นอาศัยแค่ร้านหนังสือแบบสแตนอะโลนหรือร้านที่เอกชนเป็นเจ้าของเพียงร้านเดียว ซึ่งเปิดกิจกรรมเรื่อยมาจนกลายเป็นร้านเก่าแก่ประจำเมือง จังหวัด หรืออำเภอ อย่างในกรุงเทพฯ นั้นแต่เดิมมีร้านดวงกมล แพร่พิทยา ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนังสือเดินทาง ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ส่วนต่างจังหวัดก็มีร้านท้องถิ่นเก่าแก่ที่อยู่กันมานาน ทั้งร้านจำหน่ายและร้านที่เปิดให้เช่า แต่ร้านเหล่านี้ก็ล้วนแต่สุ่มเสี่ยงกับการล้มหายตายจาก ซึ่งในสมัยก่อนร้านโดดๆ ที่มีเอกลักษณ์ก็ถูกเบียดจากเชนร้านหนังสือขนาดใหญ่ อาทิ ซีเอ็ด ดอกหญ้า นายอินทร์ บีทูเอส ฯลฯ ที่ไปเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าและตามสถานที่สำคัญ ซึ่งใกล้ชิดกลุ่มคนอ่านมากกว่า อีกทั้งถ้าร้านหนังสือมากสาขาเหล่านี้มีสำนักพิมพ์ของตนเอง ก็สามารถขายลดราคาหนังสือได้ ผิดจากร้านเล็กที่ต้องขายตามราคาปก ทำให้ยอดจำหน่ายตก เพราะขาดกำลังในการแข่งขัน และต่อรองกับระบบธุรกิจขนาดใหญ่ บางร้านจึงต้องดิ้นรนเปิดขายกาแฟ ขายบรรยากาศเพิ่มเติม รวมทั้งจัดกิจกรรมสัมมนาต่างๆ เพื่อกระจายชื่อเสียงและให้อยู่รอดจากรายได้เสริม แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องปิดกิจการไปในที่สุด