"รถติด" คำนี้คงหนีไม่พ้นหากพูดถึงคำว่า "เมืองหลวง" เพราะที่ไหนในโลกก็มีปัญหาเดียวกัน และยังเป็นเรื่องที่จัดการยากที่สุดเรื่องหนึ่ง ดังจะเห็นว่าทุกครั้งที่ถึงฤดูกาลเลือกผู้ว่ากรุงเทพมหานครเรื่องนี้จะต้องถูกหยิบขึ้นมาเป็นนโยบายเรียกคะแนนเสียงเสมอ
ล่าสุดที่กรุงปักกิ่งเรื่อง "รถติด" นี้ได้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ด้วยว่าเมื่อคำนวนแล้วตลอดทั่วทั้งเมืองมีรถติดยาวเหยียดถึงราว 100 กิโลเมตร และทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่าเมืองที่มีถนนกว้างใหญ่และเป็นระเบียบเช่นนี้จะเกิดปัญหานี้ได้
สาเหตุหลักก็เพราะรายได้ของชาวจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การซื้อรถยนต์ขับจึงเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถฝันถึงได้ และยังเป็นการบอกฐานะของผู้ขับขี่ นอกจากนี้ยังไม่ต้องไปแออัดยัดเยียดอยู่ในรถไฟใต้ดิน หรือในรถเมล์
ตรงนี้เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเมืองไทย เพราะรถไฟใต้ดินของปักกิ่งนั้นถูกมาก จะเดินทางไปไกลแค่ไหนทั่วทั้งเมือง ก็เสียค่าตั๋วแค่ 2 หยวนเท่านั้น ทำให้ระบบขนส่งมวลชนนี้กลายเป็นของคนทุกชนชั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยและยากจน แต่ที่เมืองไทยเป็นรถไฟโดยสารสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป เพราะมีราคาสูง ดังนั้นที่ปักกิ่งจะเห็นกรรมกรแบกเสื้อผ้าที่ห่อด้วยผ้าห่ม บ้างก็เป็นพวกเก็บขวดขาย ขอทานใช้รถร่วมกับคนทำงาน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป
ดังนั้นผู้คนจึงนิยมที่จะมีรถส่วนตัวมากกว่า จะได้ไม่ต้องไปปะปนทนกลิ่นเหงื่อไคล และยังสะดวกสบายกว่าเป็นไหนๆ
ล่าสุดมีรายงานจากทางการว่า จำนวนคนซื้อรถใหม่เฉพาะในกรุงปักกิ่งตกวันละกว่า 1,900 คัน ซึ่งอาจจะรวมถึงผู้ที่ซื้อรถคันแรก ผู้ที่ซื้อคันที่สองหรือสาม และผู้ที่เอารถเก่าไปเปลี่ยนเป็นรถใหม่ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นจำนวนที่น่าตกใจนี้ขึ้นมา
และมีการสำรวจความต้องการซื้อรถยนต์ของประชาชนในกรุงปักกิ่งระบุว่าร้อยละ 60.2 กำลังวางแผนจะซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาขับกินลม และสัดส่วนของผู้หญิงที่ซื้อรถส่วนตัวเองก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งแต่ก่อนนั้นฝ่ายชายจะซื้อรถมากกว่า ด้วยเพราะค่านิยมเรื่องการสร้างฐานะเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้หญิงคนรักรู้ว่าขยันและมีเงินเลี้ยงดูให้สุขสบายได้ หนุ่มจึงต้องพากันซื้อบ้านและซื้อรถมาขับ แต่ในปัจจุบัน ราคาบ้านพุ่งขึ้นสูงเกินเอื้อม คนจึงหันมาซื้อรถกันก่อน อย่างน้อยก็มีสินทรัพย์ที่เป็นหน้าเป็นตาได้อย่างหนึ่ง
อีกสาเหตุหนึ่งซึ่งเกี่ยวโยงกันก็คือ ราคารถยนต์ในเมืองจีนนั้นไม่แพงมาก อย่างรถยี่ห้อปี่ย่าตี๋ หรือที่เมืองไทยรู้จักกันในชื่อ "เชอรี่" นั้น ก็ตกประมาณ 150,000 กว่าบาทเท่านั้น ส่วนรถจากยุโรปชาวจีนก็หาซื้อได้ง่ายเพราะส่วนใหญ่โรงงานก็อยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นโวล์กสวาเก้น หรือซีตรอง อีกทั้งยังมีนโยบายจากทางการสนับสนุนให้คนซื้อรถยนต์ใหม่ เพื่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ เลยยิ่งเป็นสาเหตุให้จำนวนรถบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ไว้อย่างน่ากลัวด้วยว่า หากจำนวนรถยนต์ออกใหม่ยังเพิ่มขึ้นในท้องถนนมากขนาดนี้ ในปี 2558 ความเร็วเฉลี่ยในการขับรถของชาวปักกิ่งจะเหลือเพียง 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในกรุงปักกิ่งนั้นคงเป็นเรื่องยากแล้วที่จะตัดถนนเพิ่มขึ้นอีก เพราะปัจจุบันนี้ก็มีถนนวงแหวนหลักถึง 6 วงด้วยกัน วนอยู่โดยรอบทั้งสี่ทิศ โดยมีถนนฉางอันตัดผ่ากลางเมือง และถนนเล็กๆ อื่นที่ต่อแขนงออกไป ผังเมืองก็ถูกวางออกมาอย่างเป็นระเบียบ ไม่ได้วกวนคดเคี้ยวเหมือนอย่างถนนในกรุงเทพฯ อีกทั้งแต่ละถนนก็มีขนาดความกว้างอย่างน้อยก็ฝั่งละ 2 ช่องทางเดินรถ พร้อมด้วยช่องทางสำหรับรถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วย
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ชัดเจนและทุกคนก็ปฏิบัติตามในเรื่องการห้ามรถขนาดใหญ่เข้าวิ่งในเมือง และห้ามมอเตอร์ไซค์ที่มีเครื่องยนต์วิ่งในเขตวงแหวนที่ 5 อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาปัญหารถติดนี้ได้
ล่าสุดทางการออกมาประกาศว่ากำลังว่าจะสร้างระบบรางบนท้องถนนที่ชื่อว่า "สเตรดดิ้ง บัส" โดยโครงสร้างจะคล้ายกับรถบัสที่ครอบถนนไว้สองช่องทางเดินรถและรถยนต์จะสามารถเข้าไปวิ่งในนั้นได้ ซึ่งน่าจะคล้ายกับบัสเลนส์ในเมืองไทยที่เคยพยายามทำ คือรถคันไหนจะเข้าสเตรดดิ้ง บัส ก็หมายความว่าจะต้องมีเป้าหมายในการวิ่งตรงไปในทิศทางที่รถบัสนี้จะไป ซึ่งผู้ออกแบบคงต้องการควบคุมความเร็วของรถบนท้องถนน ซึ่งรถที่วิ่งอยู่ในที่ครอบนี้จะแซงกันไม่ได้ ซึ่งเขาคาดว่าจะสามารถบรรเทารถติดได้
แต่ผมกลับคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า เพราะดูจากนิสัยการขับรถของคนจีนแล้ว ไม่น่าจะแก้ปัญหานี้ได้เลย
เพราะคนจีนยังคงขับรถไปในทุกที่ที่ตนเองต้องการ จอดทุกที่ที่อยากจอด กลับรถโดยไม่เคยมองป้ายห้าม ออกจากซอยก็ไม่เคยแตะเบรก รถที่มาตามทางเลี้ยวผ่านตลอดก็ไม่เคยชะลอให้รถที่มาทางตรงเลย เจอคนข้ามถนนก็เหยียบคันเร่งใส่ ในขณะเดียวกัน คนก็ข้ามถนนทุกที่และทุกสัญญาณไฟ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะดูเล็กน้อย แต่ก็ทำให้รถติดสะสมได้มากทีเดียว
เรื่องรถติดนี้คงเป็นที่ปวดหัวแก่ผู้บริหารเทศบาลกรุงปักกิ่งพอสมควร ถนนก็ตัดเพิ่มไม่ได้ สเตรดดิ้ง บัส ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ จะห้ามคนไม่ให้ซื้อรถรึก็ดูเหมือนจะขัดกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาลกลาง จะอบรมบ่มนิสัยคนขับ จับปรับเสียให้เข็ด ก็ดูเหมือนจะเป็นปลายเหตุเสียทุกเรื่องไป
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าปัญหาโลกแตกนี้ จีนจะสามารถจัดการได้อย่างทะลุปรุโปร่งเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่ประสบผลสำเร็จมามากต่อมากได้อย่างไร
แต่ที่แน่ๆ ภายในปีนี้จะมีสายรถไฟใต้ดินเปิดเพิ่มอีกหลายสายแน่นอน ซึ่งสามารถครอบคลุมเมืองหลวงแห่งนี้ได้ทุกพื้นที่ในราคาเพียง 10 บาทเช่นเดิม
พัลลภ สามสี