ชาวไทยอาจจะไม่คุ้นกันนักเมื่อกล่าวถึง "วันสตรี" เพราะกำหนดให้อยู่ในเดือนเดียวกันกับ "วันแม่" และเพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในปี 2003 ซึ่งก็หมายถึงเมื่อ 9 ปีก่อนนี้เอง แต่วันแม่กลับมีมาตั้งแต่เมื่อปี 1976 ผู้คนทั่วไปจึงพากันฉลองเฉพาะวันแม่แห่งชาติจนลืมนึกถึง "วันสตรี" วันที่ให้ความสำคัญกับฐานะและบทบาทที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงไทยทุกคน ซึ่งไม่เพียงแต่เชิดชูความเป็น "แม่" เท่านั้น เพราะถือได้ว่ายังแบเบาะนักในความรับรู้ของชาวไทยทุกกเพศทุกวัย
แต่ในยุคปัจจุบันที่เมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงน่าจะเชิดชู "วันสตรี" ของไทยในวันที่ "1 สิงหาคม" ให้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเสริมบทบาทของสตรีให้ก้าวหน้ามากยิ่งมากกว่าการเป็น "แม่" และ "เมีย" ดังที่เราเคยสอนๆ กันมา
แต่สำหรับทั่วโลกแล้ว "สตรี" ทุกคนมีการกิจกรรมเฉลิมฉลอง การเรียกร้องบทบาทความเท่าเทียม และการเชิดชูสตรีที่มีบทบาทสำคัญในประเทศของตนในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็น "วันสตรีสากล"
และประเทศจีนเองก็ยึดวันเดียวกันนี้ในการสดุดีเกียรติสตรี ซึ่งในพิธีอย่างเป็นทางการนั้นจะมีการเชิญสตรีที่มีบทบาทสำคัญในประเทศ รวมถึงสตรีจากนานาชาติที่สร้างคุณประโยชน์สำคัญให้กับประเทศจีนไปชุมนุมกันที่มหาศาลาประชาชน ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังมีการประชุมสองสภาฯ (สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนและสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน) โดยมีนายกรัฐมนตรีของจีนมาเข้าร่วมพิธี ส่วนองค์กรสตรีทั่วประเทศก็จะมีการจัดกิจกรรมเชิดชูบทบาทของสตรีในทุกท้องที่ รวมถึงบางหน่วยงานยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดพิเศษเฉพาะของเพศหญิงด้วย ไม่รวมองค์กรเอกชนที่ทำกิจกรรมเรียกร้องความเท่าเทียมกันของสังคมอยู่เนืองๆ
ในโอกาสวันสำคัญนี้ ผู้เขียนจึงได้ทำการสำรวจทั้งในเฟซบุ๊กที่เมืองไทย สอบถามเพื่อนร่วมงานชาวจีน และหาข้อมูลจากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษว่ามีวรรณกรรมเรื่องใดบ้างที่มีผู้หญิงมีบทบาทนำและเรื่องราวของพวกเธอประทับอยู่ในดวงใจไม่รู้ลืม