หวัง ชู่ เจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ ซึ่งถูกยกย่องว่า
เป็นรางวัลโนเบลด้านสถาปัตยกรรมของโลก
เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันที่ 4 ปีจะหมุนเวียนมาครั้งหนึ่ง มีการประกาศข่าวดีของวงการสถาปนิกโลก เมื่อมูลนิธิไฮแอ็ตเจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นรางวัลโนเบลด้านสถาปัตยกรรมของโลกได้มอบรางวัลประจำปี 2012 นี้ พร้อมเงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเหรียญเชิดชูเกียรติให้ "หวัง ชู่" สถาปนิกจีนวัย 48 ปี
รางวัลนี้มอบให้กับผู้ที่มีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของโลกที่ทำงานมาจนพิสูจน์แล้วว่าทรงคุณค่าท้ากาลเวลา สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นในวงการ และโดดเด่นในความคิดที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งในวัยขนาดนี้ ถือได้ว่า "หวัง ชู่" หนุ่มแน่นจนตัวเขาเองก็ตื่นใจที่ได้รับรางวัลนี้ไวเกินคาด
ตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา รางวัลนี้ได้มอบให้กับสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ของโลกมาโดยตลอด เช่น "ลอร์ด ปาลัมโบ" แห่งอังกฤษ "แฟรงก์ เกห์รี่" จากอเมริกา ผู้เป็นเจ้าของตึกทรงประหลาดทั่วโลก และกำลังควบคุมการก่อสร้างตึกใหม่เอี่ยมบนยอดเขาในฮ่องกง นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันชาญฉลาดที่สถาปนิกรุ่นหลังต่างต้องพึ่งพาในการออกแบบ และ "เป้ย หยู่ หมิง" สถาปนิกชาวจีน-อเมริกัน ที่ตอนนี้เดินทางกลับมาอยู่ในประเทศจีนแล้ว และเพิ่งทิ้งผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนลาวงการด้วยความชราไว้ที่พิพิธภัณฑ์ซูโจว
"นี่คือบทบาทของจีนในการพัฒนาแนวความคิดในการออกแบบโลก" โธมัส พริตซ์เกอร์ ประธานของมูลนิธิไฮแอ็ต กล่าวในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการทั้งหมดเมื่อตกลงใจมอบรางวัลนี้ให้กับชาวจีนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรก
ผลงานของหวัง ชู่ สำคัญอย่างยิ่งต่อความเร็วรวดในความทันสมัยของการพัฒนาเมือง เขาได้สร้างความกลมกลืนของอดีตและปัจจุบันขึ้นมาได้อย่างเหลือเชื่อ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ความเป็นเมืองของจีนพัฒนาไปไวมาก เกษตรกรพากันละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาหากินในเมืองใหญ่ อย่างเช่นที่นครฉงชิ่งที่เดียวมีประชากรมากขึ้น 32 ล้านคน ดังนั้นที่อยู่อาศัยจึงผุดขึ้นมากมายอย่างเห็นได้ชัด แต่ส่วนใหญ่มักจะมีรูปทรงง่ายๆ เป็นแท่งสี่เหลี่ยมสูงเสียดฟ้าเป็นหลัก เช่นเดียวกับเขตดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียงที่ต้องรองรับประชากรอพยพมากขึ้นทุกวันเพื่อป้อนสายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
ในฐานะที่ผลงานของ "หวัง ชู่" ส่วนใหญ่อยู่ในหางโจว เมืองเอกของมณฑทลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเขตของสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง จึงมีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและศิลปะของอาคารเพื่อการใช้สอยต่างๆ ให้มีรูปแบบที่มีศิลปะและน่าอยู่มากขึ้น เพราะการพัฒนาเมืองย่อมต้องการความอภิรมย์สมใจในการอยู่อาศัย ไม่ใช่เพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยมที่เอาไว้ซุกหัวนอน ผลงานการออกแบบอาคารของ "หวัง ชู่" ได้สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมและรากเหง้าประเพณีแบบจีนไว้ในทุกรายละเอียด ตั้งแต่รูปทรง วัสดุ และพื้นที่