สำหรับ "หวัง ชู่" เอง เมื่อทราบข่าวนี้ เขาก็กล่าวว่า "รู้สึกตกใจมากที่ตัวเองได้รับเกียรติให้ได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ในครั้งนี้ และทำให้เห็นว่าตัวเองทำงานมามากขนาดไหนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผลสำเร็จในครั้งนี้ล้วนมาจากการทำงานหนักและความวิริยะอุตสาหะ"
และสำหรับด้านการทำงานแล้ว เขากล่าวว่า "สำหรับตัวผมเองรู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมนั้นสำคัญอยู่ที่การเชื่อมโยงสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน ผมมักจะพูดเสมอว่าต้องการสร้าง "บ้าน" ไม่ใช่ "ตึก" ซึ่งผมหมายความว่ากำลังสร้างบางสิ่งที่สอดสัมพันธ์กับชีวิตและความเป็นอยู่ประจำวันจริงๆ"
อาคารเซรามิกขึ้นที่เมืองจินหวา มณฑลเจ้อเจียง
"หวัง ชู่" เกิดปี 1963 ที่เขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกสุดของประเทศจีน สำเร็จปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีหนานจิง ในปี 1985 หลังจากนั้น 3 ปี ก็จบปริญญาโทจากสถาบันแห่งเดียวกันนี้ แล้วเริ่มงานแรกที่สถาบันจิตรกรรมศึกษาเจ้อเจียง ที่เมืองหางโจว โดยทำหน้าที่วิจัยสิ่งแวดล้อมและสถาปัตยกรรมว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรเพื่อเป็นแนวทางให้การบูรณะอาคารเก่าแก่ของเมือง ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันไม่เกินหนึ่งปี เขาก็มีผลงานการออกแบบทางสถาปัตยกรรมชิ้นแรกของตนเกิดขึ้นที่เมืองเล็กๆ ชื่อ "ไห่หนิง" ไม่ไกลจากหางโจว โดยเป็นการออกแบบศูนย์เยาวชนขนาด 3,600 ตารางเมตร งานชิ้นนี้แล้วเสร็จในปี 1990
อีกเกือบ 10 ปีต่อมา เขาแทบจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับงานออกแบบใดๆ เลย เพราะสนใจไปขลุกอยู่กับช่างฝีมือชาวบ้าน เพื่อศึกษางานเชิงช่างและสะสมประสบการณ์ตรงในการก่อสร้าง จนถึงปี 1997 "หวัง ชู่" กับ "ลู่ เหวินยูว์" ผู้ภรรยา ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นในเมืองหางโจวชื่อว่า "บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมสมัครเล่น" เขาอธิบายเหตุผลของการตั้งชื่อเช่นนี้ว่า " สำหรับตัวผมเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือหรือช่างศิลป์ ล้วนเป็นมือสมัครเล่นหรือไม่ก็คล้ายๆ กันนี่เอง" ซึ่งในพจนานุกรมอธิบายความหมายของคำนี้ว่าคือ "บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กีฬา หรือนักกิจกรรมที่ทำด้วยความพึงพอใจ มากกว่าเพื่อผลกำไรหรือเหตุผลของความเป็นมืออาชีพ ซึ่งในความหมายของ "หวัง ชู่" แล้ว "ความพึงพอใจ" นี้ก็เท่ากับประโยคที่ว่า "ทำงานด้วยใจรัก" นั่นเอง
หอสมุดของวิทยาลัยเวินเจิ้ง ในมหาวิทยาลัยซูโจว
ราวปี 2000 บริษัทของเขาก็แล้วเสร็จงานว่าจ้างออกแบบชิ้นแรก นั่นก็คือ หอสมุดของวิทยาลัยเวินเจิ้ง ในมหาวิทยาลัยซูโจว งานชิ้นนี้สะท้อนปรัชญาการทำงานของเขาที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อรายละเอียดของสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมการจัดสวนของซูโจว จึงทำให้อาคารหอสมุดนี้แวดล้อมด้วยผืนน้ำและภูเขาอย่างลงตัว และพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งถูกออกแบบให้อยู่ใต้ดิน ซึ่งอาคารเล็กสี่แห่งที่เชื่อมตัวกับอาคารหลักใต้ดินมีขนาดไม่ใหญ่นัก และผลงานออกแบบชิ้นนี้ได้รับรางวัลศิลปะการออกแบบสถาปัตยกรรมของจีนในปี 2004
นอกจากนี้ผลงานหลักที่สำคัญของเขาทั่วประเทศจีนยังมีอีหลายแห่ง อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยหนิงโป ที่สร้างแล้วเสร็จในปี 2005 และการออกแบบหมู่อาคารที่อยู่อาศัยในหนิงโปอีก 5 หลัง เป็นตึกที่มีรูปทรงแปลกต่างไปจากอาคารทั่วไป ซึ่งได้รับการยอมรับจากรางวัลโฮลซิม(Holcim Award) สำหรับสิ่งก่อสร้างถาวรในเอเชียแปซิฟิก ในเมืองเดียวกันนี้เอง เขาได้รังสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว นั่นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หนิงโป" ที่แล้วเสร็จในปี 2008 และในเมืองหางโจวที่เขาอาศัย "หวัง ชู่" ได้ออกแบบวิทยาลัยศิลปะเซียงซาน แห่งประเทศจีน ทั้งโครงการส่วนที่ 1 และ 2 แล้วเสร็จในปี 2004 และ 2007 ตามลำดับ