เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำพจนานุกรมนั้นเป็นงานที่ยากเย็นแสนสาหัส เป็นงานที่ต้องมีความถูกต้องที่สุด ใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างที่สุด ดังนั้นรางวัลนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะมอบให้อาจารย์นักแปลผู้วิริยะท่านนี้
พจนานุกรมจีน-ไทย
นอกจากนี้ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมสิรินธร และสถาบันไทยศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และนายกสมาคมการศึกษาภาษาไทยแห่งประเทศจีน ทั้งยังเคยถวายการสอนภาษาจีนแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนกลายเป็นพระอาจารย์ที่สมเด็จพระเทพฯ ต้องเรียกเข้าเฝ้าฯ ทุกครั้งที่เสด็จฯ มาเยือนเมืองจีน
และวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีในฐานะศิษย์เก่าจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยและเหล่าคณาจารย์ที่สอนภาษาไทย รวมทั้งศาสตราจารย์เผย์ เสี่ยวรุ่ย ก็มารับเสด็จฯ เช่นเคย
ท่านที่สองคือ ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน แห่งมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง นอกจากการเขียนตำราเรียนภาษาจีนให้คนไทยแล้ว ท่านยังทำงานเขียนด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ไม่นับการสอนที่ผลิตนักข่าว นักแปล และล่ามที่เชี่ยวชาญภาษาไทยออกมาหลายต่อหลายรุ่น
ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน และผู้เขียน
นอกจากนี้อาจารย์ชิวมักใช้เวลาว่างทำงานแปลเอกสารโบราณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความชื่นชอบส่วนตัว ทำถึงขนาดว่าตาเจ็บเลยทีเดียว เพราะต้องตรวจสอบหลายชั้นกว่าจะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ได้ นั่นก็เพราะท่านต้องการให้ผู้อ่านที่เป็นชาวไทย เข้าใจผลงานของท่านได้อย่างถ่องแท้ และที่สำคัญก็คือเข้าใจประวัติศาสตร์วันฒนธรรมจีนได้อย่างลึกซึ้ง
หนังสือด้านประวัติศาสตร์เล่มแรกที่ท่านส่งออกสู่สายตาชาวไทยผ่านสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม แห่งค่ายมติชนเมื่อปี 2547 คือเรื่อง "ถังซําจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง" ซึ่งเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 1,400 ปีก่อน ที่พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองอย่างยิ่งในจีน และหนังสือเล่มนี้ยังเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์สำคัญที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนพุทธภูมิในยุคนั้น ซึ่งไม่เคยมีหลักฐานชิ้นใดเคยบันทึกไว้ก่อน เพราะว่าในดินแดนชมพูทวีปไม่มีความนิยมในการจดบันทึกเช่นที่ชาวจีนทำกัน ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการพุทธศาสนาโลก