เมื่อบ่ายวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์กรุงเทพมหานคร มีการจัดพิธีมอบรางวัลนักแปลและล่ามดีเด่น ครั้งที่ 6 หรือรางวัล "สุรินทราชา" จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งมีการเสวนาเรื่อง "นักแปลและล่ามกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน" โดย ม.ล.สิทธิไชย ไชยยันต์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท ปตท.จำกัด และ ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผอ.ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์
ผู้ได้รับรางวัลนักแปลและล่าม ครั้งที่ 6 พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน
สำหรับนักแปลและล่ามที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณประจำปีนี้ แบ่งเป็นนักแปลจำนวน 8 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ศ.ชิว ซูหลุน, ภิกษุณีธัมมนันทา (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ษัฏเสน กบิลสิงห์), ศ.เผย์ เสี่ยวลุ่ย, ดร.วีรวิทย์ (วิทยา) เศรษฐวงศ์, รศ.ดร.ศรีเพ็ญ เศรษฐเสถียร, นางสุภาวดี โกมารทัต (อรดี สุวรรณโกมล), นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) และ รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร ส่วนล่ามดีเด่น คือ รศ.ศศี จันทร์ประพันธ์
ซึ่งรายนามทั้งหมดนี้ผ่านการทำงานคัดกรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านดังต่อไปนี้ ประพัฒน์ แสงวณิชย์ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ, เพ็ญศรี เคียงศิริ, จงจิต อรรถยุกติ, ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล, จิตติ หนูสุข เป็นกรรมการ และเลขานุการคือ ปกรณ์ กฤษประจันต์
สำหรับที่มาของรางวัลนี้มาจากชื่อของ พลโท พระยาสุรินทราชา สยามราชภักดี พิริยะพาหะ ซึ่งมีนามเดิมว่า "นกยูง วิเศษกุล" อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข อดีตสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ที่สำคัญท่านเป็นผู้แปลนวนิยายเรื่อง "ความพยาบาท" จากเรื่อง Vendetta ของมารี คอเรลลี โดยใช้นามปากกาว่า "แม่วัน" ขึ้นเมื่อ 119 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นนิยายแปลเล่มแรกของไทย
จากการที่ท่านเป็นผู้แปลนวนิยายเรื่องแรกของไทย ทำให้สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยยกย่องท่านเป็นเสมือนบิดาของวงการการแปล จึงเชิญชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อรางวัลประจำปีที่มอบให้กับนักแปล และล่ามดีเด่นว่า "รางวัลสุรินทราชา"
จะเห็นได้ว่าในจำนวนนักแปลทั้ง 8 ท่านนั้น มีอยู่สองท่านที่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาวจีนที่สร้างคุณูปการต่อการถ่ายทอดภาษาจีนสู่ภาษาไทย และยังเป็นบุคคลสำคัญในฐานะผู้ถ่ายทอดการเรียนรู้ภาษาไทยให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาชาวจีนมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
ซึ่งนับเป็นการสมเกียรติอย่างยิ่งที่จะเชิดชูท่านอาจารย์ทั้งสองในฐานะนักแปล และถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของสมาคมนักแปลและล่ามที่ไม่ได้จำกัดรางวัลนี้เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น เพราะยังมีชาวต่างชาติอีกมากมายหลายท่านที่สร้างคุณงามความดีให้กับวงการศึกษาภาษาไทยและส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้จากภาษาอื่นสู่ภาษาไทย
ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านเมื่อได้รับเกียรติจากทางสมาคมเช่นนี้จึงบินลัดฟ้าจากกรุงปักกิ่งเพื่อไปเข้าร่วมงานด้วยตนเองอย่างภาคภูมิใจ
ศาสตราจารย์เผย์ เสี่ยวรุ่ย
อาจารย์ชาวจีนท่านแรกได้รับรางวัล "สุรินทราชา" มีชื่อติดหราอยู่บนปกพจนานุกรมจีน-ไทย จนเป็นที่ติดตาของผู้ที่เรียนรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดี เพราะได้รับการชื่นชมว่าเป็นการเรียบเรียงพจนานุกรมที่กระชับและเข้าใจง่ายกว่าฉบับอื่นๆ ที่เคยทำมาก่อน ท่านผู้นี้ก็คือ ศาสตราจารย์เผย์ เสี่ยวรุ่ย