อินทนิล อินไชน่า : ศาสตราจารย์กิตติคุณพีระศักดิ์ จันทร์ประทีป สะท้อนมุมมองจากการท่องปักกิ่ง
  2012-07-16 17:23:22  cri

จีนที่เรารู้จักจากสื่อกับการได้มาสัมผัสมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

"เป็นครั้งแรกที่มาเยือนปักกิ่ง หลังจากได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนมาเยอะ ทำให้แปลกใจมากเลยว่า ประเทศจีนซึ่งมีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ปักกิ่งซึ่งมีประชากร 10 กว่าล้าน แต่ระบบ ระเบียบ วิธีการที่เขาบริหารกรุงปักกิ่ง ผมมองว่ามีระเบียบวินัย จังหวัดซึ่งมีประชากรมากอย่างนี้ สามารถทำให้สิ่งต่าง ๆ ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชน ทำให้ประชากรในกรุงปักกิ่งสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามเวลาที่กำหนด เพราะว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเหมืองหลวงประเทศอื่น ๆ แล้วจะมีปัญหามาก เพราะคนส่วนใหญ่จะมีรถส่วนตัว อาจเป็นเพราะว่าระบบขนส่งมวลชนต่างหากที่เป็นปัญหา ประเทศอื่น ๆ ระบบขนส่งมวลชนแพงมากและขึ้นราคาอยู่เรื่อย แต่พอมาเห็นที่กรุงปักกิ่ง ผมว่าผู้บริหารประเทศมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แล้วก็มองเห็นว่า กุญแจสำคัญที่สุดคือการขนส่งมวลชน ให้มีมาก ให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลา และที่สำคัญที่สุดคือราคาถูกแต่ไม่ใช่ฟรี บางประเทศให้บริการขนส่งมวลชนฟรี ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ยั่งยืน มันเป็นแนวการเมืองซะมากกว่า เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้บริหารประเทศมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้คนของประเทศนี้มีความสะดวกสบายตามตามความจำเป็นที่สมควร เรื่องการขนส่งมวลชนเป็นประเด็นที่ประทับใจอย่างหนึ่ง "

ให้สัมภาษณ์ที่สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ณ กรุงปักกิ่ง

เรื่องอาหารการกินก็เป็นอีกประเด็นที่อาจารย์ประทับใจ

"ผมคิดว่าสำคัญมาก ๆ เรื่องอาหารการกินเท่าที่สังเกตดู คนส่วนใหญ่มีกินกันอย่างพอเพียง คุณภาพอาหารก็ดี ก็คงสะท้อนปรัชญาของชาวจีนว่าต้องอยู่ดีกินดี"

โบราณสถานแหล่งแสดงศิลปะ วัฒนธรรม แสดงปรัชญาของชาวจีนซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวในปัจจุบัน อีกความประทับใจของอาจารย์

"เราไปดูพระราชวังฤดูร้อน ซึ่งก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ผู้มีอำนาจสมัยก่อนจะเป้นกษัตริย์ก็ตาม ราชินีก็ตาม เมื่อมีทรัพย์สมบัติก็อยากสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นประโยชนื ผมว่าวันนี้จีนได้ใช้ประโยชน์ทรัพยากร โบราณสถานต่าง ๆ ในแง่แสดงถึงศิลปะ วัฒนธรรม แสดงถึงปรัชญาของชาวจีน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คือ นักท่องเที่ยวเข้ามาดู

ถ่ายภาพกับคุณหานซี รักษาการผู้อำนวยการภาคภาษาไทย

และคุณเจิ้ง หยวนผิง รองผู้อำนวยการภาคภาษาไทย ซีอาร์ไอ

ส่วนที่อื่น ๆ ที่เราไปดู อย่างพระราชวังต้องห้าม ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์จริง ๆ เพราะผู้มีอำนาจสมัยก่อนได้สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ไว้เป็นที่ระลึก แล้วก็เป็นการเก็บทรัพย์สมบัติของประเทศไว้ แทนที่จะเก็บไว้เป็นการส่วนตัว เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก และแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละองค์จักรพรรดิก็สร้างในส่วนที่พระองค์สนใจ ส่วนที่ชอบ แล้วก็ทิ้งไว้เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลัง ที่จะได้รู้ ได้ดู ได้เห็น ได้ศึกษาว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นความต้องการ เป็นความพยายามของมนุษย์ที่สามารถทำขึ้นมาได้"

เรื่องความสะอาดดูจะเป็นอีกประเด็นที่อาจารย์ประทับใจมาก

"ผมแปลกใจมาก สมัยก่อนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเคยมาที่คุนหมิง ไม่ค่อยประทับใจ แต่มาคราวนี้ประทับใจมาก เพราะว่าประชากรปักกิ่งมีตั้งสิบกว่าล้าน ทำอย่างไรที่ผู้ให้บริการ ผู้กำกับบริการ เรื่องการบริการประชาชนหรือ public services สามารถทำได้ดีขนาดนี้ เพราะผู้คนที่มาดู มาเยี่ยม มาเดินทางนี่มากมาย มีตลอดเวลา การบริการนี่ผมว่าเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องมีผู้กำกับการด้วย ผมพยายามเปรียบเทียบกับเมืองฝรั่ง เพราะว่าเคยเรียนหนังสืออยู่ที่ปารีส หรือไปเที่ยวที่ลอนดอน ก็เห็นความแตกต่าง ที่สำคัญคือความสะอาดของรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่ง มีความสะอาดมาก โดยเฉพาะทางเดินสถานีต่าง ๆ ภายในตัวรถไฟใต้ดินเองก็ระบบดูเหมือนจะดีกว่าของฝรั่ง อาจจะว่าเกิดใหม่กว่าหรืออะไรไม่แน่ใจ แต่ว่าระบบค้อนข้างจะดี พยายามดูว่าการบอกสัญญารณต่าง ๆ ซึ่งเราเป็นชาวต่างประเทศก็เห็นภาษาอังกฤษ และมีสัญญาณที่บอกว่า กำลังจะเดินทางถึงสถานีนี้ สถานที่ผ่านมาสัญญาณก็จะหายไป ๆ ซึ่งเมืองฝรั่งไม่มีอย่างนี้ ความสะอาด การตรงเวลา และความนุ่มนวลของรถไฟใต้ดินดีทีเดียว อันนี้ผมคิดว่าเป็นจุดเด่นของรถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่งครับ "

รถไฟใต้ดินกรุงปักกิ่ง

นี่คือเสียงสะท้อนเกี่ยวกับสภาพทั่ว ๆ ไปจากกการท่องปักกิ่งของศาสตราจารย์กิตติคุณพีระศักดิ์ จันทร์ประทีป นายกสภามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ตอนหน้ายังมีมุมมองที่น่าสนใจด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพ โปรดติดตามนะคะ.


1 2
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040