อินทนิล อินไชน่า:เติ้ง เพ่ย เพ่ย สะท้อนความต่างระหว่างห้องเรียนจีน-ไทย
  2012-08-06 16:20:54  cri

ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ในจีน นักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งจะพากันไปฝึกงานตามหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เติ้ง เพ่ย เพ่ย สาวน้อยน่าใส ชื่อไทยคือ สุภัทรา ชื่อเล่น ชมพู่ (เหตุที่ชื่อนี้เพราะชอบรับประทานผลไม้ชนิดนี้มาก ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ซึ่งเรียนภาษาไทย มาฝึกงานที่สถานีวิทยุซีอาร์ไอ เธอเคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นเวลา 3 เดือน เราอยากรู้ว่า บรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียน สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลับระหว่างจีนกับไทย มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพ่ยเพ่ย สะท้อนให้ฟังตั้งแต่เรื่องแรกที่ทำให้เธอกังขาแล้วต่อมากลายเป็นความประทับใจสุดสุด คือเรื่องถอดรองเท้าเข้าห้องเรียนของนักศึกษาไทย

"หนูไปเข้าห้องเรียนไทยครั้งแรก เรื่องประทับใจที่สุดก็คือ นักศึกษาไทยชอบถอดรองเท้าทุกคน หนูก็คิดว่า ทำไมนักศึกษาไทยชอบทำเรื่องนี้ที่ไม่มีมารยาทมากที่สุดสำหรับคนจีน หนู แปลกใจมาก"

การถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน สำหรับคนจีนถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมารยาท จะต้องใส่รองเท้าก่อนตลอดเวลา ในห้องเรียนก็ใส่ จึงจะเป็นเรื่องที่มีมารยาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนปักกิ่ง ถ้ามีมารยาทจะต้องใส่ถุงเท้าด้วย

แต่พอไปเห็นนักเรียนไทยเข้าห้องเรียนโดยถอดรองเท้า เข้าห้องเรียนด้วยเท้าเปล่า เรารู้สึกว่า ทำไมดูเหมือนว่าเขาไม่มีมารยาท อันนี้เพราะว่า วัฒนาธรรมเราต่างกัน คนไทยเขาถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน

" ต่อมาก็ได้คำตอบ เขาบอกว่าถ้าใส่รองเท้าจะทำให้พื้นสกปรก ถ้าถอดรองเท้า เป็นเท้าเปล่าจะทำให้พื้นสะอาดกว่า สามารถนั่งบนพื้นได้เลย อันนี้ก็คือรู้เหตุผลแล้วว่า วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ข้อแตกต่างข้อที่สองที่ชมพู่สังเกตเห็นคืออะไร?

"นักศึกษาไทยชอบทำงานกลุ่ม เก่งงานกลุ่มมาก แต่ถ้าเป็นนักศึกษาจีนเราไม่ค่อยชอบทำงานกลุ่ม ทำงานใด ๆ ก็ชอบทำงานคนเดียว ไปอยู่ห้องเดียวแล้วทำงานคนเดียว ไม่ค่อยชอบร่วมมือกับนักศึกษาคนอื่น หนูคิดว่านี่ก็คือเรื่องดีที่สุดสำหรับนักศึกษาคนไทย "

การที่นักศึกษาจีนไม่ชอบทำงานกลุ่มชอบทำงานเดี่ยว น่าจะเกี่ยวข้องกับการเป็นลูกคนเดียวไหม เพราะนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ลูกคนเดียว มีพี่มีน้อง แชร์กันในเรื่องต่าง ๆ ก็เลยทำให้การทำงานกลุ่มไม่ใช่เรื่องยาก เธอบอกว่า

"น่าจะเกี่ยวกันนิดหน่อย

ตอนนี้สังคมจีนส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยว คือมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายแต่มีลูกคนเดียว ใครก็คิดว่าตนเองเป็นศูนย์ของครอบครัว เป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายก็ได้"

ความแตกต่างอีกด้านที่ชมพู่เห็นชัดคือ นักศึกษาไทยชอบวาดภาพประกอบในงานที่ส่งอาจารย์

"นักศึกษาไทยทำงานสวยมาก ชอบวาดเขียน ทำให้กระดาษการบ้านสวยมาก

เวลาที่มีงานจะส่งครู นักศึกษาไม่ใช่เพียงแค่เขียนตัวหนังสือลงไป แต่ยังมีการออกแบบ ทั้งการเขียนด้วยมือ วาดภาพประกอบไปด้วย คิดว่านักศึกษาไทยมีศิลปะมาก

ที่จีนคือ อาจารย์สั่งอะไร เราก็ส่งอย่างนั้น ถ้านักศึกษาเขียนดอกไม้ ไปวาดต้นไม้อยู่ในกระดาษการบ้าน อาจารย์จะคิดว่าไม่มีมารยาทนัก"

สำหรับเรื่องขนาดห้องเรียน เธอบอกว่า

"ถ้าเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยราชภัฏกับมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ที่มหาวิทยาลัยเราห้องเรียนจะเล็กกว่าห้องเรียนของราชภัฏ เพราะว่าในมหาวิทยาลัยเราทุกห้องทุกชั้นจะมีนักศึกษาไม่เกิน 30 คน แต่ที่เชียงใหม่ห้องละประมาณ 50- 60คน มีจำนวนนักศึกษามากกว่า"

การไปเรียนที่ไทยซึ่งต้องร่วมชั้นกับเพื่อนนักศึกษาเยอะ ๆ ทำให้เธอสนุก

"ชมพู่ สนุกมากค่ะ เพราะเขาคิดว่าเราเป็นฝรั่ง มาจากต่างประเทศ เขาก็ชอบมาคุยกับเรา ก็ถามเรื่องนี้ถามเรื่องนั้น ถามว่าที่ปักกิ่งเป็นยังไงบ้าง มีอะไรที่เราไม่เคยเห็น คนไทยชอบถามเรื่องหิมะมากสุด เพราะว่าที่เมืองไทยไม่มีหิมะ เขาก็ชอบถามว่าที่ปักกิ่งหิมะตกไหม

ไปช่วงไหนจึงเจอหิมะ"

การเข้าห้องเรียนของนักศึกษาไทยกับนักศีกษาจีนมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?

" แตกต่างกันมาก ที่เมืองไทย ไม่ว่าเป็นนักศึกษาหรือว่าอาจารย์ ไม่ค่อยชอบตรงเวลา แต่ที่ประเทศจีนนักศึกษาและอาจารย์ก็ต้องตรงเวลา นักศึกษาต้องมาก่อนอาจารย์

ประมาณสิบนาที จะไปพร้อมที่ห้องเรียน เพื่อตั้งใจฟังอาจารย์ นักศึกษาจีน ทุกคนต้องอยู่ในหอพักของมหาลัย แต่ที่เมืองไทยไม่มีหอพักสำหรับทุกคน อาจมีบางส่วน บางที่ ของจีนนี่ถ้ากลับบ้านต้องคอยวันหยุด"

แม้ตอนแรกเธอจะไม่ได้เลือกมาเรียนภาษาไทย แต่เมื่อมหาวิทยาลัยให้เธอเรียน เธอพยายามทำความรู้จักกับประเทศไทย จากสื่อต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์ ละคร เพลง เธอบอกว่า ตอนนี้เธอรู้สึกดีใจที่ได้เรียนภาษาไทย คนไทยใจดี ตอนอยู่ที่เชียงใหม่ 3 เดือน มีปัญหาอะไร คนไทยพร้อมช่วยเหลือ มีคนหนึ่งเป็นแม่ค้าผลไม้ ใจดีมาก จะคอยถามไถ่ทุกข์สุขต่าง ๆ และบอกเสมอว่าถ้ามีอะไรให้ช่วย บอกได้เลยนะ คนไทยน่ะยิ้มเก่งใจดี ถ้ามีโอกาสเธออยากไปเที่ยวไทย แต่ถ้าไปทำงานทั้ง ๆ ที่อยากไป แต่ก็คงต้องคิดหนัก เพราะพ่อแม่จะเป็นห่วง

เธอทิ้งท้ายว่า " แม้ต่างวัฒนธรรม แต่ถ้าเราพร้อมที่จะเรียนรู้ และทำความเข้าใจ ก็น่าจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข "

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040