สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงผันแปรไม่มั่นคง ซึ่งทำให้อุปสงค์ในต่างประเทศลดน้อยลง ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศของจีนอย่างมาก และทำให้วิสาหกิจจีนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ในการประกอบกิจการ ด้วยสาเหตุดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงได้ใช้มาตรการ และปรับนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ ช่วยให้วิสาหกิจสามารถพ้นจากภาวะยากลำบากได้ ในรายการวันนี้ เราจะคุยในประเด็นเกี่ยวกับ จีนใช้มาตรการ รับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันแปรไม่มั่นคง
จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO) มาตั้งแต่ปี 2001 ขณะนั้นยอดมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของจีนคิดเป็น ประมาณ 4 % ของยอดมูลค่าการค้าทั่วโลกเท่านั้น และในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าและส่งออกของจีนเติบโตในอัตราค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน จีนพัฒนาเป็นประเทศที่มีการนำเข้ามากเป็นอันดับ 1 และการส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในสภาวะซบเซา อุปสงค์ในต่างประเทศลดลง ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานแพงขึ้น ทั้งนี้ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่ต้นทุนประกอบการถีบตัวสูงขึ้น แหล่งเงินทุนและสินเชื่อหายาก เรื่องต้นทุนประกอบการที่ถีบตัวสูงขึ้นนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนต้องเผชิญ เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจีนมีขีดความสามารถในการต่อรองราคาวัตถุดิบต่ำ ขณะที่ไม่สามารถผลักดันต้นทุนเหล่านั้นให้แก่ผู้บริโภคได้ เพราะไร้ความสามารถในการกำหนดราคาในตลาด ด้านแหล่งเงินทุนและสินเชื่อหายากเกิดจากผลการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจีนเป็นไปอย่างเข้มงวด ทำให้ระบบหมุนเวียนของเงินทุนช้าลง
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก และกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการอื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยให้วิสาหกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมพ้นจากภาวะยากลำบาก
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนพยายามกระตุ้นให้นักธุรกิจจีนมีแนวคิดทางการตลาดที่เฉียบคมมากขึ้น มีจิตสำนึกความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อที่จะสร้างความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของสินค้าจีน
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยังให้คำแนะนำว่า จีนต้องอาศัยการลงทุนหรือร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศในประเทศอื่นๆ ใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานผลิตใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเรื่องโควตา รวมถึงหลีกเลี่ยงการปกป้องทางการค้าระหว่างประเทศ ลดปัญหาความขัดแย้งด้านการค้า ซึ่งจะช่วยรักษาระดับการส่งออกสินค้าจีนอย่างสมเหตุสมผล