"มาที่การใช้ชีวิตบ้าง การใช้ชีวิตที่เมืองจีนมาแรกๆผมไม่ค่อยชิน เพราะแน่นอนล่ะ จากบ้านเกิดเมืองนอนมามันแปลกถิ่นไปหมด แต่พออยู่ไปสักพักเริ่มดีขึ้น เริ่มพอสื่อสารกับเขาได้บ้าง คือต้องบอกก่อนว่า ก่อนมาจีนผมไม่รู้ภาษาจีนเลย ดังนั้นค่อนข้างลำบากเพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษ นอกจากจะไปตามเมืองใหญ่ๆอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ที่เวลาเดินไปตามท้องถนน ยังพอถามทางเป็นภาษาอังกฤษได้บ้างแต่ก็ยากมาก แต่ผู้คนที่นี่เขาค่อนข้างโอเค ถ้าเราเป็นต่างชาติเขาก็จะพยายามช่วย แต่บางทีเขาก็จะค่อนข้างกลัวเหมือนกันที่จะสื่อสารกับต่างชาติ เหมือนเวลาเราอยู่ไทยแล้วกลัวที่จะสื่อสารกับฝรั่งนั่นแหละ ไม่ต่างกันเลย"
"ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตที่จีนมาเกือบ4ปี มักมีคนถามอยู่ตลอดว่า อยู่ที่จีนไหวหรอ โอเคไหม ได้ข่าวว่าที่จีนวุ่นวายและค่อนข้างสกปรก ผู้คนเร่งรีบไปหมด ตรงนี้โดยส่วนตัว ผมมองว่าประเทศจีนไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียวนะ คือแตกต่างไปตามแต่พื้นที่ ก็เหมือนประเทศไทยนั่นแหละ คือเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าที่จีนจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ทำให้มีความหลากหลายทั้งสภาพความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ดังนั้นปัญหาต่างๆเลยมีมากเป็นธรรมดา ก็เหมือนกรุงเทพมหานครที่มีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างมาก หลายคนก็จะบ่นว่ากรุงเทพไม่น่าอยู่ แต่เอาจริงๆสำหรับผมมองว่า ก็โอเคนะหากเราเปิดใจ จีนก็เช่นกัน ผมมองว่าที่นี่มีเสน่ห์และฝึกให้เราใช้ชีวิตในสังคมใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งฝึกความอดทนอดกลั้น การแก้ปัญหาต่างๆ และเรากับจีน แน่นอนว่าต่างชนชาติ ดังนั้นวัฒนธรรมการใช้ชีวิต วัฒนธรรมทางความคิดย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นเราควรเปิดใจ และทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล จะทำให้เราหลงรักเมืองจีนโดยไม่รู้ตัวเลย"
ตัวเราเองก็กำลังศึกษาอยู่ที่จีน โดยได้ทุน CSC มาเช่นกัน ในช่วงตั้งแต่ขอทุนจนได้มาศึกษาต่อ นั้น เราเจอปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า (หากมี ยกตัวอย่างกรณีที่จี๊ดที่สุด พร้อมวิธีจัดการกับปัญหา)?
"เอาอย่างนี้ก่อน มีข้อหนึ่งที่อยากให้ทุกคนเปลี่ยนตัวเองก่อนมา คืออยากให้เป็นคนที่ชอบซักถาม เปลี่ยนตัวเองให้เป็นแบบนั้นให้ได้ พอมาถึงที่นี่เราควรสอบถามทุกอย่างให้เคลียร์ การที่เราเป็นคนต่างชาติ บางครั้งการสื่อสาร อาจจะมีส่วนที่ทำให้ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนบ้าง คือเราไม่ต้องไปเกรงใจ ว่าเราจะถามมากไปหรือเปล่า เราเป็นนักศึกษา เป็นผู้น้อย การที่เราสอบถามข้อมูล ผมมองว่าเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่หรืออาจารย์จำเราได้และมองว่าเราขวนขวาย ถามว่าเขารำคาญไหม? จริงๆก็อาจจะมีรำคาญบ้างนะ แต่สุดท้ายเขาเข้าใจ เพราะหน้าที่ของเขาคือให้ข้อมูล ส่วนหน้าที่ของเรา คือมาเรียน ซึ่งข้อมูลสำคัญต่อเรามาก ดังนั้นถามไปเถอะ"
"ที่พูดและขอร้องเนี่ย เพราะผมเคยเจอปัญหาที่ค่อนข้างหนักเหมือนกัน จากการที่ผมไม่ถามและคิดว่าเดี๋ยวอาจารย์ที่ปรึกษาคงจะบอกเราเอง คือตอนช่วงมิถุนายน 2556 ซึ่งใกล้จะจบปี2แล้ว ณ ตอนนั้น นักศึกษาปริญญาโทหากใครพร้อมก็สามารถสอบวิทยานิพนธ์เพื่อสอบจบได้แล้ว ผมเองก็มีแพลนที่จะสอบเช่นกัน เพราะตอนนั้นไป conference มาหมดแล้ว แต่สำหรับเล่มรายงานวิทยานิพนธ์ ตอนนั้นบอกตรงๆว่ามาเร่งทำเอาทีหลังและคิดว่ายังไงก็น่าจะทันสอบเพราะแจ้งอาจารย์ที่ปรึกษาไปแล้ว และอาจารย์ที่ปรึกษาก็บอกวันสอบมาแล้ว ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำให้เสร็จก่อนวันสอบก็คือโอเค แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้นไง เพราะมารู้ทีหลังว่าเราต้องส่งเรื่องไปทางคณะล่วงหน้าประมาณ 7 วัน ก่อนวันกำหนดสอบ ซึ่งผมไม่ได้ส่งเรื่องเพราะไม่รู้มาก่อนว่าต้องทำ ซึ่งโทษใครไม่ได้ต้องโทษตัวเราอย่างเดียวที่ประมาทและไม่หาข้อมูล ไม่สอบถามข้อมูลให้ดี" "มาที่เรื่องของพี่ๆน้องๆที่ได้พบเห็นมาบ้าง มีเด็กไทยหลายคน ที่มีปัญหามาเรียนที่จีนแล้ว ต้องกลับประเทศไทยก่อนกำหนด เนื่องจากปัญหาการเงิน คือตอนแรกติดต่อทางมหา'ลัย ไม่ว่าจะผ่านเอเจนซี่ หรือ ม.โดยตรง แต่สื่อสารกันไม่เข้าใจ คือเข้าใจผิดคิดว่าได้ทุน แต่ความจริงแล้วยังไม่ได้ทุน คือต้องมาเรียนก่อนแล้วมาทำผลงาน ทำเกรดเฉลี่ยให้ดี แล้วแข่งขันกับนศ ต่างชาติด้วยกัน ซึ่งจะมีปัญหามาก ในหมู่นักศึกษาป.ตรีหรือบางคนที่ได้ทุนแบบไม่เต็ม คือครอบคลุมเฉพาะค่าเรียน ซึ่งขอฝากไว้อีกว่า ตรงนี้เราควรจะดูรายละเอียดของแต่ละทุนให้ดี ว่าครอบคลุมอะไรบ้าง และควรจะแน่ใจก่อนว่าเราได้ทุนแล้ว ได้ทุนอะไร ซึ่งดูได้จากใบตอบรับเข้าเรียน หรือ admission notice ของมหาวิทยาลัยที่ส่งให้เรา ซึ่งถ้ามาแบบทุนรัฐบาลจีนหรือทุนขงจื้อ ตรงนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นทุนเต็มจำนวน ครอบคลุมทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นทุนอื่นๆ เช่นทุนรัฐบาลท้องถิ่น ทุนของมหาวิทยาลัยเอง ตรงนี้ต้องดูรายละเอียดให้ดี"