ระบบการศึกษาไทยควรเอาอย่างอะไรจากระบบการศึกษาจีนบ้าง? "ตรงนี้ผมขอฝากไว้เลยว่า เราควรจะฝึกให้เด็กไทยได้ค้นคว้าข้อมูลให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าจะศึกษาแต่ในตำราหรือแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว ควรจะฝึกให้เด็กได้ศึกษาด้วยตัวเขาเอง เพื่อนำความรู้ในเนื้อหาวิชานั้นไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งตรงนี้อาจจะทำยากหน่อย แต่ถ้าเราค่อยๆพัฒนา ค่อยๆทำให้ตัวเด็กซึมซับวัฒนธรรมการค้นคว้าหาความรู้ ในอนาคตก็จะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน" "ขอยกตัวอย่างของที่จีนสักนิด คือที่นี่หากสังเกตดูตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาจะมีบอร์ดสำหรับติดหนังสือพิมพ์ประจำวันไว้ให้อ่านทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เราอาจจะคิดว่าเดี๋ยวนี้ใครเขาอ่านหนังสือพิมพ์กัน เขาใช้ Internet กันหมดแล้ว ตอนแรกผมก็คิดแบบนั้น แต่ถามจริงๆ เวลาเราใช้ Internet เราก็มักจะเข้า social network น้อยนะที่จะมาอ่านหนังสือพิมพ์ หรือหาความรู้อะไรที่มีสาระ (หัวเราะ) ดังนั้นผมว่ามุมความรู้แบบนี้ ทำออกมาได้โอเคนะ เพราะพอมีคนหนึ่งยืนอ่าน คนต่อๆไปก็จะหยุดยืนอ่านเช่นกัน เหมือนเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง" "นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยที่จีน มักจะมีกิจกรรมงานประชุมทางวิชาการ และ workshop บ่อยมาก อย่างมหาวิทยาลัยซีเตี้ยนที่ผมกำลังเรียนอยู่ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 งาน อย่างน้อยๆก็จะมีงานสัมมนาบรรยายผลงานวิจัยของนักวิจัยทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ ซึ่งเขามีการติดประชาสัมพันธ์อัพเดทตลอด ตรงนี้เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างดี"
คุณผู้อ่านครับ เราได้ลองอ่านความคิดมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดวงการการศึกษาจีนมาพอสมควรแล้วนะครับ เพื่อขยายภาพของการศึกษาจีนให้กว้างยิ่งขึ้น ผมเลยขอต่อยอดประเด็นนี้ให้เป็นเหมือนซีรีย์กำลังภายใน (สะสมลมปราณกันเข้าไป จะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ^^) สัปดาห์หน้า มาอ่านมุมมองของกูรูการศึกษาไทยกันบ้างนะครับ หนุ่มคนนี้มีดีกรีเป็นถึงบรรณาธิการเว็บไซต์ที่ดังมากๆ (คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักเขาในชื่อเล่นมากกว่า ลองเอาชื่อจริงไปเสิร์ชแล้วจะร้อง อ๋ออ กันเป็นแถว) เขาจะมองเรื่องนี้อย่างไร การมาเรียนที่จีนจะสู้กับการไปเรียนฝั่งตะวันตกได้ไหม อย่าลืมติดตามกันนะครับ
กาสะลองส่องจีน ตอน 6.1 : "การแข่งขันของมหาวิทยาลัยจีนในระดับสากล" : ธีรติร์ บรรเทิง