เมื่อต้นปีนี้ คณะกรรมการศึกษาธิการของกรุงปักกิ่งประกาศ "ข้อเสนอกิจการด้านการศึกษาภาคบังคับปี 2015" เนื้อหาที่น่าสนใจส่วนหนึ่งคือ นโยบายสอบเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษามีการปรับปรุงใหม่ โดยจะให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษด้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนหรือมรดกทางวัฒนธรรมแห่งวิถีชน เช่น การบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน การเขียนพู่กัน การตัดกระดาษและการฝึกวูซู-ศิลปะการต่อสู้แบบจีน เป็นต้น
อันที่จริงแล้ว นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะจีนส่งเสริมให้วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมเข้าสู่โรงเรียนมานานแล้ว แต่คราวนี้ ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น กลายเป็นนโยบายด้านการศึกษาที่รับรู้และปฏิบัติตามกันทั่วประเทศแล้ว แต่การจะให้วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมเข้าสู่โรงเรียนและปลูกฝังในจิตใจของเด็กอย่างไรนั้น ยังต้องการทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียนและทั่วทั้งสังคมใช้ความพยายามร่วมกัน
เนื่องจากนักเรียนที่สมัครเรียนมีจำนวนไม่มาก ทำให้การเปิดสอนพิเศษด้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนหลังเลิกเรียนของโรงเรียนในปักกิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งแนวคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองยังจะส่งผลกระทบต่อความกระตือรือร้นของบุตรหลานด้วย ยกตัวอย่าง นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชื่อว่า หลิว อี้เจี๋ย นักเรียนโรงเรียนสือเยี่ยนที่ 2 ของกรุงปักกิ่ง เธอเรียนงิ้วปักกิ่งมาได้ 2 ปีแล้ว นอกจากฝึกร้องและทำท่าทำทางต่างๆ แล้ว บางครั้งเธอยังมีโอกาสได้ไปฝึกกับคณะงิ้วมืออาชีพด้วย เมื่อเทียบกันแล้วเพื่อนของเธอไม่โชคดีแบบนี้ เพราะคุณแม่เพื่อนคิดว่า ให้ลูกสาวไปเรียนเปียโนหรือร้องเพลงดีกว่า เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ชอบนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านนี้ และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนักเรียนที่เล่นงิ้วเก่ง
นอกจากงิ้วปักกิ่งแล้ว นักเรียนหญิงที่ฝึกวูซูก็มีจำนวนน้อยมาก เพราะพ่อแม่มักคิดว่า เด็กผู้หญิงควรฝึกร้องเพลง เต้นรำ ให้ไปฝึกต่อสู้แบบวูซูไม่เหมาะ ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองมักเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยด้วย ทำให้โรงเรียนของปักกิ่งมีไม่กี่แห่งที่เปิดสอนวูซู แต่นายซาง เฟิ่งซี ครูสอนวูซูในโรงเรียนเติงซื่อโข่วกล่าวว่า ความจริงแล้วการฝึกศิลปะการต่อสู้เป็นการออกกำลังกาย ที่จะทำให้เรามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การฝึกวูซูก็เช่นกัน เพียงแต่เวลาฝึกต้องคำนึงถึงคนอื่น ครูซางบอกว่า โรงเรียนเติงซื่อโข่วเปิดสอนการว่ายน้ำ บาสเกตบอล ฟุตบอล การเล่นว่าวและตีกอล์ฟด้วย ซึ่งจำนวนนักเรียนที่สมัครเรียนวูซูมีเพียง 22 คนเท่านั้น ถ้าจะให้เรียนศิลปะการต่อสู้พ่อแม่ผู้ปกครองมักเลือกเทควนโด เพราะรู้สึกแฟชั่นกว่า ไม่ยอมส่งลูกไปฝึกวูซู ทั้งๆ ที่เป็นวัฒนธรรมของจีนแท้ๆ ครูซางจึงหวังว่า การประกาศนโยบายใหม่ดังกล่าวนี้ จะทำให้มีพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนหันมาสนใจวูซูมากยิ่งขึ้น