คลังสมบัติใต้ดิน
วันนี้ ถ้าเราไปเที่ยวชมวังต้องห้าม ส่วนใหญ่เป็นตำหนักที่ว่างเปล่า แต่ความจริง สมบัติอันมากมายที่วางไว้ในตำหนักต่างๆ นั้น นอกจากที่ถูกทำลายหรือถูกขโมยไปแล้ว ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในคลังสมบัติใต้ดิน
คลังนี้ลี้ลับมาก หลายปีมานี้ ผู้คนไม่ค่อยแน่ใจว่ามีคลังสมบัติใต้ดินอยู่จริงหรือเปล่า สำหรับพนักงานที่ทำงานในวังต้องห้าม ห้ามเผยข้อมูลเกี่ยวกับคลังแม้แต่คำเดียว
มีผู้ที่เคยทำงานในวังต้องห้ามเผยว่า คลังสมบัติมีอยู่จริง คือ ตึกเป่ายุ่นโหลว(宝蕴楼) อาคารแบบฝรั่งเพียงแห่งเดียวในวังต้องห้าม ตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่เปิดให้เข้าชม เป็นอาคาร 3 ชั้น โครงสร้างเหล็กกล้าและปูนซีเมนต์ มีระบบดับเพลิงและป้องกันการขโมยที่สมบูรณ์และทันสมัย มีอุณหภูมิและความชื้นคงที่ ประมาณ 15 องศาและความชื้น 50% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สมบัติและโบราณวัตถุประมาณ 60% ถูกย้ายไปเก็บที่คลังใต้ดิน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 1913 เป็นต้นมา มีสมบัติ 3,150 ลัง กว่า 230,000 ชิ้น ขนส่งมาจากวังฤดูร้อนเร่อเหอและวังต้องห้ามในเมืองเสิ่นหยางมาถึงกรุงปักกิ่ง รวมถึงเครื่องหยก เครื่องปั้นดินเผา ภาพวาด หนังสือ บอนไซ นาฬิกา เครื่องเขิน และพระพุทธรูป เป็นคลังล้ำค่าจริงๆ
อิฐหนึ่งก้อนเทียบได้กับทองคำหนึ่งตำลึง
คนรุ่นเก่ามักได้ยินเรื่อง ในวังต้องห้าม อิฐหนึ่งก้อนเทียบได้กับทองคำหนึ่งตำลึง เล่ากันว่า ตอนเริ่มสร้างวังต้องห้ามสมัยจักรพรรดิจูตี้นั้น ขุนนางที่รับผิดชอบงานก่อสร้างได้เลือกเตาเผาอิฐลู่มู่ของเมืองซูโจว จักรพรรดิจูตี้เห็นอิฐที่ผลิตออกมาแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงตั้งชื่อว่า เตาเผาอี้ว์เหยา(御窑) หมายถึง เตาเผาหลวง
อิฐที่ผลิตจากเตาเผาลู่มู่ มีขนาดประมาณ 66-70 เซนติเมตร ชาวบ้านชอบเรียกว่า "อิฐทอง" หรือ "อิฐกรุง" หมายถึงเป็นอิฐที่ผลิตเฉพาะสำหรับใช้ในกรุงหรือวังหลวง และเนื่องจากในภาษาจีน คำว่ากรุงออกเสียงว่า "จิง(京)" ซึ่งคล้ายคลึงกับเสียงว่า"จิน(金)"ที่มีความหมายถึงทองคำ ดังนั้น จึงได้มีชื่อว่า อิฐทอง
บันทึกว่า อิฐทองนี้มีความลี้ลับหลายอย่าง การผลิตอิฐทองก้อนหนึ่ง ต้องใช้เวลา 720 วัน วิธีการเผาสลับซับซ้อนและละเอียดมาก เพียงการขุดดินก็ต้องผ่าน 7 ขั้นตอน ได้แก่ ขุด ขนส่ง ตากแดด เคาะ ล้าง โม่ และร่อน วัตถุดิบของอิฐทอง ต้องเป็นดินเหนียวที่ขุดเอามาจากทะเลสาบไท่หู ขุดออกมาแล้วต้องทิ้งไว้ตากแดดให้ครบ 1 ปี แล้วแช่น้ำ ให้วัวไปเหยียบย่ำครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นก้อนดินเหนียวแน่น แล้วใส่ในเบ้าหลอม เอาแผ่นเรียบคลุมทับ ต่อจากนั้น ทิ้งไว้ในสถานที่ที่ไม่โดนแดดประมาณ 7 เดือน ให้อิฐแห้งเรียบร้อย ถึงจะส่งไปเผาในเตาเผาได้
เวลาเผา ต้องใช้หญ้าพิเศษอบ 1 เดือน เผาไม้ธรรมดา 2 เดือน สุดท้ายใช้กิ่งไม้ต้นสนเผาอีก 40 วัน จึงออกเตาได้ แต่ยังไม่จบ อิฐที่ออกมาจากเตาเผา ยังต้องแช่ในน้ำมันต้นอู๋ถง จนถึงพื้นอิฐมีสีเป็นมันและวาว จึงเรียกว่าสำเร็จรูปได้
ขั้นตอนอันสลับซับซ้อนอย่างนี้ จะต้องเสียต้นทุนอย่างสูง จึงมีสำนวนว่า "ทองคำหนึ่งตำลึง อิฐหนึ่งก้อน" เมื่อไม่กี่ปีก่อน อิฐทองเคยขายประมูลในราคากว่า 800,000 หยวน
การสร้างวังต้องห้าม ได้ใช้อิฐทองกว่า 8,000 ก้อน ปูในพื้นที่หน้าพระตำหนักสำคัญที่สุด 3 แห่ง คือ ตำหนักไท่เหอ จงเหอ และเป่าเหอ