ภาพวาดขงจื่อ
เมื่อ ปี 2006 มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง เรื่อง 于丹《论语》心得 หรือ"บันทึกการอ่านคำสอนขงจื่อ" แต่งโดย 于丹 (อวี๋ตัน) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการตีความคำสอนของขงจื่อจากมุมมองของคนสมัยใหม่ โดยใช้ภาษาง่ายๆ เน้นที่การประยุกต์ใช้คำสอนเหล่านั้นให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนจีนปัจจุบัน และแนะนำการใช้คำสอนมาแก้ปัญหาสังคม หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือขายดีในเวลาอันรวดเร็ว ในวันแรกที่จำหน่าย เพียงแค่ร้านหนังสือร้านเดียวก็ขายได้ถึง 12,600 เล่ม และมียอดขายรวมเกิน 5 ล้านเล่มในเวลา 2 ปีหลังวางแผง ความนิยมของประชาชนที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดคำถามในสังคมว่า ทำไมกระแสนิยมขงจื่อจึงได้มาแรงมากในสังคมจีนปัจจุบัน ก่อนที่เราจะค้นหาคำตอบกันนั้น แนนขอแนะนำประวัติคร่าวๆ ของขงจื่อและยกตัวอย่างคำสอนบางส่วนมาให้เพื่อนๆ อ่านกันก่อนค่ะ
ขงจื่อ ชื่อจริงว่า ข่งชิว ฉายา จ้งหนี เป็นชาวแคว้นหลู่ (ปัจจุบันคือเมืองชวีฝู่ ในมณฑลซานตง) เกิดเมื่อประมาณ 551 ปีก่อนคริสตศักราช ขงจื่อมีนิสัยใฝ่เรียนมาตั้งแต่เด็ก และได้เริ่มเข้าทำงานราชการเมื่ออายุ 18 ปี เนื่องด้วยความฉลาด ขยันขันแข็ง ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ขงจื่อได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฉางหลวง (ธนาคารข้าว) แต่ในระหว่างรับราชการนั้น ขงจื่อได้เห็นความเหลวแหลก ความไม่ยุติธรรมของข้าราชการ ทำให้เขาคิดแก้ไขความเหลวแหลกทั้งหลายในแผ่นดิน และเริ่มแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ต่อมาในปี 517 ก่อนคริสตศักราช เกิดความวุ่นวายขึ้นในแคว้นหลู่ ขงจื่อจึงหลบภัยไปรับราชการอยู่ที่แคว้นฉี ประกอบกับผู้ครองแคว้นฉีมีความสนใจในเรื่องการบ้านการเมือง ต้องการจะปกครองผู้คนด้วยความผาสุก ขงจื่อจึงมีบทบาทสำคัญทางการเมือง และได้วางหลักการปกครองไว้ว่า "รัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ปกครองจริงๆ เสนาบดีต้องทำหน้าที่เสนาบดี พ่อต้องทำหน้าที่ของพ่อ ลูกต้องทำหน้าที่ของลูก"
ขงจื่อเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิหรู ซึ่งเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตและการปกครองที่เน้นเมตตาธรรม และมีลูกศิษย์ 3,000 คน เมื่ออายุ 55 ปี ขงจื่อเริ่มพาลูกศิษย์ตระเวนไปยังแคว้นต่างๆ เพื่อเผยแพร่หลักรัฐศาสตร์ของเขา แต่สิ่งที่ขงจื่อสอนไม่ได้เน้นที่เนื้อหาการเมืองเท่านั้น แต่เขายังเน้นการจรรโลงประเทศให้มีความเจริญด้วยศีลธรรม อีกทั้งยังตั้งโรงเรียนขึ้นมาสอนจริยธรรมและวัฒนธรรมอย่างจริงจัง จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกล
หลังจากที่ขงจื่อล่วงลับไปแล้ว ลูกศิษย์ของเขาได้รวบรวมคำสอนและหนังสือที่ขงจื่อแต่งขึ้นมาเป็นคัมภีร์หลักของลัทธิ และได้สืบทอดเผยแพร่หลักจริยธรรมของขงจื่อกันเรื่อยมา จนหลักคำสอนของขงจื่อได้ฝังรากลึกลงในแนวคิดของคนจีน และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ขงจื่อเป็น 1 ใน 10 บุคคลที่มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมของโลก
ภาพยนตร์ หนังสือ และการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับขงจื่อและคำสอนของเขา
สำหรับคำสอนของขงจื่อนั้น มีจำนวนมากมาย เนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาตนเอง การเข้าสังคม การเมือง การคบเพื่อน คุณธรรมและความกตัญญู แนนขอนำบางส่วนมาแนะนำให้กับเพื่อนๆ ดังนี้ค่ะ
1. สุภาพชนควรมีความรู้กว้างขวางหลายด้าน
君子不器。
2. จงขยันเรียนรู้อย่างไม่รู้จักเพียงพอ และสั่งสอนผู้อื่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
学而不厌,诲人不倦。
3. หากเรียนหนังสือแต่ไม่รู้จักใช้สมองคิดพิจารณาก็จะพบกับความสับสน หากมัวแต่เพ้อฝันแต่ไม่รู้จักหาความรู้ใส่ตนก็จะอยู่แต่ในวังวนแห่งความคิดอันอันตราย
学而不思则罔,思而不学则殆。
4. หากตอนเช้าได้รู้แจ้งถึงสัจธรรมแล้ว คืนนั้นแม้ตายก็นอนตาหลับ
朝闻道,夕死可也。
5. กาลเวลาที่ผ่านไปก็เหมือนสายน้ำที่ไหลไปอย่างไม่หยุดยั้ง
逝者如斯夫!不舍昼夜。
6. คนที่มีความรู้สู้คนที่ชอบการเรียนรู้ไม่ได้ คนที่ชอบการเรียนรู้สู้คนที่เรียนอย่างมีความสุขไม่ได้
知之者不如好之者,好之者不如乐之者。
7. ติเตียนตนเองให้มาก และติเตียนผู้อื่นให้น้อย เช่นนี้ย่อมจะหลีกเลี่ยงความแค้นเคืองกันได้
躬自厚而薄责于人,则远怨矣。
8. สิ่งที่ตนเองไม่อยากทำหรือไม่อยากได้ ก็อย่ายัดเยียดให้กับผู้อื่น
己所不欲,勿施于人。
9. อย่าเพียงแต่ฟังแค่ลมปาก การจะเชื่อถือบุคคลใดยังต้องพิจารณาพฤติกรรมของเขาด้วย
听其言而观其行。
10. คนที่ฉลาดจะไม่ทำผิดต่อผู้อื่น และจะไม่ผิดคำพูดของตนเองเช่นกัน
知者不失人,亦不失言。
11. ถ้ารักเขา ต้องไม่ปล่อยให้เขาเอาแต่สบาย
爱之,能勿劳乎?
12. หากรู้จริงพึงบอกว่ารู้ หากไม่รู้พึงบอกว่าไม่รู้ นั่นแหละคือวิถีของปัญญาชน
知之为知之,不知为不知,是知也。
13. ผู้ที่ไม่รักษาสัจจะวาจา จะเข้าสังคมได้อย่างไร
人而无信,不知其可也。
14. การไม่กล้ายืดอกทำสิ่งที่เป็นธรรม นั่นแหละคือความขี้ขลาด
见义不为,无勇也。
15. การเคารพนับถือบิดามารดาและรักใคร่ปรองดองในหมู่พี่น้อง เป็นพื้นฐานของความรักใคร่เมตตาต่อผู้อื่น
孝弟也者,其为人之本与?
อ่านคำสอนของขงจื่อมาจนถึงตรงนี้ เพื่อนๆ พอจะได้คำตอบของคำถามในตอนต้นบทความหรือยังคะ ว่าทำไมกระแสนิยมขงจื่อจึงได้มาแรงมากในปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้ว แนนคิดว่าปัจจัยมีอยู่ 2 อย่างค่ะ ปัจจัยพื้นฐานก็คือ ปรัชญาความคิดของขงจื่อได้ฝังลึกอยู่ในสังคมจีนมานานหลายศตวรรษ และในปัจจุบันก็ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนในหลายๆ ด้าน ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นก็คือ สภาวะสังคมจีนยุคปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนตกอยู่ในภาวะแก่งแย่งกันทางวัตถุ สภาวะเช่นนี้ทำให้ชาวจีนโหยหาความสงบทางจิตใจ และหนทางแก้ไขปัญหาอย่างปรองดอง ถ้อยคำทั้งหลายของขงจื่อ ที่เป็นคำสั่งสอนแบบพื้นๆ เน้นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบในสังคม จึงกลายมาเป็นหนึ่งในวิธีตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้
แนน