อินเทอร์เน็ตเริ่มมีใช้ในสังคมจีนตั้งแต่ปี 1994 และได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ภายใน 2 ปีถัดมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนถึง 200,000 คน และได้รักษาการเติบโตในอัตราเพิ่มขึ้นเท่าตัวต่อครึ่งปีมาโดยตลอด ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนจีนแทบทุกกลุ่ม ตามสถิติในเดือนพฤษภาคม 2011 จำนวนผู้สามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนมีถึง 477 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรจีนทั้งหมด และมีจำนวนมากกว่าประชากรสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศเสียอีก ปัจจัยที่ทำให้อินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมในกลุ่มคนจีน คือ
1. Broadband หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้ช่วยให้การเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว สะดวก ไม่ต้องรอต่อผ่านสายโทรศัพท์ และสามารถออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2. ค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่แพงเกินไป ในปักกิ่งราคาค่าเช่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ได้ไม่จำกัดเวลาและปริมาณข้อมูล ตกอยู่ที่ราว 100-120 หยวนต่อเดือน
3. การแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูง แต่ละบริษัทจะงัดเอาเทคนิคการตลาดมาใช้กันอย่างเต็มที่ ทั้งการลดราคา ติดตั้งฟรี หรือแม้แต่การแถมคอมพิวเตอร์ให้
4. คนจีนมีนิสัยรักการอ่าน ดังนั้น อินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหรือคนวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังกระจายไปถึงทุกกลุ่มอายุด้วย มีตัวเลขระบุว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในจีนเลยทีเดียว
5. เว็บไซต์ที่เป็นภาษาจีนมีอยู่จำนวนมาก จากสถิติในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 จำนวนเว็บไซต์ที่เป็นภาษาจีนมีถึง 3.23 ล้านเว็บ และเพิ่มขึ้นในอัตรา 12.3% ต่อปี เนื่องจากมีเว็บไซต์และข้อมูลที่เป็นภาษาจีนอยู่มาก การค้นหาข้อมูลและการศึกษาหาความรู้จึงเป็นเรื่องที่สะดวกสบายมากในสังคมจีน
6. มีเว็บไซต์ยอดนิยมต่างๆ เช่น Google, Facebook, Youtube ในรูปแบบของจีนเอง โดยปรับปรุงภาษาและลูกเล่นต่างๆ ให้เข้ากับความต้องการของคนจีน จึงทำให้คนจีนชินกับการใช้เว็บไซต์ของจีนมากกว่าเว็บไซต์ต้นฉบับ
วันนี้ แนนจะนำเว็บไซต์ของจีนที่คล้ายคลึงกับเว็บไซต์ยอดนิยมในต่างประเทศมาแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักกันค่ะ
เว็บไซต์ยอดนิยมของจีน
1. 百度 (ไป่ตู้) www.baidu.com
ไป่ตู้ เป็นเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของประเทศจีน เป็นอันดับสามของโลก โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเลือกใช้ไป่ตู้ถึง 83.6% ไป่ตู้มีความคล้ายกับ Google ตรงที่ว่า
เป็นเสิร์ชเอนจินหาเว็บเพจและ ยังสามารถหาข่าว รูปภาพ วิดีโอ แผนที่ บทความวิชาการ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ไป่ตู้ยังเพิ่มเติมความสามารถอื่นๆ เช่น ดิกชันนารีจีน-อังกฤษ และการค้นหา MP3 ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้คนจีนเป็นอย่างมาก
2. 优酷 (โยวคู่) www.youku.com
โยวคู่ เป็นเว็บไซต์สำหรับการแบ่งปันวิดีโอ มีความคล้ายคลึงกับเว็บ Youtube แต่มีข้อดีกว่าตรงที่ว่าผู้ใช้สามารถแชร์วิดีโอจากโยวคู่ไปยังเว็บสังคมออนไลน์ของจีนเองได้ เว็บโยวคู่เปิดใช้บริการเมื่อปี 2006 และเติบโตอย่างรวดเร็วจนไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2010 ในช่วงก่อนเข้าสู่ตลาดหุ้นนั้น ภายในเว็บโยวคู่มีภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังถูกนำเอาออกเนื่องจากปัญหาลิขสิทธิ์ ในปัจจุบัน โยวคู่เปิดบริการรับชมภาพยนตร์แบบใหม่ โดยผู้ใช้บริการต้องสมัครเป็นสมาชิกและชำระค่ารายเดือนประมาณ 20 หยวน
3. 人人 (เหรินเหริน) www.renren.com
ในอดีตนั้น เว็บเหรินเหรินมีชื่อว่า 校内 (เซี่ยวเน่ย) ซึ่งแปลว่า ในโรงเรียน เน้นกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา ภายหลังผู้ผลิตต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้ให้กว้างยิ่งขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อมาใช้คำว่า人人 (เหรินเหริน) ซึ่งแปลว่า ทุกคน เว็บเหรินเหรินมีความคล้ายคลึงกับ Facebook แต่ได้เพิ่มความสามารถในการแชร์ข้อมูลภายในเว็บไซต์และการเชื่อมต่อกับเว็บอื่นๆ จากการสังเกตของแนนนั้น ผู้ใช้เหรินเหรินจะอัพเดตข้อความ แบ่งปันรูปภาพ และเขียนคอมเมนต์ค่อนข้างบ่อยกว่าผู้ใช้ Facebook ค่ะ
4. 微博 (เวยป๋อ) www.weibo.com
微博 (เวยป๋อ) แปลว่า micro blog เริ่มได้รับความนิยมมาจากเว็บไซต์ Twitter ของอเมริกา ต่อมาในปี 2009 ประเทศจีนก็ได้เปิด micro blog เป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อตรงตามความหมายว่า เวยป๋อ และได้รับความนิยมจากผู้ใช้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีดาราและผู้มีชื่อเสียงจากทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและฮ่องกงมาสมัครใช้กันเยอะ ผู้เข้ามาติดตามจึงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นดาราสาวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชื่อว่า 姚晨 (เหยาเฉิน) มีผู้ติดตามมากถึง 9 ล้านคน
5. 淘宝 (เถาเป่า) www.taobao.com
Taobao เป็นเว็บอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีความคล้ายคลึงกับเว็บ eBay และ Amazon ของต่างประเทศ เว็บเถาเป่าเปิดตัวเมื่อปี 2003 ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 98 ล้านคน มีสินค้ามากกว่า 800 ล้านชิ้น และภายในปี 2010 ปีเดียวได้ทำมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 4 แสนล้านหยวน ในตอนต้นนั้น เว็บไซต์เถาเป่าเน้นการซื้อขายแบบ C2C (Consumer to Consumer) เป็นหลัก ภายหลังพัฒนาการซื้อขายแบบ B2C (Business to Consumer) มากขึ้นโดยเปิดเว็บไซต์ลูกแยกออกมาคือ www.tmall.com ปัจจุบันมียี่ห้อสินค้าชื่อดังทั้งของจีนและนานาชาติเปิดร้านค้าใน tmall กว่า 30,000 ยี่ห้อ
6. QQ
สุดท้ายขอแถมเนื้อหาเกี่ยวกับ QQ ให้กับเพื่อนๆ นะคะ QQ ไม่ใช่เว็บไซต์แต่เป็นโปรแกรมเมสเซนเจอร์คล้ายกับ MSN อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกับผู้ผลิตเวยป๋อ QQ ไม่ได้เป็นเพียงโปรแกรมส่งข้อความ แต่ยังได้พัฒนา mailbox บล็อก เกม เว็บเบราว์เซอร์ โปรแกรมพิมพ์อักษรจีน และโปรแกรมอื่นๆ อีกมากมายเป็นของตนเอง เนื่องจากความสามารถที่ครบครัน ผู้ใช้ QQ จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2 คนในปี 1999 มาเป็น 140 ล้านคนในปี 2010
ในมุมมองของแนนแล้ว การที่ผู้ผลิตชาวจีนพัฒนาเว็บไซต์ยอดนิยมของต่างประเทศมาเป็นเว็บไซต์ที่คล้ายคลึงกันในรูปแบบภาษาจีนนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะทำให้ชาวจีนสามารถใช้งานเว็บไซต์หรือโปรแกรมเหล่านั้นได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ลดอุปสรรคทางภาษาในการหาความรู้ การติดต่อสื่อสาร การซื้อขาย หรือการเข้าสังคมออนไลน์ไปได้มาก และจากความต้องการของตลาดผู้ใช้อันใหญ่โต แนนคิดว่าการพัฒนาโลกออนไลน์ของจีนจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่นอน
แนน