โครงการขนส่งสาธารณะอีกอย่างหนึ่งที่ทางการปักกิ่งผุดไอเดียขึ้นมาเมื่อ 2-3 ปีก่อนคือ "โครงการรถรางยกระดับ" ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของโลกที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยออกแบบให้รถรางวิ่งครอบพื้นที่ถนนวงแหวนต่างๆ ซึ่งหมายความว่า รถยนต์ก็ยังวิ่งอยู่บนถนนได้อย่างปกติ เพียงแต่มีโครงของรถรางที่ยกสูงขึ้น โดยด้านบนเป็นพื้นที่โดยสารนั่นเอง
แต่ดูเหมือนว่าหลังศึกษาวิจัยแล้ว โครงการนี้คงเป็นไปได้ยาก จึงเงียบไป
ล่าสุดมีอีกโครงการหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงศึกษาวิจัยและเลือกสรรระบบให้เหมาะสม และคาดว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนด้วย เพราะจะสามารถลดปัญหารถติดได้ร้อยละ 20 – 30 เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาผลาญน้ำมันปิโตรเลียนของยวดยานต่างๆ ด้วย
นั่นก็คือ "การเก็บค่าธรรมเนียมรถติด" ซึ่งทางการกรุงปักกิ่งกำลังศึกษารูปแบบล่าสุดที่รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งประกาศใช้ไปไม่นานและได้ผลเป็นอย่างดี นั่นก็คือ การใช้ระบบ "จีพีเอส" ตรวจหักเงินรถที่วิ่งบนท้องถนน
เดิมทีเมื่อปี 1975 นั้น สิงคโปร์ได้เริ่มระบบนี้ก่อนใครอื่น โดยใช้ชื่อว่า "Road Pricing" ซึ่งระบบเก่านี้ คนที่ต้องการขับรถเข้าสู่ตัวเมืองจะต้องไปซื้อใบอนุญาตรายวันจากไปรษณีย์หรือธนาคาร แล้ววางไว้หน้ารถขณะขับขี่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ต่อมาได้เปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้นโดยการใช้บัตรเติมเงินเสียบไว้ในรถ พอวิ่งผ่านด่านหักเงินซึ่งมีเครื่องแสกนอัตโนมัติ เครื่องก็จะทำการหักบัญชีจากบัตรทันที แต่ก็มีจุดบกพร่องตรงที่ เมื่อลืมเติมเงินในบัตรก็ไม่สามารถหักได้
ล่าสุดจึงคิดใช้ระบบ "จีพีเอส" นี้ขึ้นมา เพราะสามารถตรวจจับได้ตลอดเวลาว่ารถคนไหนวิ่งไปที่ไหนและกี่กิโลเมตรแล้ว ทำให้สามารถคำนวนค่าธรรมเนียมรถติดและการสร้างมลพิษได้
ซึ่งปักกิ่งจะนำระบบนี้มาใช้เลย หรือดัดแปลงให้เข้ากับพฤติกรรมการขับและจำนวนรถยนต์ที่มากกว่า และเมืองขนาดใหญ่กว่านี้อย่างไร คงต้องติดตามดูกันอีก
ระบบการจัดเก็บเงินเมื่อนำรถเข้าไปวิ่งในเมืองนี้ จริงๆ แล้วหลักการเดียวกันกับการที่ต้องเสียค่าบริการทางด่วน โดยติดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหารถติดในช่วงโมงเร่งด่วนของเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงโรม สตอกโฮล์ม ลอนดอน มิลาน ต่างก็ปรับปรุงใช้ระบบการเก็บค่าธรรมเนียมนี้เช่นกัน
ที่ว่าต้องปรับปรุงนั้น เพราะการคำนวนในแต่ละเมืองย่อมไม่เหมือนกัน เพราะมีสภาพแวดล้อม ค่าครองชีพ ลักษณะของถนน และการยอมรับที่ต่างกัน จำเป็นจะต้องมีการกำหนดพื้นที่การเก็บเงินให้ลงตัว ช่วงเวลาที่ทำการจัดเก็บ ที่สำคัญคือ "อัตราค่าธรรมเนียม" จะเป็นเท่าไร ซึ่งน่าจะขึ้นอยู่กับประเภทของรถด้วย นอกจากนี้ยังต้องกำหนดมาตรการลงโทษในตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนด้วย เพื่อเป็นการบังคับผู้ขับขี่มห้เสียค่าปรับและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ซึ่งระบบ "จีพีเอส" นี้ น่าจะเป็น "คำตอบ" ที่ดี เพราะสามารถลงรายละเอียดของรถยนต์แต่ละคัด ติดตาม สอดส่อง อีกทั้งบันทึกการเดินทางได้ด้วย และเจ้าหน้าที่ที่ทำการกวดขันก็สามารถติดตามรถที่หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมได้โดยง่าย ผ่านเครื่อง "จีพีเอส" เช่นกัน
เมื่อกฎหมายเช่นนี้ออกมาบังคับใช้แล้ว พฤติกรรมของประชาชนก็จะเปลี่ยนไป จะต้องคิดแล้วคิดอีกในการเอารถออกจากบ้านแต่ละครั้ง ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ส่วนตัวก็ต้องใคร่ครวญมากขึ้น และท้ายที่สุดคนก็จะหันไปใช้บริการของขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เตรียมไว้รองรับ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถประจำทางก็จะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น และต้องตั้งราคาที่ถูกลง เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้ อย่างเช่นที่กรุงปักกิ่งนั้น ราคาบัตรรถไฟใต้ดินเพียงแต่ 2 หยวนเท่านั้น ก็สามารถเดินทางไปได้ทุกที่ ขณะที่รถประทางก็เริ่มเพียงแค่ 4 เหมา แพงสุดก็ไม่เกิน 2 หยวน (รวมรวมรถที่วิ่งไปยังชานเมือง)
และในระยะยาวคนก็จะหันมาใช้จักรยานมากขึ้น เพราะนอกจากประหยัด รักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดี
ค่าธรรมเนียมที่ได้มา รัฐก็สามารถเอาไปใช้บำรุงถนนหนทางให้มีสภาพที่ดีได้ตลอด
นับได้ว่าเป็นนโยบายการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนด้วย
ไม่ว่าปัญหาในแต่ละประเทศจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตาม แต่รับรองได้ว่า "การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถในเมือง" เช่นนี้เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจศึกษาและนำเอาไปปรับใช้เป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรง
เราอาจจะไม่สามารถขยายเมืองหรือขยายถนนให้เพียงพอและรวดเร็วทันความต้องการ แต่สามารถลดปริมาณการใช้รถได้ ถนนในปริมาณเท่าเดิมก็จะถูกใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
พัลลภ สามสี