จีนปริทรรศน์:ปัญหาลูกแหง่ที่แก้ไม่ตก
  2012-10-24 16:06:06  cri

เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศจีน หนุ่มสาวที่สามารถพิสูจน์ตนเองผ่านข้อสอบอันหฤโหด ต่างหน้าชื่นตาบานเพราะได้ทิ้งวัยเด็กสวมชุดวอร์มประจำโรงเรียนมาใช้ชีวิตอิสระในฐานะนักศึกษา

ในวันแรกเปิดเทอมนั้น ที่หน้าห้องลงทะเบียนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนวัยต่างๆ ยืนคุยกันจ๊อกแจ๊กจอแจอยู่ที่หน้าห้องลงทะเบียน บ้างนำเก้าอี้แบบพับได้มานั่งรอคิว บ้างยืนสูบบุหรี่อยู่ในแถวโดยไม่ได้สนใจว่าคนรอบข้างจะทนกลิ่นอันฉุนตลบได้หรือไม่ ซึ่งหากมองให้ดีๆ จะเห็นว่าเขาเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ใช่นักศึกษาเฟรซซี่ปีหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะบางคนอยู่ในวัยกลางคน บางคนอยู่ในวัยเลยเกษียณไปแล้วก็ยังมี

พวกเขามาทำอะไรกัน...

นอกจากนี้ในหอพักนักศึกษา ซึ่งปกติแล้วต้องนอนห้องละ 4 คน ก็อัดแน่นไปด้วยพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่ตามมาส่งลูกหลานของตนที่เปรียบเสมือน "นกน้อยที่เพิ่งออกจากรังรวง" เป็นครั้งแรก

สภาพอันโกลาหลย่อยๆ เกิดขึ้นในทุกห้องแคบๆ ขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร เนื่องจากคน 3 รุ่น จาก 4 ครอบครัวต่างพยายามปูที่นอน แกะกล่องใส่ของใช้จำเป็นที่เตรียมมาจากทางบ้าน เปิดกระเป๋าเดินทางเอาเสื้อผ้าออกมาจัดคนละไม้คนละมือ ขณะที่ "ลูกแหง่" ต่างนั่งคอยอยู่บนเตียงของตนเงียบๆ เพราะใจจดใจจ่ออยู่ที่โทรศัพท์มือถือไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด นิวไอแพ็ด และแม็กบุ๊ก ซึ่งเป็นของขวัญจากครอบครัวในฐานะที่พวกเขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

แต่ก็มีเสียงทะเลาะโวยวายกันจากบางห้องเล็ดลอดมาให้ได้ยินบ้าง เนื่องเพราะผู้ปกครองไม่พอใจที่ลูกแหง่ของตนได้เตียงไม่ดี หรือคงหันรีหันขวางไปเหยียบเท้ากันเข้า...ก็ห้องเล็กขนาดนั้นยังยัดเข้าอยู่พร้อมกันได้ เด็กที่ต้องอยู่ด้วยกันไปจนเรียนจบ เลยต้องมาหมางใจกันตั้งแต่ยังไม่ได้ทำความรู้จักกันด้วยซ้ำ เพราะความเจ้ากี้เจ้าการของพ่อๆ แม่ๆ ที่ห่วงลูกเกินความจำเป็นเหล่านี้

เหตุการณ์ชุลมุนเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยไม่แตกต่าง เท่านี้ยังไม่รู้อีกหรือว่าพวกผู่ใหญ่และผู้เฒ่าเหล่านี้เขามาทำอะไรกัน ทั้งที่ชีวิตของลูกหลานตนกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ก้าวเข้าสู่สังคมจำลองแห่งการเรียนรู้ที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัย" ซึ่งในรั้วรอบขอบชิดของสถานศึกษานี้ จะเป็นโลกใบใหม่ ที่นอกจากจะให้ความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อันเป็นเส้นทางสู่การมีอาชีพการงานมั่นคงในอนาคต ยังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตกับผู้อื่น

"ฉันผิดเอง ฉันผิดที่ตามใจลูกเกินไป แต่จะให้ทำยังไงได้ ก็เขาเป็นลูกคนเดียวของฉัน ถ้าเขาไม่มีความสุข ครอบครัวเราก็ไม่มีความสุขด้วย"

นี่เป็นเสียงปรับทุกข์ของแม่คนหนึ่งซึ่งมีลูกสาวเป็นโรคนอนไม่หลับ เครียดสะสม ควบคุมอารมรณ์ไม่ได้ ซึ่งทำให้เธอร้องไห้ตลอดเวลาจนทนเรียนอยู่ได้ไม่ทันครบเทอมดีด้วยซ้ำ แล้วตัดสินใจต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังที่เธอเพิ่งแย่งที่นั่งคนมาทั้งประเทศ ซึ่งครอบครัวของเธอยังปรีดาต่อความสามารถในผลการสอบของเธอไปไม่นานเท่าไร

สาเหตุเพราะหลังจากเธอเข้าไปเรียนแล้วปรับตัวเข้ากับโลกที่ไม่มีพ่อแม่คอยดูแลไม่ได้ และคิดถึงบ้านมาก

กรณีนี้ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว หากเกิดขึ้นจำนวนมากกับเด็กที่มีผลคะแนนการเรียนที่ดี แต่ไม่มีทักษะการดำรงชีวิต เพราะตั้งแต่เกิดมา จะกินจะนอนจะถอนหายใจ หนึ่งเดียวในดวงใจของบ้านก็จะได้รับการปรนนิบัติเยี่ยงพระราชาตัวน้อยที่แทบจะเป็นหง่อยเสมอมา

แน่นอนว่านี่คือ "ผลพวง" หนึ่งของนโยบายควบคุมจำนวนประชากรจีน

ซึ่งหากจะตั้งใจให้เป็นประชานิยมแบบไทยๆ ก็คงต้องเขียนว่า "หนึ่งคนหนึ่งครอบครัว" เพียงแต่นโยบายนี้ไม่ได้สร้างความพึงพอใจจริงๆ เท่าไรนัก ก็เท่านั้นเอง

เมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้น ถือได้ว่ามีประโยชน์มาก เพราะสามารถสร้างประชากรที่มีคุณภาพมาขับเคลื่อนประเทศได้ ทรัพยากรก็ประหยัดไปเยอะ ทำให้รัฐนาวาของจีนเหมือนติดเครื่องยนต์พิเศษจนเศรษฐกิจก้าวกระโดดมายืนอยู่หัวแถวของโลก

การอุดรูรั่วของปัญหาการพัฒนาประเทศด้วยนโยบายนี้ เป็นเพียงแผนเฉพาะหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไม่ได้มีแผนสำรองไว้สำหรับปัญหาทางสังคม และโดยเฉพาะปัญหาทางสุขภาพจิตที่หยั่งรากลึกไปจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพของแต่ละปัจเจกบุคคลด้วยซ้ำ

ในคนรุ่นแรกอันเป็นผลผลิตของนโยบายลูกคนเดียวนั้น ไม่มีทีท่าว่าจะมีปัญหาอะไรมาก เพราะล้วนได้รับการศึกษาระดับสูง มีสุขภาพที่ดีจากการเลี้ยงดูที่ครบถ้วน โดยไม่ต้องไปแย่งกับพี่น้องคนไหน ครอบครัวสามารถทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังใจให้กับลูกเพียงคนเดียว

แต่ในรุ่นที่สองอย่างในปัจจุบันนั้น เด็กที่เกิดมาพร้อมด้วยฐานะร่ำรวยมากกว่าสมัยก่อน อีกทั้งยังถูกเลี้ยงดูมาด้วยคนรุ่นพ่อแม่ที่เคยถูกตามใจมาก่อน จึงไม่แปลกที่คนที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้จะมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดมากมายจนกลายเป็นข่าวไปข่าว และเป็นเรื่องที่สังคมกังวล ไปจนถึงนักนโยบายทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับการวางแผนครอบครัวเช่นนี้

1 2
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
教育
v ปัญหาลูกแหง่ที่แก้ไม่ตก 2012-10-24 16:06:06
v จีนปริทรรศน์: สารพันต้นตอและการแก้ปัญหารถติด 2012-10-15 16:29:23
v จีนปริทรรศน์:ขยะจากเทศกาล 2012-10-08 15:43:49
v จีนปริทรรศน์: ความฝันไม่มีวันหมดอายุ 2012-10-01 15:37:43
v จีนปริทรรศน์: ชวนตี๋เซี่ย เสน่ห์แห่งเงาอดีตที่ไม่เคยซีดจาง 2012-09-26 16:40:05
v จีนปริทรรศน์: ชะตากรรมเดียวกันของวงการหนังสือประเทศโลกที่ 2 ในการก้าวสู่สากล 2012-09-19 16:43:55
泰国
v ปัญหาลูกแหง่ที่แก้ไม่ตก 2012-10-24 16:06:06
v จีนปริทรรศน์: สารพันต้นตอและการแก้ปัญหารถติด 2012-10-15 16:29:23
v จีนปริทรรศน์:ขยะจากเทศกาล 2012-10-08 15:43:49
v จีนปริทรรศน์: ความฝันไม่มีวันหมดอายุ 2012-10-01 15:37:43
v จีนปริทรรศน์: ชวนตี๋เซี่ย เสน่ห์แห่งเงาอดีตที่ไม่เคยซีดจาง 2012-09-26 16:40:05
v จีนปริทรรศน์: ชะตากรรมเดียวกันของวงการหนังสือประเทศโลกที่ 2 ในการก้าวสู่สากล 2012-09-19 16:43:55
ตอบคำถามออนไลน์
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040