"ก็มันเมืองจีน"
นี่คือคำตอบอย่างดีที่สุดในการอธิบายให้เพื่อนที่ไม่อยากมาเมืองจีน เนื่องจากไปได้ยินความเห็นของคนนั้นคนนี้ ทั้งที่ประสบพบเจอมาด้วยตัวเอง ทั้งอ่านมาจากคอมเม้นต์ในเว็บไซต์การท่องเที่ยว ทั้งฟังเรื่องเล่าแบบปากต่อปากจนแทบจะกลายเป็นนิทานปรัมปรา หรือฟังมาจาก "เดี่ยวไมโครโฟน 9" ของโน้ต อุดม จนทำให้ขลาดที่จะมาเมืองจีน โดยเฉพาะเรื่อง ห้องน้ำสาธารณะ เสียงสำรอกเสมหะและการถ่มลงบนทางเท้า การเดินกระแทกและเหยียบเท้า เสียงสนทนาที่ฟังทีไรก็นึกว่ากำลังมีเรื่องกัน และคิวมีไว้แซง
ซึ่งเคยคิดแบบคนใน(เป็นส่วนหนึ่งของสัมคมจีน)เสมอว่า พฤติกรรมเช่นนี้มีสาเหตุมาจากการอยู่ร่วมกันของจำนวนประชากรที่มหาศาลมาเป็นระยะเวลายาวนานพอจนบ่มเพาะเป็นอุปนิสัยสามัญ ทำให้เกิดสิ่งที่หลายคนขลาดกลัวนี้ขึ้น โดยที่คนจีนเองกลับไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิดและน่ารังเกียจประการใด
การคิดแบบเดียดฉันท์เช่นนี้น่าจะเป็นการเอาไม้บรรทัดของสังคมตะวันตกมาวัดเพียงด้านเดียว และคนไทยเองก็หลอมรวมเอามาตรวัดนี้เข้าในมาตรฐานพฤติกรรมทางสังคมมายาวนาน อย่างน้อยที่เห็นชัดเจนก็น่าจะตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ให้สวมมาลานำไทยและห้ามเคี้ยวหมาก ระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษก็เพียงพอที่จะทำให้การปฏิบัติของคนในสังคมเปลี่ยนไปอย่างมาก จนพากันรังเกียจการถ่มถุยที่เราเคยทำกันมาเช่นกัน
แต่พอมาได้เห็น "นโยบายปรับปรุงสโลแกนเมืองของปักกิ่ง" ที่ออกมาล่าสุด ก็ทำให้คิดว่าตัวเองนั้น ไม่สามารถคิดแบบคนในหรือคิดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจีน และเอานิสัยแบบบรรพกาลเดิมไปเปรียบเทียบกับค่านิยมสมัยใหม่ของโลกได้เสียแล้ว เพราะดูเหมือนว่าพฤติกรรมจริยธรรมในสังคมแบบตะวันตกนั้นจะกลายเป็นมาตรฐานโลกไปแล้วจริงๆ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ทางการกรุงปักกิ่งออกมาเสริมมาตรการเดิมที่เคยทำไว้แล้วให้เข้าถึงมวลชนมากยิ่งขึ้น และตัวชาวต่างชาติเองก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยในการพยายามคิดและเป็นแบบคนจีนให้ยุ่งยาก
ที่ว่าเป็นมาตรการเดิมก็เพราะว่า การรณรงค์ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเอาใจเขามาใส่ใจเราในสังคมนั้นเกิดขึ้นสมัยก่อนช่วงโอลิมปิกปักกิ่ง เพื่อเตรียมเมืองให้ทันสมัยต้อนรับคนที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก เวลานั้นตามป้ายรถเมล์ รถไฟใต้ดิน หรือแม้กระทั่งบิลบอร์ดขนาดใหญ่จะมีถ้อยคำกระตุ้นจิตสำนึกหรือสโลแกนว่า "โปรดทำตัวให้ศิวิไลซ์" ติดไว้ทั่วไปหมด และนอกจากป้ายข้อความแล้ว ยังมีการสร้างระบบ "อาสาสมัคร" ขึ้นมา ให้ชาวบ้านว่างงานที่เป็นแม่บ้าน ผู้เกษียณ และนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายมาช่วยกันบริการประชาชน ทั้งบอกทางและคอยกันคนให้เข้าแถวเป็นระเบียบขณะขึ้นรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้
กล่าวสำหรับป้ายสโลแกนทั้งหลายนั้น ชาวบ้านรู้สึกกันว่าค่อนข้างที่จะตรงไปตรงมา ฟังดูแล้วไม่ยากปฏิบัติตาม เพราะมีน้ำเสียงแบบขู่บังคับกันเกินไป อย่างเช่นมีคุณป้าคนหนึ่งชื่อ "ซู เหยา" ซึ่งอาศัยอยู่ใเขตเฉาหยางของกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า
"ป้ายเดิมฟังดูแล้วแห้งแล้งเกินไป อย่างเช่น "โปรดอย่าเหยียบฉัน" ซึ่งติดไว้บริเวณริมสนามหญ้าในสวนสาธารณะ หรือ "ต้องช่วยกันประหยัดน้ำทุกหยด" ซึ่งติดไว้ตามห้องน้ำ หรือป้ายที่มีข้อความว่า "เฉาหยาง-เขตแห่งความศิวิไลซ์" ซึ่งเคยติดอยู่ตลอดถนนเฉาหยาง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง"
ป้ายที่มีข้อความลักษณะที่กำลังจะได้รับการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ดีขึ้นและเป็นมิตรมากขึ้น ด้วยถ้อยคำที่เสนาะหูมากขึ้น
แต่สำหรับป้ายที่แปลว่า "เฉาหยาง-เขตแห่งความศิวิไลซ์" จากภาษาจีนนั้นได้ถูกปลดลงไปตั้งแต่เมื่อปี 2010 แล้ว พร้อมกับป้ายภาษาอังกฤษที่ว่า "Civilized Chaoyang, Magnificent with Me" เพราะว่าข้อความนี้สามารถตีความได้ว่าเขตอื่นๆ ของกรุงปักกิ่งนั้นด้อยอารยะและไม่เจิญทางมารยาทเทียบเท่า
นายถัง จื้อหวา สมาชิกคณะกรรมาธิการของเทศบาลกรุงปักกิ่งให้รายละเอียดต่อนโยบายปรับปรุงป้ายสโลแกนใหม่นี้ว่า "เราจะค่อยๆ ดำเนินการติดตั้งป้ายใหม่นี้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ร้านค้า สนามบิน โรงแรม และตามชุมชนต่างๆ ให้ได้ 100,000 ป้ายในเดือนมีนาคมปีหน้า"
นายถัง จื้อหวา มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานดูแลกิจการก่อสร้างเพื่อสาธารณะ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงต่อการดำเนินงานครั้งนี้ย้ำเสียงมุ่งมั่นว่า "กรุงปักกิ่งของเรายังไม่มีความเป็นศิวิไลซ์ดังที่ต้องการ"
ซึ่งโครงการลดน้ำเสียงและความเป็นมิตรของป้ายรณรงค์นี้จะกระจายไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้น อีกทั้งสารในป้ายก็จะสามารถซึมซับเข้าสู่ความรู้สึกและสามัญสำนึกของผู้คนได้ง่ายขึ้น โดยบางประโยคได้นำเอาเนื้อเพลงที่โด่งดังของจีนมาปรับปรุงให้เป็นคำขวัญด้วย เพื่อสื่อไปยังประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในอนาคตย่อมจะมีผลในการพลิกผันพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้น
"พฤติกรรมแย่ๆ ย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าป้ายชวนเชื่อเดิมๆ ยังเป็นแบบนี้" นายถัง จื้อหวา เสริมความคิดเห็นต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคมครั้งนี้
ตัวอย่างปัายรณรงค์ให้คนดูแลความสะอาดในห้องน้ำมากยิ่งขึ้นนั้น นำมาจากเนื้อเพลง "สี่ ซัว ซัว" ซึ่งเป็นเพลงที่โด่งดังมาก และคนจีนน่าจะร้องกันได้ทั้งประเทศ โดยความหมายของคำว่า "สี่" ซึ่งแปลว่า "ล้าง" และ "ซัว" ซึ่งแปลว่า "ขัด" อยู่แล้ว เมื่อนำเอามาประกอบประโยครณรงค์จึงมีความน่าสนใจและบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทั้งยังจดจำง่าย
อีกตัวอย่างประโยคที่น่าสนใจของป้ายสโลแกนใหม่คือ "ความงดงามของต้นไม้ก็เหมือนหญิงสาวหวงความสวย โปรดทนุถนอมอย่าให้มีรอยขีดข่วน"
ซึ่งปัจจุบันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทำป้ายออกมาได้แล้วทั้งหมด 300 รูปแบบ
"ตอนนี้เราจะทำออกมาเฉพาะที่เป็นภาษาจีนเท่านั้น เพราะจะทำการณรงค์ในหมู่คนจีน ไม่ใช่ชาวต่างชาติ แต่ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะทำฉบับภาษาอังกฤษด้วยก้ได้ ในพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มาก" นายถัง จื้อหวา ตอบเมื่อถูกถามเรื่องการแปลข้อความของป้ายออกเป็นภาษาอังกฤษ
สำหรับตัวอย่างของคำโฆษณาแบบอ่อนโยนโดยไม่มีสุ่มเสียงที่บีบบังคับนั้นยังมีอีกหลายตัวอย่างอาทิ
"โปรดชื่นชมรอยยิ้มของฉัน แต่อย่าทำให้รูปร่างที่อ้อนช้อยนี้ต้องฟกช้ำ" – ไม่ทำลายผืนหญ้าในสวนสาธารณะ
"ตีนเบาให้เหมือนแมว ยามเดินขึ้นบันได" – อย่าเดินเสียงดังในบ้านหรือในงานแสดงต่างๆ
"โปรดนำโทรศัพท์ของท่านมาวางไว้อย่างสงบตรงนี้" - รณรงค์ให้งดใช้โทรศัพท์และเลิกเล่นเวยโบ๋ขณะประชุม
"ฉันต้องเหม็นเฉ่าเพื่อเธอได้สุขสบาย อย่าลืมทำความสะอาดให้ฉันด้วยนะ" - เตือนให้ผู้คนไม่ลืมที่จะทำความสะอาดห้องน้ำและกดชักโครกหลังเสร็จธุระ
"อย่าปล่อยให้ฉันต้องร้องไห้อย่างไร้เหตุผล" – ช่วยกันปิดก็อกน้ำให้สนิท ฯลฯ
จะเห็นได้ว่ามีความอ่อนโยนและเป็นกันเองมากขึ้น เมื่อใช้ไม้แข็งแล้วไม่ได้ผล ทางการจึงลองมาใช้ไม้อ่อนดูบ้าง ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากเท่าไร
ซึ่งหากมองถึงเจตนาแล้ว นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่ง เพราะปัจจุบันนี้กรุงปักกิ่งก็เรียกได้ว่าเป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ปีหนึ่งๆ มีคนเข้าออกจำนวนมหาศาล ด้วยเพราะมีมรดกวัฒนธรรมมากมาย เป็นศูนย์กลางของหมาประเทศทางเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก มีความสมัยในทุกๆ ด้าน ผู้คนอยู่ดีกินดีและร่พรวยมากขึ้น ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้เกิดขึ้นในชั่วเพียงครึ่งศตวรรษเท่านั้น
จึงน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ถ้าทุกคนร่วมมือกันเอาใจใส่ สักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ความเป็นอารยะประเทศย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะทางการออกมาเอาใจใส่ถึงขนาดนี้แล้ว
โดยนอกจากรณรงค์ในสื่อสาธารณะต่างๆ เหล่านี้แล้ว ระดับครอบครัวก็จำเป็นยิ่ง เพราะเป็นสถาบันสำคัญที่ปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ตั้งแต่แบเบาะ สอนให้ทุกคนท่องคาถาที่ว่า "ทุกที่ก็เหมือนบ้านเรา" เท่านี้ก็คงจะทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเป็นกันเอง มีมารยาทตามสมควร และเกิดการเอาใจเขามาใส่ใจเราในที่สุด
แน่นอนว่าทัศนคติเดิมๆ ของคนนอกก็จะเปลี่ยนไป ทำให้ปักกิ่งเจริญในทุกๆ ด้านอย่างแม้จริง
พัลลภ สามสี