วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาเกิด "ความบังเอิญแห่งชาติ" ขึ้นอย่างเหลือเชื่อ เมื่อต้องพาเพื่อนเหล่าอาจารย์สอนศิลปะจากศรีนครินทรวิโรฒไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ
ที่ว่าเป็นความบังเอิญก็เพราะว่า แรกทีเดียวไม่ได้ตั้งใจกันว่าจะไปที่นี่ เพราะไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า และเมื่อตัดสินใจว่าจะไปก็ชักชวนกันขึ้นรถไฟใต้ดินไปทันที ทุกอย่างเป็นไปแบบอัตโนมัติ ด้วยว่าเคยไปที่นี่มาแล้วหนหนึ่ง จึงไม่ห่วงกับการหลงเส้นทาง เลยลืมตรวจสอบล่วงหน้าว่าที่พิพิธภัณฑ์กำลังมีผลงานอะไร แบบไหน น่าสนใจไหมจัดแสดงอยู่
แต่พอมาถึงยังจุดหมายแล้ว จึงเพิ่งทราบว่า ณ วันนั้นเป็นวันเปิดงานวันแรกของการแสดงศิลปะชุด "Vast grassland" หรือแปลได้ประมาณว่า "ดินแดนแห่งทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่"
พอเห็นคำว่า "ทุ่งหญ้า" ก็จินตนาการต่อไปได้แล้วว่าผลงานศิลปะที่คนจำนวนมากกำลังยืนออรอต่อคิวรับบัตรฟรีที่หน้าประตูใหญ่เพื่อเข้าไปชมนั้นเป็นงานเกี่ยวกับ "มองโกล" อย่างแน่นอน
ภายในอาคารจัดงานคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา รวมทั้งสื่อมวลชนหลากหลายแขนงที่หอบกล้องบันทึกเทปโทรทัศน์ กล้องภาพนิ่ง และไมโครโฟนสำหรับสัมภาษณ์ปะปนอยู่กับคนแก่และเด็กหนุ่มสาวผู้สนใจงานศิลปะ
ห้องแสดง 1-9 นี้ถูกจองจัดแสดงผลงานของศิลปินชาวมองโกเลียในไปจนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายนปีหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับงาน "Sunshine Xinjiang and Tibet Theme Exhibition-Xinjiang Theme Exhibition" ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อปีกลาย โดยสมาพันธ์ศิลปินแห่งประเทศจีนเช่นเดียวกัน
ทั้งสองงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของศิลปินจีนจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ให้ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานของตนในเวทีระดับประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ เพิ่มความเข้าใจผ่านสุนทรียภาพของความงดงามทางศิลปะ
จากการเดินวนเข้าออกห้องนั้นต่อห้องนี้ตลอด 2 ชั่วโมง ทำให้เห็นภาพรวมและวิถีการสร้างานได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างพอสมควรว่าศิลปินจากดินแดนแห่งทุ่งหญ้าทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นเยาว์เขากำลังคิดอะไร ต้องการบอกอะไร ถนัดเทคนิคการสร้างผลงานแบบไหน และน่าชื่นชมที่ตรงไหนบ้าง
ซึ่งภาพทุกชิ้นที่แขวนอยู่บนผนังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ล้วนสะท้อนภาพของ "ชีวิตในท้องทุ่งหญ้า" ของชาวมองโกลที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของผืนดินที่สุดลูกหูลูกตา ความทารุณของอากาศ วิถีชีวิต ความเปลี่ยนแปลง ประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งส่งสารโดยรวมออกมาปะทะใจได้ประการหนึ่ง
นั่นก็คือ "ความเปลี่ยนแปลงของโลกแช่แข็ง"
ที่คิดเช่นนี้ก็เพราะว่านอกจากภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการรีดนมแพะ การสู้รบ การเลี้ยงอูฐ การขี่ม้า การเล่นมวยปล้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันเช่นนั้นมานานนมแล้ว ศิลปินชาวมองโกลทั้งหลายจะเพิ่มเติมส่วนที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เป็นตัวแทนของวิถีชีวิตสมัยใหม่แทรกเข้ามาไว้ในภาพแบบโจ่งแจ้ง และสื่อกันแบบตรงๆ ไปเลย เช่น ภาพเด็กเลี้ยงม้าในทุ่งหญ้ากว้างกำลังคุยโทรศัพท์มือถือ คู่หนุ่มสาวในชุดแบบพื้นถิ่นซ้อนจักรยานยนต์กันฝ่าหิมะอยู่ในหมู่บ้านแบบกระโจมโบราณ ภาพคนชราที่กำลังๆ จดจ้องอยู่กับเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่อย่างพยายามจะทำความเข้าใจ
ความตั้งใจในการหยิบยื่นความแปลกปลอมเข้าไปในภาพชีวิตของชาวทุ่งหญ้ามองโกลที่แทบจะเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนักในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้เห็นความตั้งใจเกินไป สื่อแบบท่อมะลื่อเกินไปของศิลปินแล้ว ในขณะเดียวกันก็คิดว่าอาจจะเป็นความตั้งใจของคนเขียนภาพที่ต้องการให้เห็นว่าความแปลกปลอมแบบขัดเขินนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับวิถีชีวิตของคนมองโกลที่ถูกลุกล้ำด้วยความทันสมัยนานาปการ