แต่เมื่อหันมาพิจารณาในด้านฝีมือและทักษะด้านศิลปะแล้ว ความเจนจัด ความงดงาม และมุมานะในการฝึกฝนจนช่ำชองศิลปินทุกคนที่ร่วมแสดงในครั้งนี้ล้วนโลดแล่นออกมาปะทะสายตาและความรู้สึกแห่งสุนทรียภาพได้อย่างเหลือล้น เพราะไม่ว่าจะเป็นงานแบบภาพพิมพ์แกะไม้ งานภาพเขียนสีน้ำมัน หรือสีอะคีลิก ล้วนทำออกมาได้อย่างประณีต ยิ่งเมื่อยืนอยู่ต่อหน้าภาพที่สร้างขึ้น 30 – 40 กว่าปีก่อน จะเห็นได้ถึงความร่วมสมัยกับผลงานของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน หรือแม้กระทั่งแซงหน้าไปเลยก็มี โดยเฉพาะความน่าทึ่งด้านความประณีตอย่างลงรายละเอียด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของศิลปินจีนไม่ว่าทั้งจากส่วนกลางหรือท้องถิ่นก็มีสิ่งนี้อยู่เต็มที่เช่นเดียวกัน
ผลงานนับพันภาพที่ได้เห็นในวันนั้น ไม่เพียงแต่สะท้อนความเป็นชนเผ่ามองโกลในโลกสมัยใหม่ออกมาได้อย่างประทับใจเท่านั้น หากแต่ภาพนี้ก็ย่อมสะท้อนถึงภาพโดยรวมของประเทศจีนด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งนี้ จึงเป็นความบังเอิญโดยแท้ของเรา ที่แม้ไม่ได้วางแผนมาชมอย่างตั้งใจ แต่เมื่อได้มีโอกาสบังเอิญมาผ่านพบ ก็ทำให้คิดว่านี่อาจเป็นวาสนาระหว่างกันที่ได้ชมผลงานดับประเทศของจีน เป็นโอกาสที่ใครอีกหลายคนอาจจะต้องอิจฉาที่ไม่ได้ชมด้วยตาตนเอง
ผลงานภาพเขียนที่ อ.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทยซึ่งเดินดูอยู่ด้วยกันถึงกับรำพึงรำพันว่า
"นี่มัน...ศิลปะยุคนีโอคลาสสิกของจีนขนานแท้เลยทีเดียว"
หลังเสร็จสิ้นจากความรื่นรมย์ในพิพิธภัณฑ์แล้ว เราก็ตั้งใจจะเดินข้ามถนนมาซื้ออุปกรณ์งานศิลปะต่างๆ ที่วางขายอยู่ในย่านร้านค้าที่เรียงรายเบียดเสียดกันอยู่ฝั่งตรงกันข้าม แต่ด้วยความอยากสำรวจราคาและสินค้าให้ถ้วนทั่วและรอบคอบ จึงตัดสินใจเดินไปเริ่มที่ร้านแรกที่ต้นทางสี่แยกไฟแดงตรงถนนอู่ ซื่อ ต้า เจีย (Wu Si Da Jia) แต่ปรากฎว่า พอเดินไปถึงจุดตั้งต้นที่ตั้งใจก็ดันเหลือบไปเห็นประติมากรรมรูปปิรามิดกลางแสงแดด ซึ่งระตัวเลข 1919 และภาพแกะสลักใบหน้าบุคคลสำคัญอย่าง หลู่ ซิ่น หลี่ ต้าเจา และไค หยวนเป่ย เป็นต้นอยู่ด้วย บวกกับเมื่อเงยหน้ามองไปทางทิศตะวันตก คลองสายตาก็ไปหยุดจับอยู่ที่อาคารสีแดงทรงโบราณสูง 7 หรือ 8 ชั้นนั้นแล้วด้วย จึงทำให้รู้ว่า วันนี้เกิดเรื่องบังเอิญระดับชาติครั้งที่ 2 ขึ้นเสียแล้ว
เพราะอาคารที่ว่าก็คือ "ตึกแดง" หรือ "หงโหลว" อาคารเก่าของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อันเป็นต้นกำเนิดลัทธิคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ที่ซึ่งครั้งหนึ่หลู่ ซิ่น เคยสอนหนังสืออยู่ที่นี่ เหมา เจ๋อตง เมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น ก็มาทำงานเป็นพนักงานในห้องหนังสือพิมพ์ เพื่อรอเดินทางไปเรียนต่อฝรั่งเศส และหลี่ ต้าเจา หัวหน้าบรรณารักษ์ผู้คร่ำเคร่งศึกษาลัทธิมาร์กซิสต์อย่างถึงแก่น จนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้มากมาย นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นที่รวมพลของนักศึกษาก่อนออกไปร่วมกันเดินขบวนต่อต้านตวามอยุติธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายน์หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนเรียกร้องความเป็นธรรมกลับมาได้ และล้มล้างรัฐบาลทหารสาธารณรัฐที่สวมรอยปกครองประเทศมาเกือบ 10 ปี หลัง ดร.ซุน ยัตเซน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากอำนาจศักดินามาสู่ประชาชนทุกคน จนภายหลังผู้คนต่างเรียกขานเหตุการณ์นี่ว่า "ขบวนการนักศึกษา 4 พฤษภาฯ"