จีนจะเน้นการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการควบคุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อไป (1)
  2012-11-27 12:47:37  cri

ในรายการวันนี้ เราจะพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการกำกับดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีน เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายเฮ่อ เคิง รองประธานคณะกรรมาธิการการการคลังและเศรษฐกิจของคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนว่า มองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้อย่างไร และเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอะไรบ้าง ? นายเฮ่อ เคิง กล่าวว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจจีนได้รับแรงกดดันที่ทำให้ต้องตกต่ำลง ซึ่งแรงกดดันนี้นับวันมีมากขึ้นด้วย เศรษฐกิจจีนในขณะนี้จึงยังคงอยู่ในสภาวะขาลง นี่เป็นแนวโน้มที่ต้องเป็นไป จีนเริ่มใช้นโยบายการคลังเชิงรุกตั้งแต่ปี 1998 โดยได้ระดมทุนจำนวนมหาศาล เพื่อดำเนินโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายๆ โครงการ แต่การลงทุนดังกล่าวมีมากเกินไปจนไม่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จึงทำให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมหนักเป็นไปอย่างไม่เป็นปกติ กำลังการผลิตเหล็กและเหล็กกล้ามีมากเกินควร ทำให้อุปทานด้านเหล็กและเหล็กกล้ามีมากกว่าอุปสงค์ และการสิ้นเปลืองพลังงานนับวันมีมากขึ้น อีกทั้งทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ต้นน้ำอื่นๆ ดีดตัวสูงขึ้น แล้วผลที่ตามมาก็คือ ราคาปัจจัยการผลิตอื่นๆ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาวะตกต่ำ และเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ขณะนี้ รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว นายเฮ่อ เคิง กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการต่างๆ แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงิน ระบบธนาคารของจีนเกิดปัญหาที่รุนแรง เศรษฐกิจจีนจึงไม่น่าจะตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ อย่างไรก็ตาม จีนไม่ควรใจร้อนเกินไปที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่สูงเกินไป ปีนี้ เศรษฐกิจจีนคงขยายได้ถึง 7.5%-8% อัตราเติบโตนี้นับว่าสูงแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนได้อนุมัติโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานกว่า 60 โครงการ ยอดการลงทุนของโครงการเหล่านี้มีวงเงินกว่า 1 ล้านล้านหยวน ผู้คนจำนวนมากจึงรู้สึกเป็นห่วงและกังวลว่า รัฐบาลจะใช้วิธีการเก่าในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการลงทุนจำนวนมหาศาลเช่นเดีวกับที่เคยทำมาเมื่อปี 2009 ที่ได้ลงทุน 4 ล้านล้านหยวนในการดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ

ต่อคำถามนี้ นายเฮ่อ เคิง รองประธานคณะกรรมาธิการการคลังและเศรษฐกิจของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนตอบว่า รู้สึกเป็นห่วงเช่นกัน ต่อสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนี้ จีนไม่ควรใจร้อนเกินไป การเร่งดำเนินโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความใจร้อนของหน่วยงานรัฐบาลบางส่วน ซึ่งอยากกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการขยายการลงทุน จากข้อมูลที่เขารับทราบ จนถึงขณะนี้ มณฑลต่างๆ ทั่วประเทศได้ระดมทุนรวม 2 ล้านล้านหยวน เพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งเขาเองไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

นายเฮ่อ เคิง รองประธานคณะกรรมาธิการการคลังและเศรษฐกิจของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนแสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน ปัจจัยที่อาจทำให้จีนเกิดวิกฤตการเงินมี 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วง 20 ปีมานี้ วิกฤติการเงินทุกครั้งในขอบเขตทั่วโลกเกิดจากฟองสบู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แตก วิกฤตการเงินของสหรัฐฯก็เกิดจากฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์แตกเช่นกัน ดังนั้น จีนต้องกำกับดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวนโยบายที่คณะรัฐมนตรีจีนกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหารุนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เรื่องที่ 2 คือ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น วิกฤตการเงินอาจเกิดจากหนี้รัฐบาลท้องถิ่น และหนี้ของหน่วยงานรัฐบาล เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติจีนประกาศรายงานฉบับหนึ่งว่า จนถึงขณะนี้ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นมีถึง 10.7 ล้านล้านหยวน การที่รัฐบาลท้องถิ่นจะสามารถชำระหนี้ตามกำหนดเวลาได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง นอกจากหนี้รัฐบาลท้องถิ่น หนี้สินของหน่วยงานรัฐบาลก็ได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้คนทั้งหลายเช่นกัน เช่น กระทรวงการรถไฟจีนมีหนี้สูงถึง 14 ล้านล้านหยวน หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และหนี้ของหน่วยงานรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงิน จึงมองข้ามไม่ได้ และเรื่องที่ 3 คือการกู้ยืมเงินจากภาคเอกชน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติจีนรายงานต่อคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนว่า เมื่อปีที่แล้ว มีการสำรวจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมา 746 ราย โดยพบว่าจนถึงสิ้นปีที่แล้ว หนี้สินของวิสาหกิจเหล่านี้มี 50% กู้ยืมจากภาคเอกชน สินเชื่อภาคเอกชนเหล่านี้มี 75% ที่เป็นการกู้ยืมระยะสั้น และมีดอกเบี้ยสูงถึง 24% นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีต้นทุนสูงมากในการระดมทุน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการเงินที่รุนแรงมาก

สำหรับปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่น จีนได้ใช้มาตรการหลายอย่างในการแก้ไขปัญหานี้แล้ว และได้ประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง สำหรับการกำกับดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ รัฐบาลกลางมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนมากแล้ว ส่วนปัญหาการกู้ยืมเงินจากภาคเอกชน จีนได้นำร่องการปฏิรูประบบการเงินที่มณฑลเจ้อเจียง ถึงแม้ว่าการปฏิรูปดังกล่าวยังไม่ได้รับผลมากนัก แต่เห็นได้ชัดว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง วัตถุประสงค์ในการดำเนินการปฏิรูประบบการเงินดังกล่าวคือ แก้ไขปัญหาภาคเอกชนมีเงินทุนมากแต่กลับมีช่องทางการลงทุนน้อยนิด ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมมีความยากลำบากมากในการระดมทุน เพื่อสร้างตลาดการเงินที่เป็นระบบระเบียบ มีความเสี่ยงน้อย และให้บริการแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(Cai)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040