วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปต้อนรับคณะจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งตั้งใจมาดูงานที่ศูนย์ศิลปะ 798 ของกรุงปักกิ่ง จากการติดต่อผ่านมาทางคุณเฉิน ผู้บริหารของ Tang Contemporary ด้วยเหตุผลว่าผมเคยมาดูงานที่นี่บ่อย จึงน่าจะพอพาคณะเดินชมได้
ด้วยมิตรภาพและความไว้เนื้อเชื่อใจจากการประเมินความสามารถของตัวผมผ่านเพื่อนที่มีความรู้ทางศิลปะอย่างมากว่าทำได้ จึงรับปากอย่างไม่ลังเล อีกอย่างคือ ต้องการรู้ว่าสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทำงานกันอย่างไร มีใครบ้างที่เป็นกลไกขับเคลื่อน ที่สำคัญคือ การที่คณะตัดสินใจมาดูงานที่ 798 ซึ่งกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยของโลกนั้น แสดงให้เห็นถึงมุมมองและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของคณะ และอีกอย่างคือ การพาเดินชมงานศิลปะนั้น นอกจากจะได้ใช้เวลาวันหยุดอย่างเพลิดเพลินแล้ว ยังน่าจะได้ความรู้มากมายจากเหล่าคณาจารย์ที่ร่วมทางมาเป็นอย่างมาก
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
คณะนี้ประกอบด้วยหลักๆ คือ อ.ธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ อ.สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม อ.เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์ คณบดีคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อ.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.สุมาลี เอกชนนิยม หัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และคุณวิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมวิจิตรศิลป์ (ทัศนศิลป์) และที่เหลือเป็นผู้ติดตามมาเก็บข้อมูล รวมถึงไกด์สาวไทยหนึ่ง และจีนหนึ่งคอยบริการสื่อภาษาตลอดการเดินทาง
เที่ยงตรงของวันเสาร์ที่หนาวเหน็บ ผมพาตัวเองมาถึง 798 ช้ากว่าเวลานัดไปที่ไกด์คนไทยโทรมาบอกเมื่อวานเย็นก่อนที่คณะจะบินมาที่นี่ว่าควรจะพบกันเวลา 12.00 น. ไปเกือบชั่วโมง ระหว่างเดินทางก็เหลือบมองโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา ด้วยว่าเป็นเด็กน้อยย่อมไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ผู้ใหญ่รอคอย แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าไกด์จะโทรมาสักที ตอนแรกก็โล่งใจ เดาไปต่างๆ นานาว่ารถคงติดเหมือนกัน เพื่อปลอบใจตัวเอง แต่พอก้าวฉับๆ มาถึงหน้า UCCA ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อดังที่สุดของ 798 ก็ยังไม่เห็นวี่แววของคณะ ใจก็เปลี่ยนมาเป็นกังวล ว่าเราจำวันผิด หรือว่าทางนั้นไม่มาเสียแล้ว ด้วยเพราะผมไม่สามารถติดต่อกลับได้ ก็เลยได้แต่พะวงรอ
แต่ช่วงที่หันรีหันขวางอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงแว่วๆ ของบทสนทนาภาษาไทย จึงหันไปดู แล้วก็พบกับใบหน้าที่คุ้นๆ ของพี่คนหนึ่ง จึงยกมือไหว้ และกล่าวสวัสดีออกไป
และก็เป็นจุดใต้ตำตอมาก เพราะคนที่ผมทักคือ พี่เจง (อ.สุมาลี) ซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อนที่เมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั้น เป็นได้พบกันเป็นประจำทุกปี ด้วยเพราะผมต้องไปยืนช่วยขายหนังสือและพี่เจงก็มาเป็นลูกค้าทุกปี และเธอก็ร่วมคณะมากับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ผมกำลังมองหาอยู่นั่นเอง
เมื่อรู้จักกันมาก่อนอย่างนี้ ก็เลยง่ายขึ้นหน่อยในการแนะนำตัวเองกับเหล่าอาจารย์ทั้งหลาย และเริ่มพาเดินทันที ด้วยเพราะเวลาก็ล่วงเลยมาเกือบบ่ายโมง ซึ่งมีเวลาอีกเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ทางคณะก็ต้องไปดูกายกรรมต่อกันแล้ว
"เอาแบบหลักๆ เลยครับ ที่เราไม่ควรพลาดถ้ามาที่นี่" เป็น อ.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธ์ ผู้ที่ดูกระตือรืนร้นที่จะชมแกลเลอรี่ต่างๆ มากที่สุด บอกเปิดทางให้ผมได้คิดว่าต้องไปที่ไหนข้าง
"ที่พลาดไม่ได้ก็มี UCCA ซึ่งอยู่ข้างหลังเรานี่เองครับ เอาเป็นว่าเริ่มต้นที่นี่ก่อน จากนั้นผมจะพาเดินเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ และสุด้ท่ายก็ไปจบที่ถัง แกลเลอรี่ เพราะวันนี้มีเปิดงานใหญ่ประจำปี"
ว่าแล้วผมก็ชี้ชวนให้เดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะซึ่งเป็นของเอกชนรายใหญ่ แต่โชคไม่ดี เพราะว่าในเดือนนี้ไม่มีการแสดงอะไรที่น่าสนใจ พื้นที่เกือบทั้งหมดถูกใช้ไปเป็นที่ตั้งแสดงสินค้าของร้าน UCCA Store ซึ่งเป็นของใช้และของชำร่วยที่ทำขึ้นจากผลงานศิลปะของศิลปินในสังกัด รวมถึงแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยบางชิ้นที่ถูกนักสะสมซื้อไปแล้ว และที่เคยนำเอาไปใช้กับสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก
ระหว่างที่เรากำลังลังเลว่าจะเข้าไปดูสินค้าเหล่านี้หรือไม่ หรือไปที่อื่น อ.ศุภกรณ์ ผู้ซึ่งสนใจเกี่ยวกับตลาดศิลปะจีนเป็นพิเศษ ก็ถามถึงความเคลื่อนไหวของวงการว่าขยับขับเคลื่อนไปในทิศทางใดบ้างแล้ว และทำไมมูลค่าทางศิลปะของจีนถึงได้พุ่งทะยานไปไกลขนาดนี้
จากที่ได้อ่านได้ฟังมาบ้าง ผมก็เล่าให้อาจารย์ฟังว่า สาเหตุที่ทำให้งานศลิปะจีนทวีมูลค่าขึ้นนั้น แรกทีเดียวมาจากผลงานศิลปะของจีนได้รับการยอมรับมาขึ้นในระดับโลกก่อน เริ่มมีนักสะสมระดับโลกเข้ามาซื้อ ก็เลยทำให้ตลาดเกิดการกระตุ้น จากนั้นนักสะสมจีนก็หันมาซื้อบ้าง เพราะเห็นโอกาสการทำกำไร แต่ที่ทำให้ราคาพุ่งพรวดขึ้นอย่างมาก คือ การเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจแขนงอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการศิลปะจริงๆ คนเหล่านี้เข้ามาเพราะ "ราคา" เพียงแค่ต้องการซื้อมาขายไป โดยเฉพาะกลุ่มคนจากค่ายอสังหาริมทรัพย์ ที่พยายามทุกวิถีทางในการระดมเงินทุน ซึ่งบางครั้งการกู้จากธนาคารก็ไม่เพียงพอ การลงทุนในตลาดหุ้นก็มีความผันผวน สู้มาซื้อเก็บผลงานศิลปะ และปั่นราคาให้เกินจริงดีกว่า เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า ทั้งยังเห็นผลคุ้มทุนได้อย่างรวดเร็ว
อ.ศุภกรณ์ ซึ่งคร่ำวอดเก็บข้อมูลด้านตลาดศิลปะมานานก็เสริมในอีกมุมหนึ่งนอกเหนือไปจากข้อมูลข่าวที่ผมอ่านมาได้อย่างน่าตกใจ เพราะไม่เคยคิดถึงมาก่อนว่า
"บริษัทอสังหาฯ นอกจากจะได้เงินจากการซื้อขายแล้ว คิดว่าพวกเขาคงวางแผนมาแล้วว่า การเข้ามาซื้อผลงานศิลปะราคาแพงลิบลิ่วนี้ น่าจะเป็นการโฆษณาชั้นดี เพราะสื่อต่างๆ ก็ย่อมต้องลงข่าวแพร่สะพัดออกไป เป็นการยิงปืนทีเดียวได้นกสองตัว คิดเอาว่าโฆษณาโครงการอสังหาฯ ของเขาที่ได้มาฟรีๆ นี้ ตีเป็นมูลค่าเท่าไร ถ้าต้องไปจ้างลง"
"จริงด้วยครับ เพราะในวงการศิลปะจีนตอนนี้ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด ได้ยินมาว่าถ้าศิลปินคนไหนอย่างดัง แกลเลอรี่ไหนอยากขายงานได้ ก็ต้องไปจ่ายเงินให้กับคอลัมนิสต์ชื่อดังช่วยเขียนถึงให้ ซึ่งข่าววงในบอกว่าตกตัวอักษรละ 5-10 หยวนเลยทีเดียว ก็ตกหน้าละ 25,000 – 50,000 บาทเลยทีเดียว" ผมเสริม
แกลเลอรี่ต่อไปคือ Iberia ซึ่งตั้งอยู่ถนนด้านหลังใกล้ลานจอดรถใหญ่ของ 798 ที่นี่มักจะมีงานดีๆ เวียนมาแสดงเสมอ แต่ทว่าตอนที่เรายกกันเดินไปถึงนั้น ปรากฎว่ากำลังเปิดสำหรับติดตั้งงานใหม่อยู่ ก็เลยพลาดโอกาสชม
แต่ก็ยังโชคดีที่แกลเลอรี่ระหว่างทางที่ไม่ได้ตั้งเป้าจะให้เข้าชมมีผลงานเปิดแสดงอยู่ พอให้ได้เดินดูเป็นกรัสัยได้บ้าง
"เดี๋ยวนี้ยังมีศิลปินอาศัยอยู่ที่ 798 บ้างหรือเปล่า" อ.สมศักดิ์ ถามตอนที่เรายืนรอคนอื่นอยู่ด้านหน้าแกลเลอรี่แห่งหนึ่ง
"เท่าที่รู้ก็ไม่ค่อยมีแล้วครับ เพราะว่าหลังจากที่รัฐเข้ามาดูแลพื้นที่ เปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารการจัดเก็บค่าเช่า และการจัดสรรพื้นที่เพื่อธุรกิจในด้านต่างๆ ศิลปินก็เลยเหมือนถูกบีบให้ออกไปอยู่ที่อื่นโดยปริยาย ปัญหาหนักสุดคือ สู้ค่าเช่าไม่ไหว แต่ก่อนั้นเขาจ่ายกันเป็นรายปีแบบถูกๆ ตอนนี้ต้องมาจ่ายตารางเมตรละ 5 หยวนต่อวัน อาร์ตติสต์ที่ทำงานแสดงปีละครั้งหรือสองครั้งไม่มีปัญญาจ่ายไหวแน่นอนครับ"
"แล้วเขาไปอยู่ที่ไหนกัน"
"ก็ย้ายออกไปอยู่ที่เฉาฉางตี้ ใกล้นี้บ้าง หรือไม่ก็ออกไปอยู่ที่ริมทางรถไฟออกไปทางใต้ของ 798 นี้ แต่ที่เห็นว่าเยอะที่สุดคือที่ "ซงจวง" ซึ่งอยู่ในเขตทงโจว ทางตะวันออกสุดของปักกิ่ง ข่าวว่าที่นั่นค่าเช่ายังถูกอยู่มากครับ"
"อ๋อ ที่นี่เราก็จะไปกันพรุ่งนี้ ก่อนมามีคนแนะนำเยอะว่าต้องไปเห็น เขาว่าเป็นหมู่บ้านศิลปินที่ใหญ่ที่สุดในโลก"
"ใช่ครับ ผมก็ได้ยินมาว่างั้น แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไป ส่วนใหญ่ก็มาที่ 798 นี้เป็นหลัก เพราะงานมีเปลี่ยนให้ดูตลอด"
"ที่นี่ก็จะกลายเป็นศูนย์รวมแกลเลอรี เหมือนที่โรงงานเก่าเบอร์กาม็อตที่อเมิรกาที่ผมเคยไปดูมา ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าที่นี่ใหญ่กว่าเยอะ"
"แล้วที่เมืองไทยเรา มีโครงการทำเมืองศิลปะแบบนี้บ้างไหมครับ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเลย เพราะว่า 4 ปีกว่าที่มาอยู่ที่นี่เห็นได้เลยว่าพฤติกรรมของคนมาดูงานศิลปะเปลี่ยนไป เดิมอาจจะมีเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวง แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเดินทะลุออกไปตรงกลางลานด้านหน้านั้นแล้วจะเห็นว่า มีกรุ๊ฟทัวร์ชาวบ้าน มีครูพาคณะนักเรียนมาเที่ยวชม มีบริษัทจัดงานแต่งงานพาคู่บ่าวสาวมาถ่ายรูป คือ ที่นี่ได้กลายเป็นสถานที่ให้ความรู้ศิลปะทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไปแล้ว"
"มีสิ เรากำลังทำกันอยู่ แต่ติดตรงที่ปัญหาว่า คนไทยเราดูงานศิลปะกันน้อย คนซื้อ นักสะสมก็น้อย เลยขาดแรงกระตุ้นให้ศิลปินไทยมีแรงขับ หน่วยงานของสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยก็เหนื่อย เพราะเราทำออกไป ก็อยากให้มีผลตอบรับที่ดีมากขึ้น
ตอนนี้ก็ใช้วิธีเช่าพื้นที่ไปก่อน ซึ่งเราได้อาคารริมถนนราชดำเนินในมาทั้งแถบ ตั้งแต่โลหะปราสาทไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนี้กำลังตกแต่ง คาดว่าปีหน้าคงเปิดให้มีการแสดงงานได้ ซึ่งเราจะให้โอกาสศิลปินรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะกระตุ้นศิลปะร่วมนสมัยในบ้านเราได้พอสมควร ซึ่งตรงนี้เป็นสัญาเช่าระยะ 30 ปีที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมทำกับสำนักงารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็อัฐยายกินหนมยาย รอจนกว่าหอศิลปะวัฒนธรรมแห่งใหม่ ซึ่งได้ที่หลังศูนย์วัมธรรมฯ มาแล้ว และงบกว่าพันล้านก็ผ่านมาแล้ว พอสร้างเสร็จเราก็ค่อยย้ายงานแสดงหลักไปอยู่ที่นั่นอีกที"
อ.สมศักดิ์อธิบายละเอียดถึงโครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งเป็นงานของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่วางไว้เพื่อที่จะกระตุ้นให้วงการศิลปะไทยมีการพัฒนามากขึ้น
"ที่นี่นะครับอาจารย์ โดยพื้นที่ของตัวมันเองก็ถือได้ว่าเป็นงานศิลปะร่วมสมัยอยู่แล้ว เพราะเป็นโรงานอิเล็กทรอนิกส์เก่า ที่เยอรมนีตะวัยออกในขณะนั้นมาช่วยสร้างให้ และสถาปัตยกรรมแบบเบาเฮ้าส์นี้ มีเพียงที่นี่แห่งเดียวที่ยังถูกอนุรักษ์ไว้ในสภาพที่ดีมาก ดูนี่สิครับ ฐานเครื่องจักสมัยก่อนยังอยู่เลย ทางแกลเลอรี่ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ย้ายเจ้าสิ่งนี้ออกไปไหน ทุกอย่างถูกเก็บเอาไว้เป้นพยานประวัติศาสตร์ เราน่าจะหาพื้นที่แบบนี้บ้างในกรุงเทพฯ เอามาทำพื้นที่สำหรับงานศิลปะ"
ผมชี้ชวนให้ดูซากเครื่องจักรในแกลเลอรี่แห่งหนึ่งที่กำลังแสดงงานศิลปะพู่กันจีนอยู่ในดู แล้วก็วกเข้ามาถึงเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ตั้งศูนย์ศิลปะ 798 แห่งนี้ ว่าทำไมที่นี่จึงมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชม เพราะเหตุผลไม่ได้มีเพียงแค่ความโด่งดังของศิลปะจีนเท่านั้น หากแต่องค์ประกอบแวดล้อมและบรรยากาศก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
"อาจารย์ครับ ผมว่าเราไปหาที่นั่งดื่มกาแฟกันสักหน่อยดีกว่าครับ รู้สึกว่าเวลาปลายปีอย่างนี้ แกลเลอรี่เกือบทุกแห่งจะเอางานเก่ามาแสดง ไม่ก็ขายของแบบเต็มๆ ไปเลย ที่ไหนก็ต้องการเงินมาหล่อเลี้ยงตอนสิ้นปี เพราะไหนจะต้องจ่ายค่าสัญญาเช่าใหม่ แล้วยังต้องมีโบนัสพนักงานอีก คงมีงานให้ดูไม่มากเหมือนช่วงอื่น"
หลังจากทุกคนเห็นด้วยแล้ว เพราะล้วนต้องการหลบหนาวให้ร่างกายอบอุ่นกันทั้งนั้น การสนทนาหลังถ้วยกาแฟจึงเกิดขึ้น ก็เลยทราบว่า อ.เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์ เคยนำผลงานมาแสดงที่ปักกิ่งครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วได้ ซึ่งจัดขึ้นที่หอสมุดแห่งชาติ เพราะตอนนั้น 798 ยังไม่เป็นที่รู้จักขนาดนี้ ซึ่งตอนนั้นจารย์ทราบแต่เพียงว่าที่นี่มีศิลปินจีนมาเปิดสตูดิโอกันแล้ว แต่ไม่มีโอกาสเข้าชม
ด้านอ.ศุภกรณ์ ได้เล่าถึงความเป็น "พื้นที่ศิลปะสาธารณะ" ซึ่งแนวความคิดนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ 798 มีการพัฒนาจากชุมชนศิลปิน มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟสยวยๆ แบบนี้เข้ามาเปิด ทำให้สามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามามากขึ้น เมื่อคนมากขึ้นศิลปะก็สามารถเป็นที่รับรู้ได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งอาจารย์ได้ยกตัวอย่างของ "ชองแกซอน" ใจกลางกรุงโซล เกาหลีใต้ ว่านี่คือตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่ทางศิลปะสาธารณะที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งต้องนับถือความคิดนอกกรอบและความกล้าของผู้ว่าการกรุงโซลในขณะนั้น ที่เข้าไปบริหารพื้นที่ ไล่คนที่อยู่อาศัยออกไป จัดที่อยู่ให้ใหม่ ปรับคลองให้กว้าง สร้างพื้นที่ทางเดินสองข้างทาง เปิดให้ร้านค้าและตลาดเกิดขึ้นบนสองฝั่งคลอง และตามใต้สะพานก็เปิดให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ นอกจากสวยงามแล้ว คลองแห่งนี้ยังทำให้อุณหภูมิของเมืองในหน้าร้อนลดลงกว่าปกติ 2-3 องศาเลยทีเดียว ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากแนวคิดของผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชนด้วย ดังนั้น "ชองแกซอน" ๗ึงเป็นที่ภูมิใจของคนเกาหลีใต้มาก ที่สามารถสร้างพื้นที่เปล่าประโยชน์ให้เกิดคุณค่าทางสังคม และวัฒนธรรม และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจตามมาาอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการท่องเที่ยว และการค้าขายอื่นๆ ที่เกี่ยวพัน
ซึ่ง 798 ก็กำลังจะเป็นอย่างนั้น พื้นที่แห่งนี้มีเอกลักษณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการการบริหารจัดการที่ดีและมีระบบเท่านั้น
ผมได้แต่ฟังและพยักงานยึกยักตาม รู้สึกเหมือนได้เข้าไปนั่งฟังบรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แตกต่างเพียงแต่ว่าครั้งนี้ ผมไม่ต้องจ่ายค่าหน่วยกิต แถมยังเป็นการบรรยายแบบกันเองอีก
ทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่าอย่างยิ่งที่รับปากเพื่อนมาคณะอาจารย์มาเดินเที่ยวในครั้งนี้
"มาคราวนี้เรามีเวลาน้อยมาก ผมคิดว่าต้องกลับมาอีก และให้เวลามากกว่านี้ ว่าแล้วทำไมถนอม ชาภักดี และ อ.กมล เผ่าสวัสดิ์ ถึงชอบมาที่นี่กันนัก" อ.ศุภกรณ์ เอ่ยถึงเพื่อนอาจารย์อีกสองคนที่ผมเคยต้อยรับมาหลายครั้งขึ้นมา "ผมว่าที่บ้านเราก็ทำได้ แต่ต้องเน้นที่ศิลปะแบบไม่มีการตอบแทน แบบที่ อ.กมล ทัศนาญชลี กล่าวไว้เสมอว่า ต้องมีพื้นที่แบบ non- profit เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจศิลปะมากขึ้น"
หลังจากจบกาแฟอุ่นๆ ไปคนละแก้วแล้ว ก็ออกเดินไปยังแกลเลอรี่อื่นอีกสักหน่อย เพราะว่าใกล้กำหนดเเวลาเต็มทีแล้ว โดยไม่ลืมที่จะพาทั้งคณะแวะไปชมผลงานชุดล่าสุดของ "ตะวัน วัตุยา" ศิลปินหนุ่มไฟแรงของไทยที่กำลังแสดงอยู่ที่ Gallery Yang งานแสดงครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการโซโลเดี่ยวครั้งแรกของจิตกรไทยในพื้นที่ระดับโลกแบบ 798 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมาก โดยเฉพาะ อ.สมศักดิ์ ถึงกับออกปากว่า "ลูกศิษย์ผมเอง" เพราะเคยสอนอยู่ช่างศิลป์มาก่อน
และทุกคนก็ตื่นใจกับผลงานสีน้ำชิ้นใหญ่ขนาดกว่า 5 x 3 เมตร ที่เป็นรูปหุ่นทหารดินเผาของจักรพรรดิจิ๋นซี รวมถึงภาพเครื่องบิน และแถวทหารหญิงสวนนาม ที่แค่ยืนอยู่เบื้องหน้าก็สามารถรับได้ถึงพลังของชิ้นงานที่สัมผัสห้วงแห่งการรับรู้
นอกจากนี้ก่อนกลับขึ้นรถ คณะสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยยังมีโอกาสได้เข้าชมผลงานของ "จาง เสี่ยวกัง" จิตรกรยักษ์ใหญ่ของจีนและของโลกซึ่งแสดงอยู่ที่ Pace Gallery ฝั่งตรงข้ามกับที่แสดงงานของตะวัน และยังได้เข้าชมผลงานรวมศิลปินประจำปีของ Tang Contemporary ที่ได้รวบรวมเอาจิตรกรชั้นแนวหน้าของจีนมาเปิดการแสดงในวันนี้พอดิบพอดีอีกด้วย
แม้การทัวร์ครั้งนี้จะดูเหมือน "การขี้ม้าชมดอกไม้" ไปนิด เพราะมีเวลาสั้นๆ แต่เท่าที่ได้สนทนากันแล้ว ดูเหมือนว่าครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของทุกคน เพราะดูเหมือนว่ามีความตั้งใจอย่างมากที่จะกลับมาอีกครั้ง และใช้เวลามากขึ้น อย่างน้อยที่นี่นอกจากจะมีศิลปินระดับโลกรอแวะเวียนมาแสดงงานแล้ว ยังสามรถเป้นแบบอย่างการยริหารจัดการพื้นที่ศิลปะสาธารณะที่กำลังจะเกิดมากขึ้นในเมืองไทยเราได้อย่างดี
เช่นเดียวกับเวลาเราดูรูปเขียน ก็ย่อมต้องถอยออกไปดูไกลบ้าง และเดินเข้ามาแนบหน้าดูรายละเอียดบ้าง เพื่อที่จะให้สามารถซึมซับความงามและทำความเข้าใจกับงานศิลปะชิ้นั้นได้จากทุกแง่มุม
(พัลลภ สามสี)