ณ เวลานี้ วงการศิลปะโลกคงไม่มีใครไม่รู้จัก 798 ในฐานะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย เพราะบรรดาศิลปินตั้งแต่บิ๊กเนมมาจนถึงมือใหม่เพิ่งเข้าวงการต่างตั้งเป้าหมายของตนเองไว้ว่าจะมีโอกาสมาแสดงงานที่นี่สักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนหลักไมล์สำคัญของความสำเร็จในฐานะศิลปินมืออาชีพ และรายได้ที่จะตามอีกเป็นกอบเป็นกำ
รายงานจากองค์กรจัดงานแสดงศิลปะ TEFAT Maastricht ซึ่งมีเครือข่ายงานศิลปะทุกแขนงของทั่วโลกระบุรายงานการซื้อขายงานศิลปะในปี 2011 ว่า จีนแซงหน้าอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมียอดสูงสุดที่ร้อยละ 30 อเมริการ้อยละ 29 อังกฤษร้อยละ 22 และฝรั่งเศสร้อยละ 6 ทั้งยังรายงานผลงานศิลปะโบราณที่ทำลายสถิติการประมูลสูงสุดในปีนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นของแผ่นภาพอักษรศิลป์หรือ Calligraphy สมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งมีความยาวนับสิบเมตรและอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก ถูกประมูลซื้อไปโดยนักสะสมไม่ระบุชื่อชาวจีนคนหนึ่งในราคา 6,400 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
ซึ่งรายงานชิ้นนี้ระบุว่ายอดร้อยละ 30 ของจีนนั้นรวมถึงศิลปะทุกแขนง โดยมีศิลปะร่วมสมัยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สร้างความรู้จักรับรู้และยกฐานะของศิลปะจีนให้ขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกับศิลปะจากแหล่งกำเนิดอื่นของโลก
และแน่นอนว่า "798" ที่ทุกคนรู้จักกันในทุกวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของวงการศิลปะจีนและของโลกด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากที่นี่เป็นทั้งที่อยู่อาศัย เป็นแกลเลอรี เป็นหน้าตาของประเทศ และยังเป็นเสมือนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งในตัวของมันเองด้วย
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กว่าจะมี "798" ในวันนี้ต้องฝ่าฟัน สูญเสีย และลำบากยากยิ่ง โดยเฉพาะศิลปินในยุคบุกเบิก ที่ปลุกปั้นมันขึ้นมาจากความไม่มีอะไรเลย แต่จะว่าเป็นความว่างเปล่าก็ใช่ที่ เพราะเดิมทีมันเป็นเพียงซากโรงงานอิเล็กทรอนิกส์เก่าแก่จากยุคปฏิรูปอุตสาหกรรม
"แต่เดิมนั้นศิลปินในยุคของผม พวกเราอาศัยกันอยู่ที่ "ตงซุน" หรือ "หมู่บ้านชาวนาทางด้านทิศตะวันออกของสวนสาธารณะเฉาหยางในปัจจุบัน" ช่วงนั้นศิลปินอยู่กันอย่างยากลำบาก ไม่มีใครขายผลงานได้เป็นล้านๆ อย่างปัจจุบันนี่หรอก บางคนก็ถึงกับฆ่าตัวตายก็มี เพราะทนความอดอยากไม่ไหว ซึ่งเขาก็ได้ไปเพราะศักดิ์ศรีและความรักในการเป็นศิลปินของเขา ไม่มีกินก็ไม่ไปขอใคร ไม่ไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานศิลปะ จึงไม่แปลกที่ศิลปินจีนร่วมสมัยจะแสดงงานอะไรที่ออกดูรุนแรง และบางครั้งก็ดูเหมือนจะต่อต้านรัฐบาลไปบ้าง ก็เพราะผลงานของพวกเราเกิดขึ้นจากความกดดันทั้งสิ้น"
อู๋ ยู่เหริน
นี่เป็นคำอธิบายของ "อู๋ ยู่เหริน" ศิลปินแนวหน้าอีกคนหนึ่งของจีนที่ทั่วโลกรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะ "Little Ai" หรือ "อ้าย เหว่ยเหวย น้อย" ซึ่งถนัดแสดงผลงานเพอร์ฟอร์มแมนซ์หรือแสดงสด งานวิดีโออาร์ต และยังเป็นแอ็กติวิสต์เลือดเข้มแถวหน้าคนหนึ่ง
ขณะตอบคำถามถึงสภาพชีวิตของศิลปินจีนในยุคก่อนหน้า 798 สีหน้าของเขาเต็มไปด้วยความเศร้าเร้นลึก และดูเหมือนในดวงตาใสกระจ่างของเขาจะมีน้ำเอ่อออกมา แต่ถูกทำให้เหือดไปเมื่อกระพริบตาถี่ๆ
"แต่หลังๆ มาเนี่ยคุณจะเห็นว่าศิลปินจีนมีฐานะมากขึ้น แต่ก็มีเรื่องตลกนะ เพราะบางคนที่เคยมีชื่อเสียงกลับไม่ค่อยกล้าแสดงงาน นั่นก็เพราะว่าเขาไม่อยากทำให้คอลเล็กเตอร์(นักสะสมงานศิลปะ) ของเขาไม่พอใจ คนเหล่านี้เคยกู้ชีวิตขึ้นมาด้วยการทุ่มเงินเป็นล้านๆ ซื้อผลงานไป แต่พอวันหนึ่งมาเห็นว่าศิลปินคนนั่นทำงานชุดใหม่ออกมาแล้วตั้งราคาแค่ไม่กี่หมื่นหรือแสนหยวน เขาก็ย่อมต้องเสียใจ ศิลปินก็เลยตัดสินใจไม่แสดงงาน ทั้งที่ฐานะย่ำแย่ลงและต้องการเงินมากเพียงใดก็ตาม
เป็นเรื่องตลกร้ายจากความซื่อสัตย์ของศิลปินจริงๆ
แต่นี่ก็เป็นหลังจากที่เราย้ายเข้ามาอยู่กันที่ 798 แล้วนะ เพราะว่าหลังๆ มาราคาที่ดินแถบเฉาหยางพุ่งขึ้นอย่างมาก ค่าเช่าบ้านก็ลอยขึ้นเป็นเงาตามตัว ศิลปินที่อดอยากกันอยู่แล้วก็จำต้องหาที่อยู่และสตูดิโอกันใหม่ ซึ่งในที่สุดก็มาเจอโรงงานร้างที่ทุกคนรู้จักกันในฐานะศูนย์กลางศิลปะของจีนทุกวันนี้"
อู๋ ยู่เหริน เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานของการเติบโตของ 798 เพราะเจาเองก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ในยุคเริ่มแรกขณะที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานครบถ้วนเฉกเช่นทุกวันนี้ จนกระทั่งพื้นที่แห่งนี้ค่อยๆ กลายเป็นเงินเป็นทองขึ้นมา เมื่อผลงานศิลปะของจีนเริ่มเป็นที่ยอมรับจากสากล
จากที่เคยเช่าจากรัฐในราคาเพียงไม่เท่าไรต่อเดือน ต้องเปลี่ยนมาจ่ายให้กับนายทุนนักค้าที่ดินที่ไปรับสัปทานของรัฐมาบริหารอีกที ซึ่งทำให้ศิลปินจำนวนมากต้องระเห็จออกไปหาพื้นที่อื่นที่ถูกกว่า ทั้งที่ทุกคนรู้สึกเช่นเดียวกันว่า "เสียดาย" เพราะ 798 นั้น นอกจาจะมีบรรยากาศที่เงียบสงบเหมาะที่จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแล้ว ตัวโรงงานที่มีหลังคาที่สูงใหญ่ยังทำให้สามารถทำผลงานที่มีขนาดใหญ่โตในทางของศิลปะร่วมสมัยแบบเอกลักษณ์ของศิลปินจีนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ตัวโรงงานเองก็เป็นผลงานสถาปัตยกรรมสไตล์เยอรมันตะวันออกที่หลงเหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดเพียงแห่งเดียวในโลก นับแล้วเป็นความลงตัวที่หาใดเปรียบได้ยาก