กรุงปักกิ่งนั้นเป็นแหล่งที่มีของกินเล่นขึ้นชื่อมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำรับฮั่น หุยหรือตำรับชาววังที่ปรุงด้วยกรรมวิธีต่างๆ อย่างพิถีพิถัน อาทิ การนึ่ง การทอด การคั่วหรือการต้ม มีผู้คนมากมายได้เปรียบของกินเล่นปักกิ่งว่าเป็นเหมือนอารยธรรมปักกิ่งที่ยังมีชีวิตและสัมผัสได้
และปัจจุบันยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านอาหารทั่วไปรอบกรุงปักกิ่งอีกด้วย วันนี้จึงเลือกของกินเล่นปักกิ่งโบราณมา 3 ชนิดที่น่าอร่อยมาแนะนำ หากใครได้มาท่องเที่ยวปักกิ่งจะได้ไม่พลาด ลองไปหารับประทานกัน
ของกินเล่นจานโปรดของจักรพรรดิ
ของกินเล่นจานแรก น่าจะถูกปากรับประทานง่ายสำหรับชาวไทย รสชาติไม่ต่างกับขนมไทยมากนัก นั่นก็คือ "ขนมข้าวเหนียวไส้หวาน" หน้าตาคล้ายขนมต้มแบบของไทย ตัวขนมทำจากข้าวเหนียว ส่วนไส้ทำจากงา น้ำตาลทรายและถั่วกวนชนิดต่างๆ ให้รสชาติหวานมัน ซึ่งเคยเป็นของกินเล่นจานโปรดของเหล่าบรรดาจักรพรรดิมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง จึงมีชื่อเรียกว่า "อ้าย หวั๊ว หวั่ว" ซึ่งมีความหมายว่า "ของรักของพิเศษ" ของจักรพรรดิ
ของหวานอร่อยชื่นใจยามหน้าร้อน
ของกินเล่นจานที่สองนั้นเหมาะสำหรับหน้าร้อน เป็นของหวานชื่อว่า "กั่ว จือ กาน" เป็นการนำลูกพลับแห้งเป็นส่วนประกอบหลัก เพิ่มรสชาติด้วยลูกแอปริคอตแห้ง หลังจากนั้นก็จะนำไปแช่ในน้ำอุ่น บรรจงวางรากบัวสดแผ่บางๆ บนผลไม้แห้งเพื่อเพิ่มความกลมกล่อมลงตัวมากขึ้น รอสักครู่ให้ความหวานของผลไม้แห้งค่อยๆ ซึมออกมาผสมกับความหอมหวานของรากบัว ต่อมา ตักน้ำแข็งโปะข้างบน หากได้รับประทานขณะอากาศร้อนๆ ยิ่งทำให้ทั้งหวานอร่อยชื่นใจและสดชื่นมากๆ
"โต้ว จือ" รับประทานกับปาท่องโก๋
ของกินเล่นจานสุดท้าย อาจต้องใช้ความกล้าในการรับประทานอยู่สักหน่อย เพราะสีสันและกลิ่นอาจจะไม่ถูกใจสำหรับบางคนแต่เป็นจานที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซีและไฟเบอร์ อีกทั้งยังช่วยขับความร้อนออกจากร่างกายอีกด้วย นั่นก็คือ "โต้ว จือ" เป็นน้ำถั่วเขียว ฟังจากชื่อก็เดาได้แล้วว่า สีต้องเป็นสีเขียวตุ่นๆ กลิ่นออกตุๆ นิดนึงเพราะต้องนำไปผ่านขั้นตอนการหมักเพื่อทำให้น้ำถั่วเขียวมีเนื้อบางๆผสมด้วย ถือว่าเป็นของกินเล่นที่มีประวัติอันยาวนานมาก ชาวจีนรับประทานมาตั้งแต่อาณาจักรเหลียว (ค.ศ.907-1125) ต่อมาราชวงศ์ซ่งได้นำไปแพร่หลาย มักพูดกันว่า หากเป็นชาวปักกิ่งแท้ๆ ต้องชอบดื่มน้ำถั่วเขียวนี้ ปัจจุบันยังหารับประทานได้ง่ายในยามเช้า จะขายคู่กับปาท่องโก๋ น้ำถั่วเหลืองและเกี๊ยวนึ่งต่างๆ
อาหารสะท้อนวิถีชีวิตและเป็นตัวแทนของผู้คนในแต่ละที่ว่ามีค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อในการดูแลสุขภาพ รวมถึงมีความหมายซ่อนอยู่ในอาหารแต่ละจาน หากเราได้พิจารณากับอาหารจานข้างหน้าและเพิ่มหัวข้อพูดคุยกับผู้คนขณะรับประทานอาหารร่วมกันบ้าง แน่นอนจะทำให้มื้อนั้นนอกจากได้ความรู้เรื่องอาหารแล้ว ยังได้มิตรภาพและทำให้มื้อนั้นอร่อยขึ้นอย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนเจริญอาหารในทุกๆมื้อ
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์