คัมภีร์เมิ่งจื่อ เป็นหนังสือคัมภีร์โบราณที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของจีน เป็นงานประพันธ์ของเมิ่งจื่อ นักปรัชญาเมธีคนสำคัญสมัยจั้นกั๋ว ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้นกับบรรดาสานุศิษย์
เมิ่งจื่อได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิหยวนเหวินจง ให้เป็น "หญ่าเซิ่ง" หมายถึงปรัชญาเมธีผู้เป็นรองจากขงจื่อ คนรุ่นหลังก็ได้เรียกกันต่อ ๆ มา แนวคิดของท่านและแนวคิดของขงจื่อเรียกรวมกันว่า "จริยธรรมขงเมิ่ง" ความคิดของท่านทั้งสองยังคงมีอิทธิพลต่อความคิดและการปฏิบัติตนของชาวจีนตราบจนทุกวันนี้
แม้ว่าแนวคิดของเมิ่งจื่อจะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งและยาวไกลทั้งทางด้านการเมือง ความคิด วัฒนธรรมและศีลธรรมของสังคมในยุคต่อมาก็ตาม แต่เนื่องจากแนวคิดหลักการปกครองว่าด้วยเมตตาธรรมของเมิ่งจื่อไม่ได้รับการยกย่องนับถือจากผู้ปกครองในยุคนั้น เขาจึงถอนตัวเองออกมาและบันทึกผลงานเขียนอันทรงคุณค่าไว้ให้ชนรุ่นหลัง เมิ่งจื่อเดินทางออกสั่งสอนหลักความคิดของเขาหลายครั้ง และก่อนที่เขาจะลาออกจากราชการ เขาแต่งหนังสือขึ้นรวม 7 เล่ม เป็นบันทึกคำสนทนาโต้ตอบเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเขา มีการรวบรวมเข้าเป็น 4 เล่มใหญ่ และได้กลายเป็นรากฐานการศึกษาหลักปรัชญาของเมิ่งจื่อในเวลาต่อมา
ผลงานเขียนของเมิ่งจื่อชื่อ "เมิ่งจื่อ" เป็นหนังสือคัมภีร์โบราณที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของจีน เป็นงานประพันธ์ของเมิ่งจื่อ นักปรัชญาเมธีคนสำคัญสมัยจั้นกั๋ว ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้นกับบรรดาสานุศิษย์ เมื่อ "จูซี" ปรัชญาเมธีสำคัญยิ่งอีกท่านหนึ่งของจีนได้รวบรวมคัมภีซื่อซูจีนขึ้นมาในสมัยราชวงศ์หนานซ่ง(ซ้องใต้) "เมิ่งจื่อ" ก็เป็นหนึ่งในจตุรปกรณ์ อันประกอบด้วย หลุนอวี่ เมิ่งจื่อ ต้าเสวีย และจงยง คัมภีร์ "เมิ่งจื่อ" มีทั้งหมด 7 หมวด ได้บันทึกคำพูดของเมิ่งจื่อ ตลอดจนการโต้แย้งกันระหว่างเมิ่งจื่อกับตัวแทนของสำนักปรัชญาอื่น ๆ มีลักษณะเป็นการบันทึกคำสอนคล้ายกับตำรา "หลุนอวี่" ของขงจื่อ แต่มีการยอมรับว่าเป็นตำราที่โดดเด่นในการใช้ภาษาที่งดงามเทียบเท่ากับ "คัมภีร์จวงจื่อ" ของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นสุดยอดวรรณกรรมของบรรดาปราชญ์สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน
เมิ่งจื่อกล่าวว่า "ผู้ไม่มีจิตสงสารสะท้านลึก ไม่นับได้ว่าเป็นคน ผู้ไม่มีจิตละอายต่อความชั่วผิดบาปของตน ก็ไม่นับได้ว่าเป็นคน ผู้ไม่มีจิตเลี่ยงละสละให้ ก็ไม่นับได้ว่าเป็นคน ผู้ไม่มีจิตรู้ผิดชอบชั่วดี ก็ไม่นับได้ว่าเป็นคน จิตสงสารสะท้านลึก เป็นจุดเบื้องต้นของกรุณาธรรม จิตละอายต่อความชั่วผิดบาป เป็นจุดเบื้องต้นของมโนธรรมสำนึก จิตเสียสละเลี่ยงให้ เป็นจุดเบื้องต้นของจริยธรรมจิตรู้ผิดชอบชั่วดี เป็นจุดเบื้องต้นของปัญญาธรรม"
คุณลักษณะพิเศษของ "คัมภีร์เมิ่งจื่อ" คือการยกตัวอย่างรูปธรรมช่วยในการอธิบายหลักเหตุผลให้เห็นได้อย่างเด่นชัด บ้างเป็นคำเปรียบเทียบสั้น ๆ บ้างก็เป็นนิทาน หรือสุภาษิตสอนใจ ซึ่งได้กลายเป็นสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ที่นิยมใช้กันแพร่หลายจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนหนังสือคัมภีร์ "เมิ่งจื่อ"ได้รับยกย่องให้เป็นวรรณคดีแบบฉบับ เป็นหนังสือสำคัญของการสอบจอหงวนในสมัยโบราณ หรือแม้ในปัจจุบันก็ยังมีการคัดเลือกเนื้อหาบางบทบางตอนมาให้นักเรียนได้เรียนรู้กันในโรงเรียน
ด้วยเหตุที่เป็นคัมภีร์ที่สำคัญยิ่งของจีนโบราณ จึงมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง "เมิ่งจื่อ" เป็นทั้งวรรณคดีและหนังสือปรัชญาที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางปรัชญาโบราณและวัฒนธรรมจีน มีศัพท์ทางวัฒนธรรม (culture-loaded words) เป็นจำนวนมาก คำบางคำหรือประโยคบางประโยคใน "เมิ่งจื่อ" ตีความค่อนข้างยาก ทำให้การแปลกลายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น หนังสือ "เมิ่งจื่อ" ฉบับแปลเล่มแรกเป็นงานของมัตเตโอ ริชชี ( Matteo Ricci) ชาวอิตาลี มิชชันนารีชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนา ช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีการแปล "เมิ่งจื่อ" เป็นภาษาไทย ในขณะเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศนับวันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้มีการแปลวรรณกรรมคลาสสิกของจีนเป็นภาษาไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ การแปล "เมิ่งจื่อ" เป็นภาษาไทยนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนสู่ประเทศไทย
ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ ได้สรุปว่า ปรัชญาของเมิ่งจื่อประกอบด้วยปรัชญาการปกครอง ปรัชญาเศรษฐกิจ และปรัชญาชีวิต วันพรุ่งนี้จะแนะนำปรัชญาของเมิ่งจื่อ 3 ด้านนี้ต่อไป