คัมภีร์เมิ่งจื่อ เป็นหนังสือคัมภีร์โบราณที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของจีน เป็นงานประพันธ์ของเมิ่งจื่อ นักปรัชญาเมธีคนสำคัญสมัยจั้นกั๋ว ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้นกับบรรดาสานุศิษย์
ในด้านการอบรมให้พลเมืองมีคุณธรรมนั้น เมิ่งจื่อเห็นว่า คุณธรรมมีหลายอย่าง แต่คุณธรรมที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทั้งหลายมีสองอย่าง คือ ให้มีความเมตตาปราณีต่อกัน และให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว เมื่อประชาชนมีการศึกษาและมีคุณธรรม ประชาชนและประเทศชาติก็จะมีความสงบสุขร่มเย็น เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครองจึงมีสองประการ คือ
(1)ทำให้ประชาชนมีความสุขอันเกิดจากการอยู่ดีกินดี ให้ประชาชนมีความมั่งคั่ง
(2)ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาทางวิทยาการต่าง ๆ ตลอดทั้งจารีตประเพณี มารยาทสังคม อีกทั้งให้การอบรม
เมิ่งจื่อเชื่อว่า ผู้ใดปกครองด้วยคุณธรรม ผู้นั้นจะสามารถตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้สำเร็จ โดยมิต้องเอาอาณาเขตดินแดนอันกว้างใหญ่มาเป็นขุมกำลัง
ปรัชญาด้านเศรษฐกิจ
ทรรศนะของเมิ่งจื่อที่เชื่อว่า ทุกคนมีธรรมชาติดั้งเดิมเหมือนกัน นั่นคือมีแต่ความดี ส่วนที่ต้องกลายเป็นคนชั่วก็เพราะสิ่งแวดล้อม และเมิ่งจื่อเชื่ออีกว่าการแก้ปัญหาไม่ให้มีคนชั่ว ก็ต้องแก้ที่เศรษฐกิจก่อน เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เรื่องศีลธรรมต่าง ๆ ก็จะตามมา ทรรศนะดังกล่าวก็ตรงกับความเห็นของ "โม่จื่อ" เช่นกัน ส่วนที่ต่างกันไปบ้างก็ตรงที่เมิ่งจื่อ ไม่เน้นความรักที่เสมอภาค และประโยชน์นิยม เหมือนโม่จื่อเท่านั้น
เมิ่งจื่อให้ทรรศนะว่า หากมนุษย์อยู่รวมกันโดยปราศจากคุณธรรมที่พึงมีต่อกัน มีเพียงแค่สนองความอยากเยี่ยงสัตว์อื่น ๆ สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวายและการแก่งแย่งชิงดี เมิ่งจื่อเชื่อว่าการปกครองแบบหวังต้าวหรือธรรมานุภาพเหมาะสมกับสังคมจีน และเป็นการนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริง ประชาชนจะให้ความเชื่อถือ มีศรัทธาในรัฐบาลด้วยใจจริงมิใช่เพราะความหวาดกลัว แต่การปกครองดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจจะต้องวางพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม และเนื่องจากประชากรจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม เมิ่งจื่อจึงเห็นว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปกครองแบบหวังต้าวคือ "การจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกิน" ระบบการจัดสรรที่ดินที่เมิ่งจื่อเห็นว่าเหมาะที่สุดคือระบบนาบ่อ ได้แก่ การนำเอาที่ดินแต่ละ 900 หมู่ (ประมาณ 375 ไร่) มาจัดแบ่งให้ครอบครัว 8 ครอบครัวทำกิน ครอบครัวละ 100 หมู่
"ที่ดินโดยรอบหนึ่งลี้ จัดสรรเป็นอักษรจิ่ง(#)เก้าส่วน(ส่วนละ 100 หมู่)แปดส่วนเป็นของชาวบ้าน อีกหนึ่งส่วนของหลวง ชาวบ้านช่วยกันทำ" หมายความว่า 100 หมู่ตรงกลางถือว่าเป็นนาหลวง ส่วนรอบ ๆ อีก 800 หมู่ ถือว่าเป็นนาราษฎร์ จัดสรรให้กับ 8 ครอบครัว ครอบครัวละ 100 หมู่ รัฐบาลไม่ต้องเก็บภาษีจากนาราษฎร เก็บเกี่ยวได้เท่าไรเป็นสมบัติของเจ้าของ แต่ราษฎรทั้ง 8 ครอบครัวต้องช่วยกันทำนาหลวง ผลิตผลที่ได้จากนาหลวงนั้นมอบให้แก่รัฐในฐานะเป็นภาษีอากร
ปรัชญาด้านเศรษฐกิจของเมิ่งจื่อยังมีอะไรอีก กรุณาติดตามรายการวันพรุ่งนี้