คัมภีร์เมิ่งจื่อ เป็นหนังสือคัมภีร์โบราณที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของจีน เป็นงานประพันธ์ของเมิ่งจื่อ นักปรัชญาเมธีคนสำคัญสมัยจั้นกั๋ว ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้นกับบรรดาสานุศิษย์
คัมภีร์เมิ่งจื่อเป็นวรรณคดีโบราณสำคัญของจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในจีนและต่างประเทศ นักวิชาการประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจและแปลคัมภีร์ดังกล่าวนี้เป็นภาษาต่างประเทศหลากหลายภาษา หลากหลายสำนวน โดยเฉพาะฉบับแปลภาษาอังกฤษมีจำนวนมากกว่าภาษาอื่น ๆ คัมภีร์เมิ่งจื่อ ในฐานะวรรณคดีแบบฉบับของจีน ได้ดึงดูดให้นักแปลประเทศต่างๆ ทั่วโลกพากันศึกษาวิจัยและแปลออกมาเป็นภาษาต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ ได้สรุปว่า ปรัชญาของเมิ่งจื่อประกอบด้วยปรัชญาการปกครอง ปรัชญาเศรษฐกิจ และปรัชญาชีวิต เนื้อหาปรัชญาต่าง ๆ มีดังนี้
ปรัชญาการปกครอง
เมิ่งจื่อ ได้เสริมการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเมตตาธรรม ที่เป็นการเสริมแนวคิดหลักของขงจื่อกล่าวคือคนเรานั้นมีความดีเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติ แต่ก็จะต้องมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า เขาได้เสนอให้ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องถือหลักเมตตาธรรม ต้องให้ประชาชนได้ทำมาหากินอย่างสุขสงบโดยให้ความสำคัญต่อราษฎรยิ่งกว่าชนชั้นผู้ปกครอง แนวคิดเหล่านี้ถือเป็นแนวคิดหลักของเมิ่งจื่อ เมิ่งจื่อยืนยันว่าผู้ปกครองคนใดที่คงไว้ซึ่งคุณธรรมอย่างสมบูรณ์ ทั้งแผ่นดินก็ย่อมอยู่ในกำมือของเขา ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตนเป็นตัวแทนของประชาชนและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนหรือยอมรับจากประชาชน
ปรัชญาการเมืองของเมิ่งจื่อ เน้นความสำคัญของประชาชน เมิ่งจื่อพูดว่า "ประชาชนถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญสูงที่สุด ภุมเทวดาและเทพประจำพืชพันธุ์ธัญญหารถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับที่สอง ส่วนนักการปกครองนั้นมีความสำคัญน้อยที่สุด"
ทรรศนะทางการเมืองของเมิ่งจื่อนั้นอาศัยหลักธรรมของขงจื่อแล้วนำมาขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เปรียบเทียบทฤษฎีขงจื่อคือทฤษฎีบิดา (Paternalism) ทฤษฎีของเมิ่งจื่อก็คือ ทฤษฎีมารดา (Maternalism) ทฤษฎีบิดาเน้นว่า คนต้องมีคุณธรรมและควรปฏิบัติตามกฎระเบียบ ส่วนทฤษฎีมารดากลับเน้นความสุขความสงบของชีวิต