ต้องย้อนกลับไปที่วันงานครบรอบ 35 ปี การเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างจีน – ไทย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 ที่โรงแรมไชน่าแกรนด์ ใจกลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งภายในงานครั้งนั้น นอกจากจะมีพิธีอย่างเป็นทางการต่างๆ นานาแล้ว ที่ด้านหน้าทางเข้าห้องประชุมมีการออกร้านเปิดบริการให้ชิมอาหารไทยและผลไม้ไทยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และระหว่างที่กำลังเพิลนเพลินเลือกหยิบเลือกชิมอยู่นั้น พลันหูของผมก็แว่วได้ยินเสียงพูดคุยด้วยภาษาอีสานแทรกขึ้นมาท่ามกลางเสียงจ๊อกแจ๊กของภาษาจีน จึงรีบหันไปมอง ปรากฎว่าผู้ที่กำลังส่งสำเนียงเสียงอีสานอยู่นั้นเป็นชายในชุดพ่อครัวสองคนที่เป็นตัวแทนมาจากร้านอาหารไทย ที่นำเอาไก่ทอดตะไคร้ และทาร์ดรสทุเรียนซึ่งเป็นอาหารไทยแบบง่ายๆ มาให้ทดลองชิมพูดคุยกันระหว่างที่ไม่มีใครมาให้พวกเขาตักอาหารให้
ผมจึงเดินเข้าไปหาพวกเขา แรกก็ยิ้มทักทายก่อนแล้วก็พูดด้วยภาษาอีสานด้วยว่าให้ช่วยตักอาหารทั้งสองอย่างนี้ให้ด้วย แม้จะเป็นการสนทนาเพียงประโยคสั้นๆ แต่ก็ทำให้ตื้นใจจนขนแขนตามลำแขนลุกซู่ด้วยความดีใจระคนอบอุ่นใจที่ได้พูดภาษาบ้านเกิดของตนเองในต่างประเทศ
เมื่อได้ลองรับประทานฝีมือของพ่อครัวหนุ่มคนนี้ไปแล้ว ก็เกิดความใคร่รู้ว่า เส้นทางชีวิตพ่อครัวคนหนึ่ง กว่าที่เขาจะได้เดินทางออกมานอกประเทศ มาสร้างความสุขให้กับคนต่างชาติได้อิ่มหนำสำราญใจนั้นมีที่มาอย่างไรบ้าง เพราะงานของเขานั้นถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นานาชาติรู้จักกับความเป็นไทย ผ่านรสชาติของการปรุงที่ประณีต
พ่อครัว พวกเขาเสมือนผู้ปิดทองหลังพระมาเนิ่นนาน ผู้ต้องทนกับเปลวไฟและไอ้ร้อนจากกระทะ และหม้อซุปทั้งวันทั้งคืน เพียงเพื่อได้สร้างความสุขให้กับผู้อื่น ควรอย่างยิ่งที่จะหยิบเรื่องราวชีวิตของเขามายืนอยู่ข้างหน้าเสียบ้าง มากระเทาะความคิด ความฝัน และความปรารถนาของเขาออกมาให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันเสียบ้าง