เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา :ผืนผ้าปักบอกระดับขั้นขุนนางจีน "ปู่จือ"
  2011-12-30 15:42:05  cri

"ปู่จือ(补子)" ประกอบด้วยแบบกลม และแบบเหลี่ยม โดยแบบกลมสำหรับเชื้อพระวงศ์ ติดประดับบนบ่าซ้ายขวาทั้งสองข้าง กลางหน้าอกและกลางแผ่นหลัง ส่วนแบบเหลี่ยมสำหรับขุนนางติดประดับชุด

การแบ่งแยกตำแหน่งขั้นขุนนางจีนสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644)และราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1616-1911) สามารถสังเกตดูได้จากผ้าลายปักบนชุดเครื่องแบบขุนนาง ที่จะใช้ภาพสัตว์แทนสัญลักษณ์แตกต่างกันไป โดยขุนนางฝ่ายบุ๋นจะเป็นรูปสัตว์ปีก ส่วนขุนนางฝ่ายบู๊จะเป็นรูปสัตว์สี่เท้า ซึ่งการติดผ้าปัก "ปู่จือ" บนเครื่องแต่งกายขุนนางนั้น มีเริ่มขึ้นในสมัยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน(บูเช็คเทียน ครองราชย์ค.ศ.690-705) เนื่องจากพระองค์ทรงประทานผ้าปักลวดลายเป็นรูปสัตว์มงคลทรงพลานุภาพ อาทิ กิเลน สิงโต กวาง ให้แก่ขุนนางทั้งหลาย บรรดาขุนนางที่ได้รับจึงนำผ้าพระราชทานนี้ติดบนชุด ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1206-1368) ก็มีการติดผ้าปักบนชุดเช่นกัน แต่นำมาเป็นสิ่งกำหนดระดับชั้นขุนนางอย่างแท้จริงนั้น เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง

 

ลายภาพปักปู่จือบนชุดขุนนางฝ่ายบุ๋น

ในหนังสือบันทึก "หมิงฮุ่ยเตี่ยน" มีการเอ่ยถึงไว้ว่า ในปีค.ศ.1391 แห่งรัชสมัยฮ่องเต้จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ ค.ศ.1368-1399) ทรงออกพระราชกำหนดว่า ให้ใช้ผ้าปักรูปสัตว์ปีก เป็นตัวแทนถึงความมีภูมิความรู้สำหรับขุนนางฝ่ายบุ๋น โดยกำหนดให้ขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพนกกระเรียนมงกุฎแดง, ขั้นสอง – ไก่ฟ้าสีทอง, ขั้นสาม – นกยูง, ขั้นสี่ – ห่านป่า, ขั้นห้า - ไก่ฟ้าหลังขาว ขั้นหก – นกกระยาง, ขั้นเจ็ด – นกเป็ดน้ำ, ขั้นแปด - นกขมิ้น และขั้นเก้า – นกกระทา และใช้รูปสัตว์สี่เท้า เป็นตัวแทนถึงความทรงพลังอำนาจสำหรับขุนนางฝ่ายบู๊ โดยขั้นหนึ่ง(สูงสุด)และขั้นสอง เป็นภาพสิงโต, ขั้นสาม และสี่เป็นภาพเสือและเสือดาว, ขั้นห้า – หมี, ขั้นหก และเจ็ด – แมวเสือ(tiger-cat), ขั้นแปด –แรด, ขั้นเก้า – ม้าทะเล (hippocampus)

ลายภาพปักปู่จือบนชุดขุนนางฝ่ายบู๊

ข้อกำหนดความแตกต่างของลายผ้าปักบนชุดขุนนางได้ยึดถือปฏิบัติต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งภาพสัตว์สัญลักษณ์มีการกำหนดแตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย ดังนี้ ขุนนางฝ่ายบุ๋นขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพนกกระเรียนมงกุฎแดง, ขั้นสอง – ไก่ฟ้าสีทอง, ขั้นสาม – นกยูง, ขั้นสี่ – ห่านป่า, ขั้นห้า - ไก่ฟ้าหลังขาว ขั้นหก – นกกระยาง, ขั้นเจ็ด – นกเป็ดน้ำ, ขั้นแปด - นกกระทา และขั้นเก้า – นกแซวสวรรค์ ส่วนขุนนางฝ่ายบู๊ขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพกิเลน, ขั้นสอง – สิงโต, ขั้นสาม - เสือดาว, ขั้นสี่ – เสือ, ขั้นห้า – หมี, ขั้นหก – แมวเสือ, ขั้นเจ็ดและแปด –แรด, ขั้นเก้า – ม้าทะเล (hippocampus) นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างอีกเล็กน้อยในเรื่องของขนาด โดยผ้าปักปู่จือของสมัยชิงจะมีขนาดเล็กกว่า และผ้าปักด้านหน้าจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนซ้ายและขวา ต่างกับของหมิงที่จะเป็นผืนเดียวทั้งหน้าและหลัง เนื่องจากว่าชุดเครื่องแบบขุนนางสมัยชิงเป็นชุดสวมแบบผ่ากลางด้านหน้านั่นเอง

เครื่องแต่งกายขุนนางชาย-หญิงสมัยราชวงศ์หมิงและชิง โดยปู่จือของฝ่ายหญิงจะมีขนาดเล็กกว่า ยึดลวดลายตามตำแหน่งขั้นของสามีหรือลูกชาย และถือเอาภาพสัตว์สัญลักษณ์ตามอย่างขุนนางฝ่ายบุ๋น เพื่อให้แลดูสวยงามไม่ต้องน่าเกรงขามอย่างฝ่ายชาย

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040