ก่อนมาเรียนที่ปักกิ่ง แนนอยู่กับครอบครัวที่ประเทศไทยมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อทราบว่าตนเองต้องมาเรียนไกลถึงปักกิ่ง แนนไม่รู้เลยว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจะเป็นอย่างไร จะได้เจอกับผู้คนแบบไหน การเรียนจะยากมากไหม แต่ถึงแม้ว่าจะนึกภาพแนนอยู่ที่ปักกิ่งไม่ออก ทางบ้านก็ยังมั่นใจและเชื่อมั่นว่าแนนอยู่ได้แน่ แนนยังจำได้ว่า ในช่วงเตรียมตัวก่อนออกเดินทางนั้น คุณพ่อได้ให้ข้อคิดกับแนนอย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม แนนต้องมีทักษะการใช้ชีวิต "3 อยู่" คือ อยู่รอด อยู่ร่วม และ อยู่อย่างมีความหมาย
ความหมายของ 3 คำข้างต้นนี้อาจแตกต่างกันไปตามความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ของแต่ละคนในสถานการณ์ต่างๆ ในที่นี้แนนขออธิบายตามความเข้าใจของแนนนะคะ
การอยู่รอด คือ การจัดการตัวเองให้ใช้ชีวิตได้ เช่น หาที่อยู่ให้ตนเอง รู้ว่าของกินของใช้ซื้อได้ที่ไหน เดินทางไปสถานที่เรียนอย่างไร สามารถจัดการเรื่องการเงินได้ ในส่วนของการอยู่รอดนี้ แนนคิดว่าปัจจัยที่สำคัญก็คือการปรับตัวเข้ากับวิถีของสถานที่นั้นๆ อย่างเช่น คนที่มาอยู่ที่ประเทศจีน ถ้าสามารถทานอาหารจีนได้ ไม่ใช่อยากทานแต่อาหารไทย ไม่รังเกียจการเข้าแถวรอซื้ออาหาร อย่างนี้การใช้ชีวิตก็จะไม่ลำบากเท่าไหร่ อีกประเด็นที่สำคัญสำหรับคนที่เรียนต่างประเทศก็คือ เรื่องคิดถึงบ้าน ถ้าเราอยากจะอยู่รอด ก็ต้องเข้าใจว่าเราอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลก็เพื่อมาศึกษาหาความรู้ แต่ถ้ามัวแต่ร้องไห้กลับบ้านหรือเห็นอะไรก็ไม่ถูกใจไปซะหมด ก็จะอยู่ได้ยาก
การอยู่ร่วม คือ การรู้จักใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้องพัก (รูมเมท) เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเพื่อนในมหาวิทยาลัย เราต้องมีมนุษยสัมพันธ์ ทำความรู้จักผู้คนให้มาก และปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนนั้นๆ แต่ที่สำคัญคือต้องรู้จักดูคน ว่าคนไหนดี คนไหนไม่ดี คนไหนควรคบ คนไหนไม่ควรคบ และต้องเป็นตัวของตัวเอง รักษาความสนิทสนมให้อยู่ในความเหมาะสมและพอดี
การอยู่อย่างมีความหมาย ส่วนหนึ่งคือการทำตัวให้ดี ไม่ให้เสียชื่อเสียงคนไทยอีกส่วนหนึ่งคือการอยู่อย่างมีคุณค่า ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่เราอยู่
ในตอนแรกนั้น แนนคิดว่าเรามาอยู่ประเทศจีน สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องอยู่ให้รอดก่อน หลังจากนั้นค่อยคิดเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่วนการอยู่อย่างมีความหมายนั้นยังไม่ใช่เรื่องรีบร้อน เพราะมันเป็นขั้นตอนถัดไปหลังจากการอยู่ร่วม แต่มาถึงปัจจุบัน เมื่อมองย้อนประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ประเทศจีนใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น แนนก็ได้รู้ว่า "3 อยู่" ที่คุณพ่อเคยพูดถึงนั้น ไม่ใช่ขั้นตอนที่ก้าวหน้าไปทีละขั้น แต่เป็น 3 แง่มุมในการดำรงชีวิตที่มีความสัมพันธ์กัน และไม่อาจขาดตัวใดตัวหนึ่งไปได้
(บน) หอพักนักเรียนต่างชาติ (ล่างซ้าย) ไปรษณีย์ (ล่างขวา) ภัตตาคารอาหารจีน
การอยู่รอดในมหาวิทยาลัยปักกิ่งนั้นถือเป็นเรื่องไม่ยากเลย เพราะมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นแคมปัสที่ใหญ่และเพียบพร้อมมาก มีทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ธนาคาร ไปรษณีย์ ร้านถ่ายเอกสาร ร้านแว่นตา ร้านขายยา ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายหนังสือ ร้านขายตั๋วรถไฟ เครื่องบิน fitness center และที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่มีที่เดียวหรือว่าขนาดเล็กๆ นะคะ เรียกว่าถ้าเป็นคนไม่เรื่องมาก ไม่เลือกมาก จะอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่ออกไปไหนเป็นปีๆ ยังได้เลยค่ะ
(บนซ้าย) กิจกรรมร้องเพลงประสานเสียง
(บนขวา และ ล่างซ้าย) เลี้ยงสังสรรค์ภายในกลุ่มเพื่อน
(ล่างขวา) เทศกาลวัฒนธรรมนานาชาติ
ส่วนการอยู่ร่วมนั้น แนนขอเริ่มจากคนที่ใกล้ตัวที่สุด ก็คือรูมเมทค่ะ นักเรียนจีนทุกคนต้องอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย นักศึกษาปริญญาตรีห้องหนึ่งอยู่ด้วยกัน 4 คน นักศึกษาปริญญาโทอยู่กัน 2 คน ส่วนนักเรียนต่างชาติ สามารถเช่าหอพักอยู่เองข้างนอกได้ แต่ถ้าเป็นนักเรียนทุน มหาวิทยาลัยจะจัดหอพักให้อยู่ห้องละ 2 คน ขนาดของห้องไม่ใหญ่มาก ในห้องมีอุปกรณ์ครบครัน เช่น โทรศัพท์ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องซักผ้าและห้องครัวให้ใช้ร่วมกันในแต่ละชั้น ดังนั้นชีวิตในหอพักจึงไม่ลำบากเท่าไหร่ น้อยมากที่จะเกิดปัญหาค่ะ
เพื่อนกลุ่มถัดมาคือ เพื่อนร่วมชั้นเรียน นอกจากคนที่อยู่ในคณะเดียวกันแล้ว เรายังมีโอกาสได้เจอนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ตามชั้นเรียนของวิชาเลือกเสรี เพื่อนๆ เหล่านี้ไม่ได้จำกัดแต่เพียงชาวจีนเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติด้วย ที่มากที่สุดก็คือชาวเกาหลี ส่วนนักเรียนที่มาจากญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซียก็มีจำนวนไม่น้อย การเข้าเรียนจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รู้จักกับเพื่อนๆ ต่างชาติค่ะ
เพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือเพื่อนร่วมชมรม หรือเพื่อนที่ทำกิจกรรมร่วมกัน มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีชมรมให้เลือกมากมาย ทั้งชมรมกีฬาประเภทต่างๆ ชมรมดนตรี ไปจนถึงชมรมด้านวิชาการอย่างการแปล การศึกษาปัญหาระหว่างประเทศ ทางมหาวิทยาลัยก็จัดกิจกรรมบ่อยๆ ทั้งการประกวดร้องเพลง จัดวงร้องประสานเสียง กีฬาประจำปี ฯลฯ ถ้าเรามีความกระตือรือร้นเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ รับรองว่าจะได้เพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน คุยกันถูกคออีกเยอะเลยค่ะ
การอยู่ร่วมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องไม่ยากเลย เพราะมีโอกาสให้รู้จักกันมากมาย การพบปะสังสรรค์ส่วนมากก็ใช้วิธีนัดทานข้าว พูดคุยกัน และไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะไม่เป็นมิตรกับเรา เพราะคนจีนเองก็จำเป็นต้องหาเพื่อนใหม่เช่นกัน เนื่องจากในแต่ละปี นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมหนึ่งๆ ที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งนั้นอาจจะมีเพียงคนเดียว ดังนั้นเมื่อพวกเขามาถึงมหาวิทยาลัยแล้วก็จะต้องเริ่มเข้าสังคมใหม่ ไม่ต่างอะไรกับนักศึกษาต่างชาติอย่างเราค่ะ
พิธีมอบรางวัลเรียนดีประจำปี
สำหรับการอยู่อย่างมีความหมายนั้น นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่งสามารถใช้เวลาว่างจากการเรียนมาทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยได้มากมาย โดยทางมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาในการเข้าร่วมกิจกรรมหลากประเภท อย่างเช่น รุ่นพี่ปริญญาเอกชาวเวียดนามที่แนนรู้จัก เค้าไปเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาภาษาเวียดนาม หรือนักศึกษาที่มีเวลาว่างก็สามารถไปช่วยสำนักงานนักเรียนต่างชาติในการทำหนังสือพิมพ์ หรือจะเป็นอาสาสมัครช่วยหน่วยงานการกุศลรับบริจาคเสื้อผ้าเพื่อส่งต่อแก่ผู้ยากไร้ก็ได้ค่ะ
สำหรับแนนแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาไหน แนนจะใช้ "3 อยู่" นี้เป็นหลักในการอยู่ร่วมกับคนในสังคมอยู่เสมอ 5 ปีที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แนนคิดว่า การอยู่รอดและอยู่ร่วม แนนสามารถทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว สำหรับการอยู่อย่างมีความหมายนั้น เป็นสิ่งที่แนนพยายามทำให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าแนนมีโอกาส สามารถทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยได้ แนนก็ยินดีที่จะทำเสมอค่ะ
แนน